Banner
วิทยาลัยชุมชนแพร่
แพร่

วิทยาลัยชุมชนแพร่นำหลักสูตรการย้อมเสื้อหม้อห้อมแบบดั้งเดิมด้วยสีธรรมชาติกลับมาสอน ช่วยสร้างทักษะ สร้างอาชีพให้กับคนด้อยโอกาสใน 3 ชุมชนของตัวจังหวัด

เมื่อนึกถึงภาคเหนือ ภาพของคนที่ใส่เสื้อหม้อห้อมสีครามเข้มคงเป็นภาพแรกๆ ที่เด่นขึ้นมาในความคิด แต่อาจมีคนไม่มากนักที่จะทราบว่าเสื้อหม้อห้อมนั้นคือเครื่องแต่งกายพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ของคนจังหวัดแพร่ ซึ่งผ้าหม้อห้อมแบบฉบับดั้งเดิมจริงๆ นั้น จะต้องทำการย้อมด้วยสีธรรมชาติที่ได้จากต้นห้อมนั่นเอง

ในปัจจุบันเสื้อหม้อห้อมได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายไม่เฉพาะแค่กับคนภาคเหนือเท่านั้น แต่ขยายกว้างไกลไปจนถึงต่างประเทศ ทำให้ความต้องการซื้อผ้าหม้อห้อมมีสูงขึ้นจนรูปแบบกระบวนการผลิตเดิมไม่ตอบโจทย์ ในยุคหลังการผลิตเสื้อหม้อห้อมได้เปลี่ยนแปลงไปจาก ‘ต้นฉบับ’ จนไม่เหลือเค้าเดิม เช่น การย้อมโดยใช้สีเคมี เพื่อจุดประสงค์ด้านความรวดเร็วและความประหยัดของต้นทุน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ภูมิปัญญาอย่างการย้อมสีธรรมชาติได้เริ่มล้มหายตายจากไป

แต่ด้วยเทรนด์ของยุคสมัยนี้ที่การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากผู้บริโภคหลายกลุ่มได้ตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มาจากสารเคมี ผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มที่มีกระบวนการที่เป็นมิตรกับธรรมชาติจึงเป็นที่เสาะหาของคนทั่วไปมากขึ้น ภูมิปัญญาการย้อมเสื้อหม้อห้อมจึงมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง

สีธรรมชาติที่นิยมใช้เพื่อย้อมผ้าจะมีอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสีครามจากต้นคราม สีแดงจากครั่ง สีส้มจากเมล็ดคำแสด สีเทาดำจากผลมะเกลือ หรือ สีชมพูจากแก่นฝาง แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์อย่างเสื้อหม้อห้อมนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถใช้สีธรรมชาติชนิดอื่นในการย้อมได้ เนื่องจากเสื้อหม้อห้อมเป็นเครื่องนุ่งห่มที่ต้องใช้สีของต้นห้อมในการย้อมเท่านั้น ซึ่งเอกลักษณ์นี้เป็นสิ่งที่สืบทอดต่อกันมาผ่านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของคนแพร่ และทำให้เสื้อหม้อห้อมมีคุณค่าแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ

จากเหตุผลในข้างต้นนี้ วิทยาลัยชุมชนแพร่ จึงได้ริเริ่มโครงการ ‘พัฒนาทักษะอาชีพทุนวัฒนธรรมการผลิตผ้าหม้อห้อมของจังหวัดแพร่’ เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์วิธีการผลิตเสื้อหม้อห้อมเมืองแพร่จากสีของต้นห้อมแบบดั้งเดิม ให้คงอยู่คู่กับจังหวัดสืบต่อไป

โครงการพัฒนาทักษะฯ ได้ตั้งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนด้อยโอกาสในชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ จำนวนทั้งสิ้น 75 คน จากพื้นที่ 3 แห่งคือ ชุมชนบ้านนาคูหา ชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง และชุมชนบ้านปากพวก โดยโครงการจะทำการอบรมทักษะให้กับสมาชิกตามความเหมาะสมของต้นทุนในแต่ละชุมชน ผ่านการแบ่งรูปแบบการพัฒนาทักษะเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 จะเป็นการส่งเสริมอาชีพการปลูกต้นห้อมเพื่อการค้า ซึ่งจะดำเนินงานในพื้นที่ชุมชนบ้านนาคูหา เนื่องจากชุมชนนี้มีต้นทุนความรู้ในการปลูกต้นห้อมมาอยู่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

กลุ่มที่ 2 จะเป็นการส่งเสริมอาชีพพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม ซึ่งจะดำเนินงานในพื้นที่ชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง เนื่องจากชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่ทำผ้าหม้อห้อมแห่งใหญ่ของจังหวัด แต่กำลังประสบปัญหาด้านแรงงานที่ขาดแคลน

กลุ่มที่ 3 จะเป็นการส่งเสริมอาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม ซึ่งจะดำเนินงานร่วมกับกลุ่มอาชีพสตรีในชุมชนบ้านปากพวก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์การตัดเย็บ แต่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์สำหรับการผลิต

โครงการที่จัดทำขึ้นโดยวิทยาลัยชุมชนจังหวัดแพร่นี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับชุมชนและสร้างอาชีพให้กับผู้คนจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะมีการออกแบบแผนการพัฒนาตามต้นทุนของแต่ละพื้นที่แล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงชุมชนทั้ง 3 แห่งให้ปฏิบัติงานร่วมกันได้ด้วย นอกจากประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแล้ว โครงการนี้ยังช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาเครื่องนุ่งห่มอย่างเสื้อหม้อห้อมให้มีวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ซึ่งนับว่าจะเป็นประโยชน์ด้านวัฒนธรรมที่จะยังคงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษาเรียนรู้ และสืบทอดต่อไป

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะอาชีพทุนวัฒนธรรมการผลิตผ้าหม้อห้อมของจังหวัดแพร่

วิทยาลัยชุมชนแพร่

  • โทร: 086-6335283
  • ผู้ประสานงาน: นายมนัส จันทร์พวง

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. พัฒนาทักษะอาชีพเกษตรกรให้มาปลูกห้อมเพื่อการค้า การผลิตเนื้อห้อมในระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กได้ในเบื้องต้น โครงการนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาให้กับผู้ปลูกและผู้ผลิตน้ำห้อมเปียกในจังหวัดแพร่ ให้สามารถรองรับการปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น และยกระดับการผลิตต่อเนื่องเป็นอาชีพรองของคนในชุมชนได้ต่อไป
  2. พัฒนาทักษะอาชีพผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์การสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการออกแบบ การลวดลายการย้อมผ้าหม้อห้อม
  3. พัฒนาทักษะอาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋า ผ้าพันคอ สิ่งทอเคหะภัณฑ์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส