หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่อาหารไทยขาดไม่ได้เลยก็คือ ‘เครื่องเทศ’ อาหารไทยแทบทุกชนิดประกอบไปด้วยเครื่องเทศหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข่า ตะไคร้ ขิง พริกไทย พริกขี้หนู กระเทียม ฯลฯ โดนหลายเมนูของอาหารไทยก็จะมีกรรมวิธีนำเครื่องเทศเหล่านั้นมาผสมกันจนกลายเป็นส่วนประกอบของการทำอาหารที่เรียกว่า ‘เครื่องแกง’ ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการทำอาหารไทยหลายต่อหลายเมนู
เครื่องแกงไทยมีมากมายหลากหลายชนิด แตกต่างกันไปตามสูตรของแต่ละพื้นที่ แต่เครื่องแกงที่ได้ชื่อว่าจัดจ้านและมีเอกลักษณ์ที่สุดรูปแบบหนึ่งคือ ‘เครื่องแกงใต้’ เพราะเป็นเครื่องแกงที่มีส่วนผสมแบบ ‘ถึงพริก ถึงเครื่อง’ น่าเสียดายที่ปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องแกงบางเจ้ากลับไม่ได้คัดสรรวัตถุดิบอย่างพิถีพิถันมากพอหรือใช้อัตราส่วนผสมที่เน้นความประหยัด ทำให้คุณภาพของเครื่องแกงลดลงไป
ชุมชนบ้านนีปิสกูเละ คือชุมชนที่มีชื่อเสียงในภูมิปัญญาด้านเครื่องแกงของอาหารพื้นบ้านมุสลิม และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากชุมชนรายรอบ ทำให้เหล่าแม่บ้านของชุมชนนีปิสกูเละมักจะมีรายได้พิเศษจากการจ้างงานเพื่อทำอาหารตามงานบุญ งานเลี้ยงต่างๆ อยู่เสมอ ฝีมือของแม่บ้านกลุ่มนี้เกิดจากเอกลักษณ์ในการทำอาหารที่สืบสานมาจากเชื้อสายชาววังเมืองปัตตานี
จากฐานของชุมชนที่มีความโดดเด่นเรื่องเครื่องแกง ทำให้วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรบ้านราบอ อยากที่จะต่อยอดพัฒนาความเชี่ยวชาญนี้ให้สร้างรายได้แก่ชุมชนมากขึ้น โดยการริเริ่ม ‘โครงการสืบสานการทำเครื่องแกงพื้นบ้านสู่รายได้ของชุมชน’ ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารในชุมชนให้แข็งแกร่งขึ้น
พื้นที่ดำเนินงานของโครงการจะกินขอบเขต 4 หมู่บ้านได้แก่ ชุมชนบ้านนีปิสกูเละ ชุมชนบ้านดาโต๊ะ ชุมชนบ้านกาแระ ชุมชนบ้านราบอ โดยกลุ่มเป้าหมายจะเน้นไปที่คนด้อยโอกาสในชุมชน อาทิ แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบ้านราบอ รวมทั้งสิ้น 150 คน
โครงการสืบสานการทำเครื่องแกงพื้นบ้านสู่รายได้ชุมชนจะลงพื้นที่สัมภาษณ์สูตรอาหาร ส่วนผสมของเครื่องแกงและวิธีทำแกงแต่ละประเภทเพื่อนำมาเป็นสูตรกลางสำหรับการเรียนรู้ในโครงการ โดยจะมีการฝึกฝนทำเครื่องแกงอย่างเข้มข้น เพื่อพัฒนาฝีมือของแรงงานให้ได้มาตรฐาน จากนั้นก็จะมีการศึกษาตลาดเครื่องแกงและดูงานในชุมชนอื่นๆ เพื่อเรียนรู้วิธีการขายจากพื้นที่ที่มีประสบการณ์มาก่อน โดยแผนพัฒนาทักษะอาชีพของโครงการนี้ก็จะช่วยดูแลฝึกฝนจนสามารถทำการจัดจำหน่ายได้ด้วยตัวเอง
ในสภาวการณ์ที่ท้องตลาดเครื่องแกงบางส่วนได้ลดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ลงเพื่อประหยัดต้นทุน การสร้างสรรค์เครื่องแกงที่พิถีพิถันและมีคุณภาพขึ้นมานั้นจึงย่อมจะทำให้เป็นที่สนใจของตลาด สิ่งที่วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรบ้านราบอทำจึงเป็นการสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับเครื่องแกง และสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยใช้จุดเด่นและทักษะที่มีอยู่แล้วของชาวบ้านมาต่อยอดและพัฒน จนสามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนได้
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
สืบสานการทำเครื่องแกงพื้นบ้านสู่รายได้ของชุมชน
วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ
- โทร: 089-6546637
- ผู้ประสานงาน: นางสาวตูแวคอลีเย๊าะ กาแบ
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพโดย
- เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาการทำอาหารของชุมชนให้อยู่คู่ชุมชนชายแดนใต้ต่อไป
- เป็นการสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายให้มีรายได้เสริมสู่ครอบครัวเพิ่มขั้น
- ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวเป้าหมายโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก
- ชุมชนเห็นคุณค่าของตนเองและการอยู่ร่วมกันในชุมชน
- กลุ่มเป้าหมายมีทักษะฝีมือการทำเครื่องแกง ทักษะการบริหารจัดการกลุ่ม การคิดเป็นระบบ การสื่อสาร และการทำตลาดออนไลน์
- กลุ่มสตรีมีรายได้เสริมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- พัฒนาความรู้และทักษะการทำอาหารและผลิตเครื่องแกงอาหารมลายูมุสลิมให้กับกลุ่มสตรี
- เกิดกลุ่มทำเครื่องแกงที่มีระบบการบริหารจัดการสอดคล้องกับวิถีชีวิต
- มีระบบการผลิตที่มีการควบคุมคุณภาพอาหาร (รสชาติ สะอาด ปลอดภัยไร้สารป่นเปื้อน
- กลุ่มเป้าหมายมีทัศนะคติที่ดีต่อการทำงานกลุ่มและอาชีพ
- มีการทำงานเชิงเครือข่ายการผลิตและการตลาด
- รักษาตำรับอาหารมุสลิม อัตลักษณ์ชายแดนใต้ให้อยู่คู่ชุมชนต่อไป
- ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส