ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เป็นหนึ่งในหลายชุมชนเกษตรกรรมที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เนื่องด้วยข้อจำกัดทางการทำเกษตรหลายข้อ อย่างเช่น การเป็นชุมชนบนพื้นที่สูง การขาดระบบน้ำที่ดี และการขาดปัจจัยด้านการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรในชุมชนส่วนใหญ่ต้องหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวระยะสั้นคือข้าวโพด
แต่การปลูกข้าวโพดนั้นก็มีข้อสังเกตที่น่าเป็นห่วงหลายประการ เพราะข้าวโพดเป็นพืชที่มีต้นทุนทางการผลิตค่อนข้างสูง ทั้งด้านของปริมาณพื้นที่ปลูกและเงินทุนที่ต้องใช้ในการปลูกทุกขั้นตอน ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่มักมีรายได้จากการขายสินค้าทางการเกษตรแค่ เพียงปีละ 1 ครั้ง ซึ่งรายได้เหล่านั้นก็จะกลายมาเป็นเงินทุนเพื่อปลูกข้าวโพดต่อไปไม่จบไม่สิ้น ทำให้เกษตรกรหลายคนไม่สามารถมีเงินเก็บออมเพราะต้องใช้ไปกับการลงทุน
นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว ชุมชนเมืองจังก็ยังมีปัญหาด้านแรงงานอีกด้วย เนื่องจากเกษตรกรหลายคนในชุมชนเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ ทำให้ความสามารถในการทำงานไม่คล่องตัวเช่นดั่งเดิม ส่งผลต่อมาเป็นผลผลิตที่น้อยลงหรือสุขภาพที่ย่ำแย่
เกษตรกรรายย่อยกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันขึ้นเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรให้มีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับพื้นที่และประเภทของแรงงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน การปลูกพืชระยะสั้นที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง การศึกษาเรียนรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ศูนย์เรียนรู้โจ้โก้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ของชุมชนเมืองจัง ได้เห็นความพยายามในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของเกษตรกร จึงอยากยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในด้านองค์ความรู้และการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนี้ ‘โครงการเพิ่มศักยภาพทักษะความรู้สู่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย’ เลยได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นอีกแรงในการส่งเสริมเกษตรกรผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่
กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้แน่นอนว่าคือเหล่าเกษตรกรในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 60 คน ซึ่งแนวทางพัฒนาทักษะนั้นจะครอบคลุมองค์ความรู้ในหลายด้าน เช่น ทักษะช่างซ่อมบำรุงอุปกรณ์การเกษตร การตัดแต่งกิ่งไม้ผลให้มีคุณภาพ การเพาะพันธุ์ต้นกล้า การทำน้ำหมัก/ดินปลูก/ปุ๋ยหมัก เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้ผลิตที่สนใจ โดยศูนย์การเรียนโจ้โก้ได้ไปจับมือกับเครือข่ายพันธมิตร อย่างเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อมาร่วมกันแบ่งปันความรู้และประสบการณ์
‘โครงการเพิ่มศักยภาพทักษะความรู้สู่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย’ เป็นมากกว่าการแก้ปัญหาที่หวังผลระยะสั้น แต่เป็นการวางรากฐานทักษะที่ครบวงจรในชุมชน เพราะแต่ละทักษะที่มีการอบรมนั้นจะช่วยส่งเสริมเกื้อกูลกันและกัน เช่น การอบรมตัดแต่งกิ่งไม้เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตร ที่จะสามารถนำกิ่งไม้จากการตัดไปสร้างเป็นถ่านฟืนในครัวเรือนในภายหลังได้ หรือทักษะช่างซ่อมบำรุงฯ ที่จะเป็นการผลิต ‘หมอ’ เพื่อมาเป็นศูนย์กลางในการดูแลเครื่องมือทางการเกษตรของคนในชุมชน
เมื่อมองในภาพใหญ่ การแก้ปัญหานี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่ง แต่เมื่อการวางรางฐานเหล่านี้สมบูรณ์พร้อมแล้ว ชุมชนก็จะสามารถหลุดจากปัญหาอุปสรรคได้อย่างยั่งยืน และพร้อมสำหรับการเติบโตเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ต่อไป
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการเพิ่มศักยภาพทักษะความรู้สู่ผู้มีรายได้น้อย
ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้
- โทร: 085-0371108
- ผู้ประสานงาน: นางอนงค์ อินแสง
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส