ปัญหาผู้พ้นโทษกระทำผิดซ้ำต้องกลับเข้าเรือนจำใหม่ คือปัญหาใหญ่ที่เรือนจำหลายแห่งเผชิญอยู่ในปัจจุบัน สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมยังไม่เปิดรับและไม่เปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษ ทำให้ไม่มีใครอยากจ้างงาน ไร้ซึ่งรายได้ จนในที่สุดต้องหวนกลับมาก่ออาชญากรรมและถูกจองจำซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากมีหนทางที่สามารถเพิ่มพูนทักษะอาชีพของผู้ต้องโทษให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการหรือประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้ใช้ต้นทุนมาก อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้พวกเขามีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว
มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ของผู้ต้องขังทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง โดยผสานองค์ความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ ในหลายสาขาวิชา และบูรณาการการทำงานร่วมกับทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง เพื่อช่วยผู้พ้นโทษมีอาชีพสุจริต และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติด้วยคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สำหรับอาชีพอิสระที่ทีมงานวิเคราะห์แล้วพบว่าเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ มากที่สุด คือ ‘อาชีพค้าขาย’ ที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง ‘อาชีพบริการ’ และ ‘อาชีพเกษตรกรรม’ ซึ่งอาชีพเกษตรกรรม เป็นอาชีพที่กลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจจำนวนมาก เพราะว่าส่วนใหญ่มีที่ดินและทรัพยากรเป็นทุนเดิม
โดยกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มจะได้เรียนรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในบริเวณเรือนจำชั่วคราวปงยางคก ซึ่งในการเรียนการสอน โดยทางโครงการฯ ได้เลือกให้กลุ่มเป้าหมายทดลองฝึกใน 3 วิชาชีพ คือ ‘การปลูกกล้วยหอม กุ้งเผา และหมูทอด’ โดยตลอดโครงการฯ ทีมงานงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางจะทำงานควบคู่ไปกับเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง
สำหรับภาคทฤษฏี เพื่อเพิ่มพูนทักษะทางอาชีพของกลุ่มเป้าหมายให้มีความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการที่รอบด้าน มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางยังบูรณาการองค์ความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ ในหลายสาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน สาขาวิชาบัญชี การตลาด และการจัดการ มาบูรณาการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง เพื่อช่วยให้กลุ่มเป้าหมายก่อตั้งกิจการได้สำเร็จ
ขณะที่ด้านปฏิบัตินั้น โครงงานฯ ได้ให้กลุ่มเป้าหมายทดลองขาย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดความสนใจของตลาด รวมทั้งสอนการทำบัญชี ดูกำไรขาดทุน รวมทั้งให้ทดลองการขายจริงผ่านเพจ ‘พอเพียงพอ’ โดยแปะไว้กับเพจเดลิเวอรีของท้องถิ่น ในทางปฏิบัติกลุ่มเป้าหมายควรจะต้องทำเพจเอง แต่เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายไม่สามารถติดต่อกับกับผู้ซื้อได้โดยตรง ตามกฎระเบียบของเรือนจำ ทีมงานจึงทำเพจให้ เพื่อลดข้อจำกัดเหล่านี้
อย่างไรก็ดี คณะทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางและทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง ต่างคาดหวังว่า เมื่อกลุ่มเป้าหมายพ้นโทษไปแล้ว จะสามารถนำความรู้ทักษะอาชีพและการพัฒนาความคิดนำไปสู่การประกอบอาชีพอิสระได้อย่างมั่นคง
“ตอนนี้เรามีความมั่นใจประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ในเรื่องความสำเร็จของงาน เนื่องจากยังไม่สามารถวัดผลได้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการถอดบทเรียนโครงการฯ คือ การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเป้าหมาย ที่พบว่า มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าพูดกล้าแสดงออก ภาคภูมิใจในตัวเอง และคิดว่าจะไม่ย้อนกลับกระทำผิดซ้ำอีกแน่นอน” คือข้อความทิ้งท้ายจากหนึ่งในทีมงานโครงงานฯ ที่แสดงให้เห็นถึงความหวังที่เต็มเปี่ยมต่อกลุ่มเป้าหมาย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การพัฒนาทักษะอาชีพการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ของผู้ต้องขังทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง
มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง
- โทร: 089-9546359
- ผู้ประสานงาน: นางสาวสุคนธ์ทิพย์ สุภาจันทร์
เป้าประสงค์
- สร้างโอกาสที่เสมอภาคให้ผู้ต้องขังให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- ผู้ต้องขังมีศักยภาพ มีขีดความสามารถในการประกอบการธุรกิจยุคใหม่ สามารถนำความรู้ความเข้าใจการประกอบอาชีพไปแข่งขันการทำงานประกอบอาชีพ
- ผู้ต้องขังสามารถประกอบอาชีพอิสระ ที่สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
- ผู้ต้องขังที่เข้าโครงการมีทัศคติที่ดีต่ออาชีพการงานที่สุจริตที่มีคุณธรรม จริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคม มีแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ
- ผู้ต้องขังมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจประกอบการอาชีพอิสระที่สามารถสร้างรายได้หลังพ้นโทษ
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส