‘การมอบถุงยังชีพและกายอุปกรณ์ มีส่วนช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายได้ แต่หากควบคู่ไปกับการเสริมพลังใจ สร้างอาชีพ รายได้ จะก่อให้เกิดการพึ่งพิงตัวเองได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน’ คือแนวคิดที่ มูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานกับคนพิการในหลายพื้นที่เป็นเวลากว่า 10 ปี ตกตะกอนคิดขึ้นมา
เพราะนอกจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ด้านการทำให้คนพิการเข้าถึงสิทธิ์ การรับกายอุปกรณ์ การจดทะเบียนคนพิการ หรือการรับเบี้ยยังชีพแล้ว สิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่ยังขาดอยู่ก็คือ การส่งเสริมคนพิการให้มีอาชีพ มีรายได้ และสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ นั่นเอง
ซึ่งนี่คือสาเหตุที่ทำให้มูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ ริเริ่ม ‘โครงการสร้างพลังคนพิการประกอบอาชีพของเครือข่ายกลุ่มคนพิการ’ ขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
โดย พัชราภรณ์ ชนภัณฑารักษ์ ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า โครงการนี้เป็นการสานต่อโครงการเดิมของมูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้ และพึ่งพาตัวเองได้ โดยจะเป็นการต่อยอดไปสู่คนพิการในพื้นที่อำเภอบัวใหญ่ จำนวน 150 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนพิการที่มูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ เคยทำงานด้วยแล้ว
ก่อนที่จะเริ่มส่งเสริมอาชีพให้คนพิการอย่างเต็มรูปแบบ โจทย์แรกของการดำเนินงานก็คือ การแบ่งกลุ่มเป้าหมายทั้ง 150 คน ออกเป็น 7 กลุ่ม ตามอาชีพเดิมที่แต่ละคนเคยทำ ได้แก่ อาชีพช่างซ่อม, ค้าขาย, เกษตรผสมผสาน, เลี้ยงสัตว์, จักสาน, ช่างเสริมสวย (ตัดผม), และตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งสามารถคัดกรองได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ นั่นคือ (1) กลุ่มที่ทำแบบต่อเนื่องและมีรายได้ (2) กลุ่มที่ทำๆ หยุดๆ ไม่ต่อเนื่อง และ (3) กลุ่มที่หยุดทำแล้ว โดยจะเน้นไปที่สองกลุ่มหลัง จำนวน 92 คน ก่อน
ซึ่ง พัชราภรณ์ เสริมว่า “การช่วยเหลือ การส่งเสริม และการสนับสนุน เพียงรูปแบบเดียว ไม่สามารถใช้ได้กับคนพิการทุกคน เพราะแต่ละคนมีความพิการที่ต่างกัน มีสภาพกาย สภาพใจ ทัศนคติ ความพร้อม และได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวไม่เท่ากัน” ทั้งนี้ จากการพิจารณาศักยภาพทางร่างกายของคนพิการในพื้นที่พบว่า อาชีพสานเปลญวนและหมวก ซึ่งเป็นอาชีพที่กลุ่มแม่บ้านห้วยแคน ยึดเป็นอาชีพกันอยู่แล้ว มีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มากที่สุด
เมื่อคนพิการวิเคราะห์แล้วว่า การทำเปลญวนไม่เกินศักยภาพที่พวกเขาจะทำได้ และไม่ต้องลงทุนมาก เพียงแค่ลงทุนซื้อเศษผ้า 25 บาท ก็สามารถสานเปลญวนได้ 2 ปาก ขายได้ปากละ 60 บาท เท่านี้ คนพิการก็ตื่นเต้นแล้ว เพราะเมื่อทำเสร็จก็สามารถขายได้ทันที เนื่องจากคนอีสานนิยมผูกเปลญวนเอาไว้นอนเล่น ทั้งที่บ้านและทุ่งนา จึงมีตลาดรับซื้อตลอดเวลา
ส่วนการสานหมวก ก็ใช้วัสดุจากต้นกกไหล ซึ่งมีการส่งเสริมให้ปลูกเองในครัวเรือน ทำให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพทั้งสองประเภทได้ตลอดเวลา ไม่ต้องออกไปรับจ้างนอกบ้าน
“อีกทั้งการจัดกิจกรรมให้คนพิการได้รวมกลุ่มกัน ยังช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการประกอบอาชีพใหม่ๆ ระหว่างกัน ใครมีองค์ความรู้เรื่องไหนเป็นพิเศษก็เอามาแบ่งปันกัน ไม่ว่าจะเป็น การปลูกผัก ตัดผม ทำเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดเป็นเครือข่ายด้านการประกอบอาชีพของคนพิการในพื้นที่ ส่งผลให้คนพิการมีความมั่นคงทางใจ เนื่องจากเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง เมื่อได้เป็นผู้แนะนำความรู้ให้กับคนพิการคนอื่นๆ” พัชราภรณ์ กล่าว
ด้าน เคน บุตรโชติ อายุ 68 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว เล่าว่า เดิมที เขาประกอบอาชีพสานแหและทำเกษตร ปลูกผักกินเองบ้างเพื่อลดรายจ่าย แต่การสานแห 1 ปาก ใช้เวลา 3 เดือน ขายได้ราคา 900-1,000 บาท ทว่า การสานเปลญวนสามารถทำได้รวดเร็วกว่า ทำให้เขาซึ่งมีทักษะด้านการสานจากการสานแหอยู่แล้ว สามารถสานเปลญวนได้เดือนละ 50-70 ปาก ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละเกือบ 4,000 บาท
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ แนะนำว่า การทำงานร่วมกับคนพิการ คณะทำงานต้องรู้จักความพิการแต่ละประเภท และปมเด่น ปมด้อยต่างๆ เสียก่อน อาทิ คนพิการทางสติปัญญา ชอบงานบริการ ชอบเลี้ยงสัตว์ ชอบความบันเทิง จะไปคาดหวังให้เขามีสมาธิกับสิ่งใดนานๆ ไม่ได้ ส่วนคนพิการทางการเคลื่อนไหว จะมีทักษะงานช่าง เช่น ช่างเสริมสวย ช่างตัดเย็บ ช่างซ่อม เป็นต้น
สมจิตร ชาปัญญา หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่มตัดเย็บผ้า กล่าวปิดท้ายว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ เขารับตัดชุดให้ลูกค้าอยู่ในหมู่บ้านมาหลายสิบปีแล้ว ได้ค่าแรง 200-300 บาทต่อชุด พอทางมูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการชวนให้ไปพูดบนเวทีเกี่ยวกับผลงานด้านการเย็บผ้า ในฐานะตัวอย่างด้านอาชีพของคนพิการ ก็รู้สึกภาคภูมิใจ
“เมื่อก่อน เวลามีคนถามเรื่องความพิการ น้ำตาจะไหลทุกที แต่ตอนนี้น้ำตามันหมดไปเอง เพราะแก้ปมเรื่องความพิการได้แล้ว เพราะเราทำให้คนอื่นเห็นว่า คนพิการก็อยู่ด้วยตัวเองและหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ ขอเพียงแค่มีคนให้โอกาส คนพิการก็ทำได้เหมือนกัน” และเมื่อคนพิการมีอาชีพ มีรายได้ และสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ คุณภาพชีวิตของพวกเขาก็จะพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน
“เมื่อก่อน เวลามีคนถามเรื่องความพิการ น้ำตาจะไหลทุกที แต่ตอนนี้น้ำตามันหมดไปเอง เพราะแก้ปมได้เรื่องความพิการได้แล้ว เพราะเราทำให้คนอื่นเห็นว่า คนพิการก็อยู่ด้วยตัวเองและหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ ขอเพียงแค่มีคนให้โอกาส คนพิการก็ทำได้เหมือนกัน” สมจิตร ชาปัญญา หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่มตัดเย็บผ้า
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการสร้างพลังคนพิการประกอบอาชีพของเครือข่ายกลุ่มคนพิการของมูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ
มูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา
- โทร: 098-0974485
- ผู้ประสานงาน: นางพัชราภรณ์ ชนภัณฑารักษ์
เป้าประสงค์
- สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานคนพิการในครั้งนี้เป็นคนพิการที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านชุมชนสามารถมีอาชีพตามการดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ตามศักยภาพของคนพิการแต่ละคน โดยการประกอบอาชีพคนพิการ มีส่วนในการสร้างความสุข
- พัฒนาทางร่างกายคนพิการที่เกิดจากประกอบอาชีพ คือได้ออกกำลังจากการประกอบอาชีพ หรือการเคลื่อนไหวร่างกายในการประกอบอาชีพและส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ไม่ศูนย์เสียเงินทองในการรักษาจากการเจ็บป่วยหรือจากความพิการ
- พัฒนาทางด้านจิตใจคนพิการที่เกิดจากการประกอบอาชีพ สามารถเห็นความสำเร็จของตนเองในการการประกอบอาชีพเช่น สามารถทำแล้วเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน ทำแล้วสามารถแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของหรือเงินตราได้นำไปสู่ชีวิตที่พอเพียง
- เกิดผลกระทบในด้านบวกที่ทำให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตมีศักดิศรีอยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างมีคุณค่า อยู่ในสังคมได้เหมือนคนปกติทั่วไป
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส