Banner
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
พะเยา

กศน.อำเภอภูซางฟื้นฟูทักษะการผลิตผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มสตรี สร้างอาชีพ เสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดพะเยา

ในมุมมองของคนทั่วๆ ไป พื้นที่ชายแดนคือพื้นที่ที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างคึกคัก ผู้คนจากสองประเทศสามารถข้ามไปมาหาสู่กันได้อย่างง่ายดายภายใต้กฎเกณฑ์ของพรมแดนนั้นๆ แต่ในมุมมองที่ลึกซึ้งมากขึ้น เราอาจได้เห็นการอพยพของผู้คนเพื่อหลีกหนีปัญหาความยากจนจากประเทศบ้านเกิดเข้ามาสู่ดินแดนของไทย

อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการอพยพย้ายถิ่นของสตรีชาวลาวเข้ามาอยู่อาศัยแบบถาวร เนื่องจากเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับแขวงไชยะบุรี สปป.ลาว โดยกลุ่มสตรีฯ ที่เข้ามาก็ได้มีครอบครัวร่วมกับคนไทยจำนวนหนึ่ง จนเกิดเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม

‘ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา’ จึงได้เห็นความสำคัญในการเข้ามาดูแลด้านการเรียนรู้และการสร้างทักษะอาชีพของกลุ่มสตรีฯ กลุ่มนี้ โดยเริ่มจากการจัดการศึกษาที่เหมาะสมในเขตพื้นที่ชายแดน ซึ่งประกอบไปด้วยการเรียนการสอนเรื่องพื้นฐานต่างๆ เช่น ฐานทางสังคม ประเพณี วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของสตรีชาวลาว รวมถึงฝึกฝนทักษะการรู้หนังสือให้อ่านออกเขียนได้

เมื่อจัดการเรียนการสอนได้ระดับหนึ่งแล้ว กศน.อำเภอภูซาง ก็ได้เห็นการรวมกลุ่มของสตรีชาวลาวเพื่อพยายามสร้างอาชีพร่วมกัน ทำให้กศน. ได้เกิดแนวคิดที่จะช่วยฝึกฝนทักษะทางอาชีพ โดยการรื้อฟื้นวิถีชีวิตการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาว นอกจากนี้แล้วส่งเสริมให้กลุ่มสตรีชาติพันธุ์ในพื้นที่อื่นๆ ในอำเภอภูซาง ได้แก่ สตรีบ้านใหม่รุ่งทวี และสตรีบ้านคอดยาว ได้ฝึกฝนทักษะการผลิตผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าตนเอง เพื่อนำมาต่อยอดและสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน ผ่านโครงการ ‘พัฒนาอาชีพการผลิตผ้าของสตรีภูซาง จังหวัดพะเยา’  

กลุ่มเป้าหมายหลักที่โครงการนี้จะดำเนินงานคือกลุ่มแรงงานสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มคนพื้นเมือง ลาว และม้ง ที่เป็นผู้ด้อยโอกาส ประกอบไปด้วย แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ผู้ว่างงาน รวมทั้งสิ้น 50 คน โดยจะทำการคัดเลือกมาจากพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ในอำเภอภูซาง คือบ้านฮวก บ้านคอดยาว และบ้านใหม่รุ่งทวี

กศน. อำเภอภูซาง ได้ร่วมมือกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในการวางวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าแผนการพัฒนานี้จะต้องพัฒนาทักษะการทอผ้าฝ้ายทอมือ การปักผ้าม้ง และทำผ้าเขียนเทียน ให้กับกลุ่มสตรี โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องฝึกฝนจนสามารถออกแบบผืนผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้ ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงานจะเป็นในแนวทางที่กศน.ช่วยอบรมให้มีมาตรฐานการผลิตที่ดี และร่วมกันพัฒนาต่อยอดรูปแบบและกระบวนการผลิตผ้าจากองค์ความรู้เดิม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีเอกลักษณ์ โดดเด่น ทันสมัย นอกจากนี้ยังมีการอบรมด้านการบริหารจัดการ ซึ่งจะเติมทักษะในด้านการตลาดและการจัดจำหน่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายด้วย

การพัฒนาอาชีพในโครงการนี้เป็นการส่งเสริมให้เกิดความแข็งแกร่งด้านความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ผ่านการสร้างทักษะอาชีพที่สามารถหารายได้เข้าสู่ครัวเรือน ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปแล้วโครงการนี้นับเป็นกลยุทธ์การพัฒนาที่ช่วยเปิดโอกาสให้อดีตกลุ่มอพยพสามารถสร้างตัวตน มีพื้นที่ สังคม วัฒนธรรมที่เป็นของตัวเองขึ้นมาได้อย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาอาชีพการผลิตผ้าของสตรีภูซาง จังหวัดพะเยา

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา

  • โทร: 097-9242728
  • ผู้ประสานงาน: นางเหมือนฝัน ยองเพชร

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ และสามารถฝึกฝนให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะในการที่จะนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส