Banner
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท
สุรินทร์

ชุมชนหนองสนิทแก้ปัญหานักเรียนและประชาชนขาดผักคุณภาพกิน ด้วยการตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพื่อปลูกผักส่งเข้าโรงเรียนและจำหน่ายในตำบล

จากจุดเริ่มต้นที่อยากให้นักเรียนในพื้นที่ได้บริโภคอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ซึ่งนอกจากเนื้อสัตว์ต้องสะอาดแล้ว พืชผักที่นำมาประกอบอาหารก็ควรปลอดภัย ไร้สารเคมีเช่นกัน วันนี้จุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้ได้ผลิดอกออกผลจนงอกงาม เนื่องจากคนในตำบลหนองสนิท จังหวัดสุรินทร์ หันมาปลูกผักอินทรีย์จนสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้ และยังก่อให้เกิดกลุ่ม ‘สหกรณ์การเกษตรพืชผักเกษตรอินทรีย์หนองสนิท จำกัด’ ที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้คนในและนอกชุมชนได้บริโภคอีกด้วย 

โดย สมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ เล่าว่า “ในพื้นที่ตำบลหนองสนิท คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เมื่อหมดหน้านาก็ปลูกข้าวโพด เพราะมีรายได้ดี แต่การปลูกให้ปลอดภัยทำได้ยาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่นิยมใช้สารเคมี จึงอยากปรับเปลี่ยนการทำเกษตรให้ปลอดภัยมากขึ้น”

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ สมเกียรติ ระบุว่า มีจำนวน 80 คน ซึ่งต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และกลุ่มสตรีแม่บ้าน “โดยสัดส่วนของกลุ่มสตรีแม่บ้านจะมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้านไม่ได้ เพราะมีภาระต้องดูแลครอบครัว” ซึ่งสมเกียรติย้ำว่า โครงการนี้จะต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายมีอาชีพมั่นคง สุขภาพดี และที่สำคัญคือต้องมีรายได้ทุกวัน

ซึ่งการจะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น ต้องอาศัยกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ เริ่มจากการให้ทุกคนวาดรูปตัวเองและเป้าหมายชีวิต ทั้งรายได้และประเภทของผักที่ต้องการปลูกลงสมุด เพื่อดูว่าพวกเขาต้องการเรียนรู้อะไร หลังจากนั้นจึงพาไปดูงานด้านการปลูกผักอินทรีย์ เพื่อศึกษาวิธีการบริหารจัดการในรูปแบบสหกรณ์ การวางแผนปลูก การตลาด และการรวมกลุ่ม ฯลฯ ซึ่งการดูงานส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายอยากปลูกผักอินทรีย์เพื่อจำหน่ายมากขึ้น

ข้อมูลที่ได้จากกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ ถูกนำมาใช้ออกแบบหลักสูตรการปลูกผักอินทรีย์ จำนวน 10 วัน ซึ่งมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยมีวิทยากรจากปราชญ์ชุมชน, อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสุรินทร์ และศูนย์วิจัยเกษตรจังหวัดสุรินทร์ เข้ามาช่วยดูแล ที่สำคัญคือมีการประสานกับหน่วยงานเอกชนอย่าง Tops Supermarket ที่เข้ามาช่วยแนะแนวองค์ความรู้เรื่องบรรจุภัณฑ์ การเก็บรักษา การตัดแต่ง และการบรรจุ ซึ่งทางหน่วยงานก็ได้ประสานการนำผลิตภัณฑ์ไปจัดจำหน่ายในพื้นที่ซุปเปอร์มาเก็ตต่อไปด้วย

เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ทำกินกว้างขวาง อบต. หนองสนิทจึงจัดสรรพื้นที่สาธารณะจำนวน 9 ไร่ ให้กลุ่มเป้าหมายใช้ปลูกผักร่วมกัน ซึ่งก่อนการลงมือปลูกก็ได้มีการลงไปสำรวจความต้องการพืชผักของตลาด เช่น ร้านอาหารและร้านค้าในพื้นที่ จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นผัก 6 ชนิด ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ต้นหอม และขึ้นฉ่าย

“ภาพที่เห็นชินตาตอนนี้คือ ทุกวันเวลาประมาณตี 4 ผู้สูงอายุหลายคนจะมีความสุขอยู่กับการดูแลแปลงผัก ขณะที่กลุ่มแม่บ้านก็ผลัดเปลี่ยนกันมาบรรจุผักส่ง Tops Supermarket, โรงพยาบาล, โรงเรียน, และร้านหมูกระทะ ซึ่งระหว่างนั้นก็จะมีแม่บ้านนำผักใส่ตะกร้า ทั้งผักบุ้งและคะน้าที่ปลูกในแปลงหลังบ้าน มาส่งให้กลุ่มอยู่เป็นระยะๆ” สมเกียรติ เล่าด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม

เมื่อชาวบ้านเห็นว่าการปลูกผักอินทรีย์ไม่ยาก และสร้างรายได้ สร้างอาชีพได้จริง ทำให้มีคนอยากเข้ามาเป็นสมาชิกของสหกรณ์เพิ่มขึ้น จาก 80 คน เป็น 102 คน ซึ่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นอกจากจะได้ทำงานและได้ดูแลครอบครัวแล้ว ยังมีสุขภาพดีอีกด้วย

มัณทนา พวงจันทร์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ที่หลังจากได้รับความรู้แล้ว เปลี่ยนบทบาทจากกลุ่มเป้าหมายมาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แทน เล่าว่า เธอภูมิใจมากที่ตัวเองสามารถถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นได้ “และดีใจที่ทำให้คนในหมู่บ้านหันมาปลูกผักอินทรีย์ โรคความดันและเบาหวานจะได้ลดลง บางคนแค่เดินออกมาที่แปลงผัก ก็ได้เงินให้ลูกหลานไปโรงเรียนแล้ว

ในขณะที่ แสงดาว พวงจันทร์ ประธานกลุ่มธนาคารผัก เสริมว่า เธอเคยทำงานโรงงานมาก่อน หลังจากนั้นก็ลาออกมาทำนาที่บ้าน ช่วงนั้นเหมือนชีวิตไม่ค่อยมีคุณค่า เพราะทำนาอย่างเดียว เวลาว่างก็จับกลุ่มคุยกัน ไม่มีงานอื่นทำ แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการนี้ ได้มาเจอเพื่อน แม้จะต้องตื่นตี 3 เพื่อรีบทำงานบ้านให้เสร็จ ตี 4 จะได้ออกมาเก็บผัก ก็ทำให้เธอมีความสุขมากขึ้น 

“ตอนนั้นในหมู่บ้านไม่มีงานให้ทำ เราก็ต้องดิ้นรนออกไปหางานทำข้างนอก เพื่อจะได้มีเงินมาจุนเจือครอบครัว แต่โครงการนี้ทำให้เราไม่ต้องออกไปนอกพื้นที่ ขายผักอย่างน้อยก็ได้วันละ 100 บาท ให้ลูกไปโรงเรียน 40 บาท ก็มีเงินเหลือเก็บ แถมยังได้ผักไปทำกับข้าวโดยที่เราไม่ต้องซื้อ และยังทำให้สุขภาพดีอีกด้วย เป็นการทำงานที่สนุกและได้เรียนรู้เยอะมาก”

เรียกได้ว่า จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการให้นักเรียนในพื้นที่ได้บริโภคอาหารปลอดภัย และเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชุมชน วันนี้ แปลงผักอินทรีย์เล็กๆ ในพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ข้างบ้านของคนในชุมชน ได้กลายเป็นแปลงผักขนาดใหญ่ที่คนทั้งตำบลหันมาร่วมไม้ร่วมมือกันผลิต จนเกิดเป็น ‘สหกรณ์การเกษตรพืชผักเกษตรอินทรีย์หนองสนิท จำกัด’ และกลายเป็น ‘พื้นที่ต้นแบบ’ ด้านการปลูกผักอินทรีย์ของจังหวัดสุรินทร์ในที่สุด

“ตอนนั้นในหมู่บ้านไม่มีงานให้ทำ เราก็ต้องดิ้นรนออกไปหางานทำข้างนอก เพื่อจะได้มีเงินมาจุนเจือครอบครัว แต่โครงการนี้ทำให้เราไม่ต้องออกไปนอกพื้นที่ ขายผักอย่างน้อยก็ได้วันละ 100 บาท ให้ลูกไปโรงเรียน 40 บาท ก็มีเงินเหลือเก็บ แถมยังได้ผักไปทำกับข้าวโดยที่เราไม่ต้องซื้อด้วย” แสงดาว พวงจันทร์ ประธานกลุ่มธนาคารผัก หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของโครงการ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาศักยภาพเกษตรกรในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท

  • โทร: 089-2813157
  • ผู้ประสานงาน: นายสมเกียรติ สาระ

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. เกิดคณะทำงานด้านการส่งเสริมอาหารปลอดภัย
  2. เกษตรกรมีความรู้ทักษะในการผลิตอาหารปลอดภัย
  3. ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพและสามารถจำหน่ายได้โดยเชื่อมกับเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียน
  4. เกิดพื้นที่ต้นแบบด้านการผลิตอาหารปลอดภัย

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส