โลกยุคใหม่เป็นโลกของเทคโนโลยีดิจิทัล หากลองสังเกตสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวในทุกวันนี้ คุณคงเห็นว่าแทบทุกอย่างในชีวิตล้วนแต่มีเทคโนโลยีสอดแทรกอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การศึกษา หรือการค้าขาย แทบทุกคนในยุคสมัยนี้จะต้องมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง ทำให้คนที่ได้เปรียบในโลกยุคใหม่นี้คือคนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดี
แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้วางนโยบายประเทศไทย 4.0 ไว้เป็นหัวใจของการขับเคลื่อน โดยมีการสนับสนุนให้ประชากรวัยแรงงานได้รับการศึกษาและพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพของแรงงานเหล่านี้ให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ
จากความสำคัญนี้ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เป็นหน่วยงานที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาอาชีพมากว่า 5 ปี จึงได้ทำการริเร่ิมโครงการ ‘นักขายมือทองของชุมชน’ ขึ้นเพื่อจัดการเรียนรู้เรื่อง Digital Literacy และ e-commerce ให้กับชุมชน เพื่อเป็นอีกแรงในการพัฒนาศักยภาพของแรงงานให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของรัฐ
ชุมชนป่าติ้ว จังหวัดยโสธร มีต้นทุนที่นับว่าเป็นศักยภาพของชุมชนอยู่หลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพสูง งานฝีมือและงานหัตถกรรม เช่น การสานตะกร้าไม้ไผ่ การสานตะกร้าจากเส้นพลาสติก นอกจากนี้ยังมีการทำน้ำพริก ทำขนมไทย และอีกมากมายหลายผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งต้นทุนของชุมชนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สามารถต่อยอดและพัฒนาขึ้นได้เมื่อนำเอาความรู้ทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ
กลุ่มเป้าหมายของโครงการนักขายมือทองของชุมชนคือกลุ่มผู้ว่างงานและผู้ด้อยโอกาส เช่น นักศึกษากศน. ที่ว่างงาน นักศึกษากศน. ที่มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อปี และประชาชนที่อยู่เขตพื้นที่ดำเนินการ จำนวนทั้งสิ้น 50 คน โดยจะทำการคัดเลือกจากพื้นที่ของ 3 ตำบลในอำเภอป่าติ้ว ได้แก่ ตำบลโพธิ์ไทร ตำบลโคกนาโก และตำบลเชียงเพ็ง
สมาชิกทุกคนที่เข้ามาในโครงการจะได้รับการฝึกสอนทักษะเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ การใช้สื่ออย่างถูกต้อง Digital Literacy และการทำการตลาดออนไลน์ การขายผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย หรือแพลตฟอร์มการขายแบบอิเล็กทรอนิกส์ e-commerce ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะทำให้ประชากรกลุ่มนี้ก้าวทันเทคโนโลยีที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบัน
การฝึกสอนในโครงการนักขายมือของของชุมชน นับว่าเป็นการช่วยยกระดับชุมชนจากฐาน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษากศน. ที่เป็นประชากรรุ่นใหม่ในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถมองเห็นโอกาสและสร้างโอกาสขึ้นจากต้นทุนที่มีอยู่แล้วในชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อนำมาจัดจำหน่ายในพื้นที่ออนไลน์ หรือสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยสื่อสารให้คนภายนอกได้รู้ว่าชุมชนแห่งนี้มีของดีอะไรบ้าง ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับตัวผู้สำเร็จการอบรมจากโครงการแล้ว ก็ยังเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งด้วย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
นักขายมือทองของชุมชน
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอป่าติ้ว
- โทร: 084-4292964
- ผู้ประสานงาน: นายประสิทธิ์ชัย ทองปนท์
เป้าประสงค์
กลุ่มเป้าหมายมีความรู้และทักษะ เรื่อง digital literacy และ e-commerce สามารถนำความรู้ทักษะไปประกอบอาชีพ เสริมสร้างรายได้ และส่งเสริมศักยภาพของชุมชน สถานศึกษามีหลักสูตรหรือแนวทางในการพัฒนาชุมชนด้านการขายออนไลน์อย่างยั่งยืน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส