Banner
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ยะลา

เปลี่ยนผู้ด้อยโอกาสในชุมชนให้เป็นแรงงานฝีมือที่สามารถก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ กับโครงการฝึกทักษะที่ใฝ่ฝันของม.ราชภัฏยะลา

ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาปัจจุบันมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากอดีต ส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ต้องประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับพื้นที่ในจังหวัดยะลา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดกลุ่มคนด้อยโอกาสมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังถดถอย

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้แห่งสำคัญของจังหวัดจึงได้จัดโครงการ ‘ฝึกทักษะอาชีพที่ใฝ่ฝันของผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เพื่อเป็นผู้ประกอบการและแรงงานคุณภาพ’ ขึ้นมา เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางโอกาสให้กับคนกลุ่มนี้

ด้วยความพร้อมในการจัดโครงการอย่างรอบด้านของมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากรที่มีกลุ่มวิทยากรผู้เชี่ยวชาญการบริหารธุรกิจ การจัดการธุรกิจและการเขียนแผนธุรกิจ รวมไปถึงเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านช่วยสนับสนุนการฝึกทักษะและประสบกรณ์ด้านวิชาชีพ นอกจากนี้ยังมีความพร้อมในด้านอุปกรณ์และสถานที่สำหรับการฝึกสอนทฤษฎีไปจนถึงการปฏิบัติงานจริง ทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการพัฒนาทักษะนี้จะช่วยสร้างแรงงานที่มีคุณภาพออกมาสู่พื้นที่จังหวัดยะลา

โครงการได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ และ ผู้ว่างงาน จำนวนทั้งสิ้น 50 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามทักษะอาชีพที่ได้กำหนดไว้ คือ 1.หลักสูตรช่างอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 15 คน 2.หลักสูตรช่างตัดผม จำนวน 20 คน และ 3.หลักสูตรทำขนม จำนวน 15 คน

กระบวนการฝึกทักษะของทั้ง 3 อาชีพจะมีการอบรมตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงการปฏิบัติงานจริง ซึ่งจะใช้เวลาตลอดหลักสูตรทั้งสิ้น 72 ชั่วโมง หลังจากนั้นสมาชิกในโครงการก็จะต้องมาเข้าร่วมกิจกรรมอีก 3 รูปแบบโดยพร้อมเพรียงกัน คือ

1.กิจกรรมพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จำนวน 24 ชั่วโมง 2.กิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และบูรณาการระดับชุมชน และ3.กิจกรรมเส้นทางสู่แหล่งทุนและตลาดแรงงาน

ซึ่งหลังจากที่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการได้ผ่านการฝึกฝนจนครบทุกขั้นตอนแล้ว พวกเขาจะมีความพร้อมทั้งทักษะการทำงานจริงและทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเท่าทันยุคสมัย รวมไปถึงมีองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการริเริ่มกิจการของตัวเอง

ท้ายที่สุดแล้ว การส่งเสริมด้านทักษะอาชีพที่สามารถนำไปต่อยอดจน ‘เป็นนายตัวเอง’ ได้เหล่านี้ นับว่าเป็นการแก้ปัญหาแรงงานฝีมือที่ไม่มีวุฒิได้เป็นอย่างดี เพราะในสังคมมีกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสในการสมัครเข้าทำงานบางชนิด การฝึกสอนทักษะที่สามารถนำไปประกอบอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องใช้วุฒิทางการศึกษา จึงช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสในการทำอาชีพอิสระ หรือลงทุนเปิดกิจการของตัวเองได้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การฝึกทักษะอาชีพที่ใฝ่ฝันของผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เพื่อเป็นผู้ประกอบการและแรงงานคุณภาพ

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

  • โทร: 081-8987840
  • ผู้ประสานงาน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์แวอาซีซะห์ ดาหะยี

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพและสร้างอาชีพที่ยั่งยืน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส