Banner
เทศบาลตำบลเชียงเครือ
สกลนคร

ปลุกปั้นเครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ด้วยดินเหนียวพิเศษที่มีแค่ในชุมชนเท่านั้น!

ในอดีต ตำบลเชียงเครือได้ชื่อว่าเป็น ‘บ้านปั้นหม้อ’ ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสกลนคร เนื่องจากมีภูมิปัญญาการปั้นเครื่องปั้นดินเผาที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ผนวกกับสภาพดินที่มีคุณภาพ ทำให้เครื่องปั้นดินเผาของตำบลเชียงเครือมีความโดดเด่นเรื่องความทนทาน อีกทั้งยังสามารถกักเก็บความเย็นไว้ได้นาน ซึ่งมีกรรมวิธีการผลิตอันเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือการเผาด้วยไฟต่ำ 

แต่เมื่อกระแสความต้องการเครื่องปั้นดินเผานิยมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเลียนแบบ ทำให้ปัจจุบัน เครื่องปั้นดินเผาที่วางขายในพื้นที่ตำบลเชียงเครือกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มาจากที่อื่น เพราะคนในตำบลเชียงเครือหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน เนื่องจากประสบภาวะเศรษฐกิจฟืดเคือง เครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือจึงค่อยๆ ถูกลดความสำคัญ กระทั่งเหลือผู้สืบทอดภูมิปัญญาเพียงไม่กี่คน

วีนัส ประสุนิงค์ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงเครือ จังหวัดสกลนคร จึงจัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพเครื่องปั้นดินเผาตำบลเชียงเครือขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชน และเสริมทักษะความรู้ด้านการทำเครื่องปั้นดินเผา ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้คุณสมบัติของดินเชียงเครือ การปั้น การออกแบบ การแกะสลัก ซึ่งมีรูปแบบการปั้นที่ต่างจากงานรูปแบบเดิม จากแต่ก่อนที่เน้นเรื่องประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียว ก็เปลี่ยนเป็นเครื่องปั้นดินเผารูปแบบใหม่ที่ใช้งานได้หลายรูปแบบ แต่ยังคงความทนทานไว้เช่นเดิม 

เมื่อแนวคิดการทำงานชัดขึ้น วีนัสจึงเริ่มเล็งหากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งตั้งไว้ 60 คน จากพื้นที่จำนวน 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเชียงเครือ บ้านโพนสว่าง บ้านดอนเชียงบาลน้อย บ้านดอนเชียงบาลใหญ่ บ้านป่าหว้าน บ้านนาคำไฮ และบ้านโคกสว่าง ซึ่งประกอบด้วยผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ว่างงาน และคนพิการ 

เมื่อได้กลุ่มเป้าหมายตามเกณฑ์ที่วางไว้ ก็ถึงเวลาเรียนรู้ทักษะการทำเครื่องปั้นดินเผาตามหลักสูตรที่โครงการออกแบบ ซึ่งเน้นการเรียนรู้จากพื้นที่จริง การสัมผัสจริง เริ่มต้นจากการพากลุ่มเป้าหมายไปดูแหล่งดินเผาในพื้นที่ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็นคุณค่าของ ‘ดิน’ ซึ่งเป็นทุนทางทรัพยากรในท้องถิ่น ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้คุณสมบัติของดิน จากนั้นค่อยเพิ่มพูนทักษะการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่คนในชุมชนใช้มาช้านาน  

ด้วยเหตุนี้ เวลาให้ความรู้ในช่วงเริ่มต้น คณะทำงานจึงพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มเป้าหมายก่อน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายผลิตผลงานออกมาจากใจ ออกมาจากความกล้า ไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยงาม ขอเพียงกล้าที่จะปั้นออกมา แล้วความสวยงามจะตามมาเอง

อติชาติ เต็งวัฒนโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเครื่องปั้นดินเผา และหนึ่งในคณะวิทยากร เสริมว่า “ผมจะเสริมเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เข้าไป เพราะบางทีภูมิปัญญาเดิมที่มีก็ดีอยู่แล้ว แต่บางอย่างที่เราได้เรียนเพิ่มเติมมา ผมก็จะเสริมเข้าไป เพื่อให้เกิดความสวยงาม และทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายปลายทางที่ผมตั้งใจไว้ก็คือ เครื่องปั้นดินเผาจะต้องใช้งานได้จริง และต้องขายได้ เพราะถ้าใช้ไม่ได้จริง ผู้บริโภคก็จะเห็นว่ามันใช้ประโยชน์ไม่ได้ เขาก็จะไม่ซื้อ” 

เมื่อตั้งต้นว่าต้องสร้างรายได้จากการทำเครื่องปั้นดินเผา อติชาติจึงพยายามมองหา ‘จุดขาย’ ของเครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือ ด้วยการนำจุดเด่นเรื่องความทนทานมาต่อยอดผ่านการตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นการปั้นแล้วนำไปติด เช่น ปั้นดอกไม้มาตกแต่ง หรือการแกะสลักลวดลายต่างๆ เช่น ภาพเสมือนจริง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นเทคนิคใหม่ที่เสริมลงไปในหลักสูตร ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถด้านการตกแต่งอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ วีนัสเสริมว่า เมื่อก่อนคนในชุมชนจะต่างคนต่างอยู่ ไม่สื่อสารกัน แต่โครงการนี้เป็นเหมือนศูนย์กระชับความสัมพันธ์ ให้ผู้สูงอายุในชุมชนกลับมาสื่อสารกับเยาวชนมากขึ้น โดยใช้กระบวนการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็น ‘ตัวเชื่อม’ ให้คนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งกลุ่มเป้าหมาย เยาวชน รวมถึงทีมงาน จนกลายเป็นความผูกพัน

นภารัตน์ จันทระวงศ์ อายุ 52 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า แต่ก่อนเธอจะทำแต่เครื่องปั้นดินเผาแบบเดิมๆ แต่พอเข้าร่วมโครงการ แล้วได้รับการกระตุ้นจากวิทยากร ว่าอยากปั้นอะไรก็ให้ปั้นเลย ทำให้นภารัตน์มีพื้นที่การแสดงออกมากขึ้น เมื่อเริ่มทำเครื่องปั้นดินเผารูปแบบใหม่ๆ เป็น ก็พยายามศึกษาต่อจากอินเทอร์เน็ต นำผ้ามัดย้อมของจังหวัดสกลนคร มาทดลองตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือ เกิดเป็นการรวมผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดไว้ในผลงานชิ้นเดียว

ซึ่งวีนัสอธิบายว่า นภารัตน์คือผลสำเร็จสำคัญของโครงการ ที่สามารถนำความรู้จากหลักสูตรไปต่อยอดจนสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ผสมกลมกลืนผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดเป็นอย่างดี และจากการเรียนรู้ผ่านการคิดและทำด้วยตัวเอง ทำให้นภารัตน์สามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นวิทยากรด้านการตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาด้วยผ้าได้

ด้านศรุตา สังกิจ อายุ 19 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าถึงสาเหตุที่เธอก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการว่า ส่วนตัวแล้ว เธอชอบงานศิลปะเป็นทุนเดิม พอเห็นโครงการนี้เปิดรับสมัครจึงตัดสินใจเข้าร่วม เพราะคิดว่าประโยชน์ของโครงการสามารถตอบโจทย์ความฝันของเธอในอนาคตได้ เนื่องจากศรุตาต้องการเปิดธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพเสริม ดังที่เธอกล่าวว่า “นอกจากฝันที่อยากทำธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาแล้ว หนูยังต้องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือไว้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลาอีกด้วย”

ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถเรียกได้ว่า กระบวนการทำเครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือคือ ‘เครื่องมือ’ ที่ร้อยรัดให้คนในชุมชนทุกช่วงวัย หันมาใส่ใจดูแลทุนพื้นฐานดีๆ ของชุมชน ทั้งทรัพยากรดินและองค์ความรู้เรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือ ทำให้ ‘ศูนย์การเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือ’ แห่งนี้ กลายเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ที่รวมคนผู้มีใจรักในภูมิปัญญาท้องถิ่นมาทำกิจกรรมร่วมกัน จนเกิดเป็นพื้นที่ให้คนหลายกลุ่มหลากช่วงวัยได้มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน จากเดิมที่ใช้ชีวิตต่างคนต่างอยู่ในพื้นที่ตัวเอง

ทุกวันนี้ แม้ว่ารายได้จากการทำเครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายของโครงการ นั่นคือการสานต่อภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือ ซึ่งมีจำนวนผู้สืบทอดภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือเพิ่มขึ้น ทำให้มั่นใจได้ว่า นับจากนี้ไป ‘เครื่องปั้นดินเผาเชียงเครือ’ จะยังคงอยู่คู่ชุมชนตลอดไป

“ผมจะเสริมเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เข้าไป เพราะบางทีภูมิปัญญาเดิมที่มีก็ดีอยู่แล้ว แต่บางอย่างที่เราได้เรียนเพิ่มเติมมา ผมก็จะเสริมเข้าไป เพื่อให้เกิดความสวยงาม และทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายปลายทางที่ผมตั้งใจไว้ก็คือ เครื่องปั้นดินเผาจะต้องใช้งานได้จริง และต้องขายได้ เพราะถ้าใช้ไม่ได้จริง ผู้บริโภคก็จะเห็นว่ามันใช้ประโยชน์ไม่ได้ เขาก็จะไม่ซื้อ” อติชาติ เต็งวัฒนโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเครื่องปั้นดินเผา และหนึ่งในคณะวิทยากร

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการส่งเสริมอาชีพเครื่องปั้นดินเผาตำบลเชียงเครือ

เทศบาลตำบลเชียงเครือ

  • โทร: 064-4568434
  • ผู้ประสานงาน: นางวีนัส ประสุนิงค์

เป้าประสงค์

  1. แรงงานและผู้ด้อยโอกาสทางทุนทรัพย์มีความรู้และทักษะที่สามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ ร้อยละ 80
  2. สร้างอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่สนใจในการประกอบอาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผาโดยใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม
  3. เกิดเครือข่ายที่ประกอบอาชีพการปั้นเครื่องปั้นดินเผาขึ้นในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส