Banner
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
สกลนคร

ม.เกษตร สกลนคร ทำโครงการฝึกสอนเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปที่สอดแทรกเนื้อหาด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อช่วยเปิดตลาดออนไลน์สร้างโอกาสให้กับเกษตรกร

เกษตรอินทรีย์กำลังเป็นกระแสที่มาแรงจากกลุ่มเกษตรกรหลายแห่งในประเทศ เพราะผู้บริโภคทุกวันนี้มีความพิถีพิถันในการกินที่สูงขึ้นจากแนวคิดการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองให้ห่างไกลจากสารพิษหรือสารเคมีให้มากที่สุด

นอกจากเกษตรอินทรีย์จะมาตอบโจทย์ด้านสุขภาพของผู้บริโภคแล้ว ยังมีประโยชน์อีกมากมายหลายประการต่อผู้ผลิตและสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ในระยะยาวการทำเกษตรแบบอินทรีย์อย่างครบวงจรจะทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง รวมถึงตัวเกษตรกรเองก็ไม่ต้องเอาสุขภาพไปเสี่ยงกับการฉีดพ่นสารเคมีอีกต่อไป

ในด้านของสิ่งแวดล้อมเกษตรอินทรีย์จะช่วยทำให้พื้นที่ในบริเวณนั้นกลับมาสมบูรณ์มากขึ้น เพราะปราศจากสารเคมีที่ทำร้ายดิน ทำร้ายพืชพรรณ และทำร้ายสิ่งมีชีวิตรายรอบพื้นที่สวนไร่นา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทั่วประเทศจึงพยายามผลักดันวิถีแบบอินทรีย์ให้เกิดขึ้น เพราะแท้ที่จริงแล้วเกษตรอินทรีย์คือวิถีการทำเกษตรกรรมแบบ ‘ดั้งเดิม’ ก่อนการมาถึงของสารเคมี

ล่าสุดในจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นแหล่งผลิต ‘ข้าวเหนียวอินทรีย์’ ที่มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ได้วางยุทธศาสตร์นโยบายส่งเสริมการผลิตอินค้าเกษตรอินทรีย์ภายใต้คำขวัญ ‘การพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถีสกลนคร’ โดยมีการตั้งเป้าหมายผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ไว้ที่ปริมาณ 1 ล้านไร่ให้ได้ภายในปี 2564ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่การทำเกษตรของจังหวัดเลยทีเดียว

เมื่อมีแรงผลักดันจากภาครัฐและมีการร่วมมือจากเกษตรกรท้องถิ่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นองค์กรด้านการศึกษาและพัฒนาอาชีพ จึงได้เข้ามาเป็นอีกแรงในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ผ่านการจัดทำโครงการ ‘พัฒนาทักษะแรงงานสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรข้าวรุ่นใหม่ในยุคดิจิตอล’ เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของแรงงานในภาคการเกษตร ให้สามารถก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี

โครงการของม.เกษตรได้วางพื้นที่ดำเนินงานเป็นพื้นที่ที่กลุ่มที่วิสาหกิจชุมชนดาวล้อมเดือนได้อาศัยอยู่ ซึ่งครอบคลุมไปถึง 4 หมู่บ้านด้วยกัน โดยทีมจากโครงการจะทำการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายโดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน อาทิ แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ และคนว่างงาน จำนวนทั้งสิ้น 50 คน

ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้ศึกษาเรียนรู้ทักษะพื้นฐานในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ การผลิตพันธุ์ข้าว การทำปุ๋ยอินทรีย์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวเหนียวของตนเอง โดยโครงการจะมุ่งเน้นแผนการพัฒนาตามความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งจะมีรูปแบบของการอบรมทั้งการบรรยายและปฏิบัติงานจริงทั้งในห้องปฏิบัติการและในพื้นที่ รวมถึงการออกไปศึกษาดูงานในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

หลังจากจบการอบรมด้านทักษะการทำการเกษตรแล้ว โครงการจะช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการตลาดให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิก โดยจะเปิดอบรมและติดตามต่อเนื่องทั้งการขายผ่านสื่อออนไลน์ และออฟไลน์ เช่น การจัดแสดงสินค้า ฝากขายตามร้านค้าหรือแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

ประโยชน์ของโครงการพัฒนาฯ นี้ นอกจากจะช่วยเสริมทักษะและศักยภาพของเกษตรกรผู้ด้อยโอกาสในชุมชนแล้ว ยังสนับสนุนให้กลุ่มสมาชิกโครงการสามารถยกระดับตนเองเป็นผู้ประกอบการที่ครบวงจร กล่าวคือสามารถเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้พัฒนาต่อยอด และผู้ขายสินค้าของตนเองได้ เมื่อโครงการทำได้สำเร็จก็นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการผลิตเกษตรกรวิถีอินทรีย์ที่สามารถสร้างรายได้ และมีแนวโน้มที่จะยึดมั่นในการทำเกษตรรูปแบบนี้ต่อไปในอนาคต

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาทักษะแรงงานสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรข้าวรุ่นใหม่ในยุคดิจิตอล

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร

  • โทร: 081-768-9707
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวพัดชา เศรษฐากา

เป้าประสงค์

  1. แรงงานและผู้ด้อยโอกาสภาคการเกษตรมีความรู้และทักษะที่สามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ ร้อยละ 80
  2. สร้างอาชีพให้ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่สนใจในการประกอบอาชีพด้านข้าวครบวงจร
  3. กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส