แม้จะไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตอันดับต้นๆ ของภาคใต้ แต่สตูลคือจังหวัดที่มีความน่าสนใจหลากหลายประการไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เช่น น้ำตก ทะเลและชายหาด หรือแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นพื้นที่สำคัญระดับโลกอย่างอุทยานธรณีสตูล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้การรับรองความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์จากองค์กรยูเนสโก
นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จังหวัดสตูลมีการเติบโตในภาคท่องเที่ยวเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี โดยในปี 2551 จังหวัดมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวถึง 1,700 ล้านบาทเลยทีเดียว เมื่อวิเคราะห์จากตัวเลขที่เกี่ยวข้อง คงสรุปได้อย่างชัดเจนว่าจังหวัดสตูลมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกมาก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงซึ่งมักจะมาพร้อมกับการเติบโตอย่างรวดเร็วคือการขาดโครงการพื้นฐานอย่างสถานที่และบุคคลากรที่มีคุณภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น
บุคคลากรหรือแรงงานที่ว่าเหล่านั้น ย่อมรวมไปถึงแรงงานฝีมืออย่างพนักงานต้อนรับ ไกด์ หรือ มัคคุเทศก์ด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มสำคัญที่จะเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัด ซึ่งหากพวกเขามีจำนวนไม่พอ นักท่องเที่ยวอาจจะไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกเท่าที่ควร หรือมากไปกว่านั้นคือการเกิด ‘ไกด์เถื่อน’ที่อาจจะมีการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำให้จังหวัดต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง
วิทยาลัยชุมชนสตูลซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนในพื้นที่ ได้เห็นความสำคัญของการผลิตบุคคลากรคุณภาพป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัด โดยที่ผ่านมามีการผลิตมัคคุเทศก์ออกมาอย่างต่อเนื่องกว่า1,500 คนแต่ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เรื่องใบอนุญาตการนำเที่ยวในต่างพื้นที่ ทำให้มัคคุเทศก์จำนวนหนึ่งหรือที่เรียกกันว่ามัคคุเทศก์เฉพาะ ไม่สามารถนำนักท่องเที่ยวเดินทางข้ามเขตพื้นที่หรือข้ามจังหวัด
ปัญหานี้สร้างความเดือดร้อนให้กับอาชีพมัคคุเทศจำนวนมาก วิทยาลัยชุมชนจึงได้หาทางบรรเทาปัญหาโดยการจัดทำโครงการ ‘การอบรมหลักสูตรฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์เฉพาะ เป็นมัคคุเทศน์เฉพาะภูมิภาค (ภาคใต้)’ ขึ้นมาเพื่อสอดรับกับความต้องการของเหล่ามัคคุเทศก์ในพื้นที่
กลุ่มเป้าหมายของโครงการคือกลุ่มมัคคุเทศก์ที่ต้องการเปลี่ยนใบอนุญาตจากมัคคุเทศเฉพาะเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค (ภาคใต้) เพื่อให้สามารถนำเที่ยวข้ามจังหวัดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 53 คน โดยแนวทางการพัฒนาวิชาชีพจะเป็นการนำสมาชิกโครงการทุกคนมาเข้าฝึกอบรมตลอดหลักสูตรตามที่กรมการทางเที่ยวได้กำหนดไว้ จากนั้นก็จะมีการทดสอบเพื่อวัดผลการเรียนรู้ จนผู้เข้ารับการอบรมสามารถได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
โครงการนี้นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของมัคคุเทศก์ในพื้นที่อย่างตรงจุดแล้ว ยังมีการวางแผนเพื่อบรรเทาปัญหาในระยะยาวอีกด้วย โดยมีการวางแนวทางการจัดทำกลุ่มให้เป็นรูปแบบชมรมหรือสมาคม เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือกันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องภายในกลุ่มต่อไป รวมถึงมีการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เป็นสถานประกอบการกว่า 20 แห่ง ที่พร้อมสนับสนุนการทำงานและการเรียนรู้ของเหล่ามัคคุเทศก์ภายในจังหวัดให้มีอาชีพที่มั่นคง
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการอบรมหลักสูตรฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค กรณีเปลี่ยนผ่านประเภทใบอนุญาตจากมัคคุเทศก์เฉพาะ เป็นมัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค (ภาคใต้)
วิทยาลัยชุมชนสตูล
- โทร: 085-0808816
- ผู้ประสานงาน: นายอัศวยุช เทศอาเส็น
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสสำหรับคนที่เป็นมัคคุเทศก์เฉพาะอยู่แล้ว ให้ได้รับการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค กรณีเปลี่ยนผ่านประเภทใบอนุญาตจากมัคคุเทศก์เฉพาะเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค (ภาคใต้) จังหวัดสตูลและจังหวัดใกล้เคียง จะได้ทำงานถูกต้องตามกฎหมาย
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส