“จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ไม่มองตนเองเป็นคนแก่ไร้สมรรถภาพ มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง…” นี่คือคำถามซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ มนตรี พันธ์กสิกร จากวิทยาลัยชุมชนพิจิตร จังหวัดพิจิตร อาสาเข้ามาทำโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเชิงบูรณาการโดยชุมชนเป็นฐานพัฒนาทักษะอาชีพนวดแผนโบราณของแรงงานผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสนอกภาคการศึกษา
โดยมนตรีเล่าว่า ก่อนที่จะเริ่มดำเนินโครงการ เขาได้ลงพื้นที่สำรวจความต้องการด้านการประกอบอาชีพของคนในชุมชนโพธิ์ทะเลและโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ต้องการฝึกทักษะอาชีพด้านการเกษตร แต่เมื่อสอบถามกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล กลับได้ข้อมูลว่า ยังมีกลุ่มอาชีพนวดแผนไทยจำนวนมากในชุมชน ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เพราะไม่มีใบประกาศนียบัตรรับรอง มนตรีจึงคิดนำฐานความรู้นี้ มาต่อยอดเป็นอาชีพนวดแผนโบราณ
ด้วยโจทย์ของ กสศ. ซึ่งต้องการกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ และผู้ว่างงาน มนตรีจึงใช้กระบวนการหลากหลายรูปแบบ ในการค้นหากลุ่มเป้าหมาย จนสามารถคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ครบ 72 คน จากอำเภอโพธิ์ทะเล 52 คน, และอีก 20 คนกระจายอยู่ในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ตะพานหิน เขาทราย และบางมูลนาก
เมื่อกลุ่มเป้าหมายครบตามเกณฑ์ กระบวนการฝึกอบรมจึงควรจะเริ่มต้น ทว่า การฝึกอบรมก็ต้องหยุดชะงักลง เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คณะทำงานจึงต้องปรับแผนใหม่ เปลี่ยนเป็นจัดอบรมสองรุ่น รุ่นละประมาณ 30 คนแทน เพื่อให้เข้ากับนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้หลักสูตรที่พัฒนามาจากหลักสูตรของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีวิทยากรจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขในจังหวัดพิจิตร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการนวดแต่ละประเภทเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้
หลังจากที่การอบรมผ่านพ้นไป คณะทำงานจึงเชิญผู้ประกอบการร้านนวดเข้ามาพูดคุยเรื่องแนวคิดการให้บริการ ปัญหา และวิธีแก้ไขต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางและสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มเป้าหมายที่อยากประกอบธุรกิจร้านนวด รวมถึงหนุนเสริมความรู้เรื่องการทำบัญชี การตลาด และเชิญแหล่งทุน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.), และธนาคารออมสิน เข้ามาให้ความรู้ด้วย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็นช่องทาง ว่าหากเขาต้องการประกอบธุรกิจของตนเอง จะต้องทำอย่างไร
มนตรีเสริมว่า “หลังฝึกอบรมเสร็จ คณะทำงานก็แนะนำว่า เราควรให้ความรู้เรื่องบัญชีครัวเรือน แนวทางในการประกอบอาชีพ แหล่งเงินทุน โดยมีวิทยากรมืออาชีพเข้ามาให้ความรู้ แต่ที่เราเน้นมากๆ ก็คือการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้เขาเห็นรายรับ-รายจ่ายของเขาว่าเป็นอย่างไร เพราะจะนำไปสู่การปรับพฤติกรรมพื้นฐานของการใช้จ่ายที่รัดกุมขึ้น และเห็นเหตุผลของการสร้างรายได้นั่นเอง”
เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ เรื่องเทคโนโลยีเรียนรู้ได้ช้า มนตรีจึง พยายามมองหาว่า มี ‘เครื่องมือ’ อะไรที่จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้เรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพบ้าง ซึ่งเขาเล่าว่า “ถ้าจะให้ผู้สูงอายุมาเรียนรู้เรื่องการทำเว็บไซต์ก็คงไม่ใช่” จึงหยิบโปรแกรม Kahoot ซึ่งเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้บนแอปพลิเคชั่นมาใช้ โดยใช้วิธีการตั้งคำถาม มีการจับเวลาเหมือนการเล่มเกม ทำให้ผู้สูงอายุเรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น
ด้าน สุภาวดี มาศบาง หนึ่งในคณะทำงาน อธิบายว่า ตอนแรกเธอยึดติดอยู่กับคำว่า ‘ฝึกอบรม’ ว่าเป็นการให้ความรู้แล้วก็จบกันไป แต่หลังจากที่ได้ร่วมโครงการ ก็ทำให้เธอเข้าใจมากขึ้น ว่าการฝึกอบรมต้องสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กลุ่มเป้าหมายได้จริงๆ ซึ่งสุภาวดีกล่าวว่า “มีคำนึงที่สะกิดใจเรามาก นั่นคือ ‘ถ้าเราสอนเด็กให้มีความรู้เป็นแท่งๆ โดยไม่มีการบูรณาการให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วคิดว่าเด็กจะหยิบไปใช้ได้ นั่นแปลว่าเราคิดผิด’ หลังจากนั้นเราเลยบูรณาการความรู้ ใช้วิธีพูดคุยบ่อยๆ ไม่ใช่สอนครั้งเดียวจบเหมือนที่ผ่านมา เช่น ให้อาจารย์ที่สอนบัญชีเข้ามาในชั่วโมงสุดท้ายเพื่อชวนพูดคุย ค่อยๆ พาทำ เพราะบัญชีเป็นเรื่องยุ่งยาก ถ้าเราไม่กระตุ้นให้เขาทำ เขาก็ไม่ทำ”
โดยโครงการนี้ทำให้สุภาวดีค้นพบว่า การฝึกทักษะอาชีพให้คนในชุมชนจะเกิดประโยชน์ ก็ต่อเมื่อถูกกระทำอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เขาสามารถประกอบอาชีพได้จริง ซึ่งเธอได้นำแนวคิดนี้ไปใช้ในงานบริหารวิชาการของวิทยาลัยชุมชนด้วยเช่นกัน
สำหรับความรู้ใหม่ที่ได้รับจากการทำโครงการ มนตรีเล่าว่า สิ่งที่เขาเรียนรู้จากโครงการก็คือ เรื่องของการให้โอกาสคน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เขามีความภูมิใจในอาชีพของตนเอง และวางแผนว่าจะนำความรู้ที่ได้ ไปปรับใช้กับการทำงาน โดยคิดว่าจะมีการจัดทำหลักสูตรอนุปริญญาด้านแพทย์แผนไทย เพื่อยกระดับการนวดแผนไทยสู่การเป็นแพทย์แผนไทยต่อไป
ซึ่งเมื่อถามถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น มนตรีเสริมว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกินความคาดหวังที่ตั้งไว้ (1) คือเขามีอาชีพ เพราะโครงการนี้ช่วยยกอาชีพนวดที่เคยอยู่ใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินได้ (2) กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้นใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกับคนอื่นในสังคม จากผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ที่ขาดโอกาส ก็ทำให้เขาอยู่ในสังคมได้ มีเงินให้ลูกหลานซื้อขนมกินได้ และ (3) กลุ่มเป้าหมายมีความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตนเอง
“โดยนอกจากผลประโยชน์เรื่องรายได้แล้ว การฝึกทักษะอาชีพนวดแผนไทยยังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นอีก นั่นคือ กลุ่มเป้าหมายมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น เจ็บป่วยน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด” มนตรีกล่าว
สมเกียรติ ยอดหาร อายุ 55 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า แต่เดิมเขาเคยรับจ้างนวดอยู่ในชุมชน มีคนจ้างก็ไป แต่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ พอเห็นโครงการนี้เปิดรับสมัครจึงสนใจ เพราะอยากมีความรู้ จะได้มีงาน มีเงินเลี้ยงตนเอง ซึ่งหลังจากที่ฝึกอบรมกับโครงการเสร็จ ก็รวมกลุ่มกับเพื่อนอีกสี่คนเปิดร้านนวดอยู่ที่วัดไชยมงคลมาได้ 8 เดือนแล้ว ซึ่งมีลูกค้าทุกวัน จากการโฆษณาออนไลน์และการบอกกันปากต่อปาก
“โครงการนี้ทำให้เรามีทักษะการนวดเพิ่มขึ้นมาก รู้ว่านวดแบบไหนรักษาอาการอะไร เป็นการนวดตามอาการ นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้เรื่องการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำเดือน เราจะได้รู้ว่าวันไหนจ่ายเท่าไร ได้เท่าไร ทำให้เรารู้วิธีเก็บเงิน ไม่ใช่มีเท่าไรก็ใช้ไปเรื่อยเหมือนที่ผ่านมา” สมเกียรติกล่าว
ซึ่งนี่คือตัวอย่างของการสร้างอาชีพให้สังคมสูงวัย ที่มีฐานทุนของชุมชนเป็นแรงเสริม ทั้งทุนความรู้จากวิทยาลัยชุมชนพิจิตร ทุนข้อมูลจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และทุนจากความทุ่มเทแรงกายแรงใจของเหล่าผู้สูงอายุในพื้นที่ที่ต้องการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ตนเอง ได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีเทียบเท่าคนอื่นในสังคม
“มีคำนึงที่สะกิดใจเรามาก นั่นคือ ‘ถ้าเราสอนเด็กให้มีความรู้เป็นแท่งๆ โดยไม่มีการบูรณาการให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วคิดว่าเด็กจะหยิบไปใช้ได้ นั่นแปลว่าเราคิดผิด’ หลังจากนั้นเราเลยบูรณาการความรู้ ใช้วิธีพูดคุยบ่อยๆ ไม่ใช่สอนครั้งเดียวจบเหมือนที่ผ่านมา เช่น ให้อาจารย์ที่สอนบัญชีเข้ามาในชั่วโมงสุดท้ายเพื่อชวนพูดคุย ค่อยๆ พาทำ เพราะบัญชีเป็นเรื่องยุ่งยาก ถ้าเราไม่กระตุ้นให้เขาทำ เขาก็ไม่ทำ” สุภาวดี มาศบาง หนึ่งในคณะทำงาน
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาทักษะอาชีพนวดแผนไทยของแรงงานสูงอายุและผู้ด้อยโอกาส
วิทยาลัยชุมชนพิจิตร
- โทร: 081-4610129
- ผู้ประสานงาน: นายมนตรี พันธ์กสิกร
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ ผลผลิต แรงงานสูงอายุและแรงงานด้อยโอกาสนอกภาคการศึกษามีทักษะฝีมือแรงงานนวดแผนไทยที่ได้รับการรับรองทักษะฝีมือ สามารถสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส