Banner
วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร
มุกดาหาร

วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร จับนวดไทยมาสอนคนตำบลร่มเกล้า เตรียมชุมชนให้พร้อมรับนักท่องเที่ยวดูกังหันยักษ์

เนื่องจาก ครูก้อย’ วัชราภรณ์ ชนะเคน ทีมงานจากวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เล็งเห็นว่าพื้นที่อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร มีการสร้างกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนชุมชนแห่งนี้มากขึ้น จึงเปิดเวทีหารือเพื่อนำการนวดแผนไทยมาฝึกเป็นทักษะอาชีพให้กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน เพราะกลุ่มผู้สูงอายุมีศักยภาพในการประกอบอาชีพด้านนี้มากพอ

ประกอบกับเทศบาลตำบลร่มเกล้า อำเภอนิคมคำสร้อย ตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพการนวดแผนไทย จึงต้องการพัฒนาอาชีพนี้ให้ตอบรับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในอนาคต ผ่านการสนับสนุนอาคารเพื่อจัดทำสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือร้านนวดแผนไทยขึ้น โดยให้กลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการฝึกอบรมจากโครงการสร้างงานสร้างอาชีพกับการนวดไทยเพื่อสุขภาพ บริหารจัดการเอง โดยมีครูก้อยเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

ครูก้อยเล่าว่า กลุ่มเป้าหมายหลายคนในชุมชนตำบลร่มเกล้าเคยอบรมอาชีพนวดแผนไทยแล้ว แต่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพไม่รับรอง ทำให้ทำงานในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพด้านการนวดแผนไทยที่ถูกกฎหมายไม่ได้ ทำให้พวกเขาอยากเรียนใหม่อีกครั้ง 

เมื่อมีความต้องการเรียนรู้มากขึ้น จากตอนแรกที่จะฝึกอบรมแค่ 30 คน จึงเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเป็น 90 คน จากพื้นที่ 3 ตำบลในอำเภอนิคมคำสร้อย ได้แก่ ตำบลร่มเกล้า ตำบลกกเเดง และตำบลโชคชัย โดยแยกกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม คือเกษตรกรและคนว่างงาน

“สำหรับรูปแบบการนวดจะมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การนวดราชสำนักและการนวดเชลยศักดิ์ การนวดราชสำนักคือการนวดที่ใช้เฉพาะมือเท่านั้น มีระยะห่างระหว่างผู้นวดและผู้ถูกนวด 1 หัตถบาส ห้ามบิดหรือดัดตัวผู้ถูกนวด ส่วนการนวดเชลยศักดิ์จะมีการบิด ดัด ดึง ตบ และตี ซึ่งมีความใกล้ชิดกันระหว่างผู้นวดและผู้ถูกนวด” ครูก้อยเสริม

โดยจะแบ่งลักษณะการประกอบอาชีพด้านการนวดแผนไทยเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ (1) การนวดเพื่อสุขภาพ คือการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อผ่อนคลาย ในสถานพยาบาลหรือสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ผู้ที่จะประกอบอาชีพจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพรับรอง จำนวน 150 ชั่วโมง และสามารถเปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพเองได้ (2) การนวดเพื่อเป็นผู้ช่วยแพทย์แผนไทย คือการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหมอนวดแผนไทย (ผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพการนวดแผนไทยหรือเวชกรรมไทย) ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การควบคุมของหมอนวดแผนไทยในสถานพยาบาลฯ เท่านั้น 

ซึ่งโครงการมีกระบวนการอบรม 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ จำนวน 150 ชั่วโมง และหลักสูตรนวดฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพ จำนวน 60 ชั่วโมง ทั้งนี้ สิ่งที่กลุ่มเป้าหมายได้รับเมื่อผ่านการอบรมก็คือ (1) ใบวุฒิบัตรแสดงว่าผ่านการอบรมหลักสูตรนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ จำนวน 150 ชั่วโมง ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ (2) ใบวุฒิบัตรแสดงว่าผ่านการอบรมหลักสูตรนวดฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพ จำนวน 60 ชั่วโมง ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และ (3) ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ

ปวีณา พรมจันทร์ อดีตแคชเชียร์จากจังหวัดภูเก็ต หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ผู้กลับมาใช้ชีวิตเป็นชาวสวนและคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่บ้านเกิดในตำบลโชคชัย อำเภอนิคมคำสร้อย เล่าว่า เธอเห็นโอกาสในการพัฒนาทักษะการนวดแผนไทย เพราะสมัยที่อยู่ภูเก็ต อาชีพนวดแผนไทยมีรายได้ค่อนข้างดี หากพัฒนาฝีมือและทักษะการนวดให้ชำนาญ ก็สามารถต่อยอดเป็นกิจการเล็กๆ ของตัวเองได้ จึงเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งส่งผลให้เธอมีรายได้เพิ่ม 4,000-5,000 บาท/เดือน จากลูกค้าประจำที่ติดใจฝีมือการนวดของเธอ 

ซึ่งเมื่อผ่านการอบรมจนได้วุฒิบัตรแล้ว กลุ่มเป้าหมายสามารถนำเอกสารดังกล่าว พร้อมรายงานการฝึกฝนจำนวน 100 เคส ไปยื่นขอสอบยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาพนักงานนวดแผนไทยระดับหนึ่ง กับสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานมุกดาหารได้ โดยการยกระดับดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ที่ผ่านการทดสอบสามารถนวดแผนไทยที่ต่างประเทศได้ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 25 คน ที่ผ่านการทดสอบ

ปวีณาเป็น 1 ใน 25 คนที่ผ่านการทดสอบการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาพนักงานนวดแผนไทยระดับหนึ่ง ซึ่งเธอยืนยันว่า “การเรียนตรงนี้มันจะติดตัวเราไปตลอด ไม่หมือนอาชีพอื่น เช่น การค้าขาย ที่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีเราก็ไม่ได้เงิน แต่การนวดไม่ต้องลงทุนอะไร มันอยู่ที่ตัวเรา แล้วตอนนี้ก็พัฒนาเรื่องสมุนไพรกันอยู่ ครูเขาก็จะสอนเรื่องน้ำสมุนไพร ยาหม่อง ลูกประคบ แล้วบ้านเราก็ทำเกษตรกันอยู่เเล้ว เลยอยากต่อยอดตรงนี้” และปิดท้ายว่า หากในอนาคตมีทุนมากขึ้น ก็อยากเปิดร้านนวดเป็นของตัวเอง

นอกจากกระบวนการทำงานจะช่วยสร้างรายได้แล้ว ยังส่งผลดีอีกมากมาย อาทิ เกิดเครือข่ายผู้สูงอายุ และเกิดแนวทางการปลูกสมุนไพรเพื่อขายให้โรงงานผลิตยาแผนไทยที่ได้มาตรฐาน GMP ซึ่งเป็นของโรงพยาบาลนิคมคำสร้อย และต่อยอดในการผลิตสินค้าเกี่ยวกับการนวด เช่น ลูกประคบ น้ำมันนวดสมุนไพร ครีมนวดสมุนไพร และยาหม่อง เป็นต้น 

ทั้งนี้ ครูก้อยเสริมว่า “โครงการนี้ยังก่อให้เกิดช่องทางพัฒนาหลักสูตร ที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ที่สนใจอาชีพนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพในอนาคต กล่าวคือ การผสานทั้งสองหลักสูตร เพื่อให้ผู้ที่สนใจในอาชีพนี้ สามารถต่อยอดได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสมัครงาน หรือเปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้ทันที เมื่อผ่านการอบรม หรือใครอยากสอบยกระดับเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ก็สามารถทำได้ เพราะเรามีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนี้หมดแล้ว”

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการพัฒนาหลักสูตร และการสร้างกลไกการทำงานระดับตำบลแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือการที่ชาวบ้านสามารถนำความรู้จากโครงการไปประกอบอาชีพ และสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ดูแลตนเองได้ อีกทั้งยังช่วยลดรายจ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพได้อีกหนึ่งทอด เพราะเมื่อคนในครอบครัวปวดเมื่อย กลุ่มเป้าหมายก็นวดให้ได้ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับบริการที่สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

แม้ว่าวันนี้โครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดแล้ว แต่ก็ยังมีกลุ่มเป้าหมายบางคนที่ต้องการพัฒนาฝีมือต่อ เช่น การนวดรักษาอาการต่างๆ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหารจะเปิดในอนาคต ทำให้การนวดแผนไทยได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากองค์กรหลักๆ ในชุมชนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพนวดแผนไทยเกิดความมั่นใจ และเห็นเส้นทางการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไปได้

“โครงการนี้ยังก่อให้เกิดช่องทางพัฒนาหลักสูตร ที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ที่สนใจอาชีพนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพในอนาคต กล่าวคือ การผสานทั้งสองหลักสูตร เพื่อให้ผู้ที่สนใจในอาชีพนี้ สามารถต่อยอดได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสมัครงาน หรือเปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้ทันที เมื่อผ่านการอบรม หรือใครอยากสอบยกระดับเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ก็สามารถทำได้ เพราะเรามีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนี้หมดแล้ว” ครูก้อย’ วัชราภรณ์ ชนะเคน ทีมงานจากวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และผู้รับผิดชอบโครงการ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการสร้างคนสร้างงานกับการนวดไทยเพื่อสุขภาพ

วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร

  • โทร: 096-0949554
  • ผู้ประสานงาน: นางวัชราภรณ์ ชนะเคน

เป้าประสงค์

  1. ผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถให้บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพได้
  2. ผู้ผ่านการฝึกอบรมเป็นผู้ให้บริการนวดไทยที่ได้มาตรฐานของสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน 80 %
  3. ตรึงประชาชนวัยแรงงานให้อยู่ในพื้นที่หรือชุมชนของตนเอง ไม่ต้องเคลื่อนย้ายแรงงาน
  4. สนับสนุนการจัดการท่องเที่ยวโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community – based Tourism: CBT)

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส