แม้ว่าในอดีต ‘บ้านเลาวู’ จะเคยเลี้ยงชีพด้วยการปลูกฝิ่น แต่ทุกวันนี้ได้พลิกฟื้นผืนดินสู่ ‘ถิ่นกาแฟอาราบิก้า’ แหล่งผลิตกาแฟชั้นดีซึ่งอัดแน่นด้วยคุณภาพและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ แต่น่าเสียดายที่แม้ว่าเมล็ดพันธุ์กาแฟของบ้านเลาวูจะโดดเด่นเพียงไร ชาวบ้านส่วนใหญ่กลับขายได้แต่เมล็ดกาแฟสดเท่านั้น ซึ่งมีราคาเพียง 20 บาท/กิโลกรัม
วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ จึงจัดทำโครงการพัฒนาเเละยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยขึ้น เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ ความเข้าใจในการปลูกและแปรรูปกาแฟอย่างครบวงจร ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรและผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่
สราวุฒิ ภมรสุจริตกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู เล่าว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น และหวังว่าการปลูกกาแฟจะช่วยรักษาป่าชุมชน และฟื้นฟูทรัพยากรให้กลับมาสมบูรณ์ โดยตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ 150 คน ซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสและผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้มีรายได้ไม่แน่นอนจากการทำเกษตร และผู้ปลูกกาแฟเดิมที่ขาดทักษะ
กระบวนการทำงานเริ่มต้นจาก ‘เวทีวิเคราะห์ปัญหา’ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายสำรวจตนเองและปัญหาของชุมชน ว่าปัญหาของชุมชนคืออะไร, จะแก้ปัญหานั้นๆ ได้อย่างไร, และถ้าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงๆ ภายในระยะเวลาห้าปี ต้องทำอย่างไร ซึ่งสราวุฒิอธิบายว่า “สิ่งที่จะช่วยให้พวกเขามีชีวิตดีขึ้นมี 4 เรื่องหลักๆ (1) คือการสร้างโรงงานกาแฟ (2) คือการพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค (3) คือการปลูกพืชชนิดใหม่ที่ไม่ใช่กะหล่ำ และ (4) คือการแปรรูปผลผลิตจากพืชผัก ซึ่งได้ข้อสรุปว่าควรเดินหน้าเรื่องกาแฟก่อน เพราะเป็นความต้องการของชาวบ้าน และสอดคล้องกับเป้าหมายโครงการที่มุ่งส่งเสริมการทำกาแฟแบบครบวงจร”
ทั้งนี้ การผลิตกาแฟให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี ต้องเริ่มตั้งแต่ ‘กระบวนการปลูก’ คณะทำงานจึงจัดอบรมการปลูกกาแฟ และการดูแลรักษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยมีอาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากร
สมัยก่อน เมื่อต้นกาแฟออกดอกออกผล ชาวบ้านจะเก็บผลกาแฟขายทันที โครงการจึงพยายามเสริมทักษะ ‘การแปรรูปกาแฟ’ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผลผลิตกาแฟมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยมี ชาตรี บุญช้างเที้ยน เป็นวิทยากร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รางวัลอันดับ 1 และ 4 จากเวทีแข่งขัน Thailand Coffee Fest
หลังจากที่นำเมล็ดกาแฟมาแปรรูปด้วยการตากแดดแล้ว กลุ่มเป้าหมายต้องนำเมล็ดกาแฟมาสี หรือกระเทาะเปลือกออกก่อน จากนั้นจึงค่อยเรียนรู้ ‘การคัดแยกเกรดเมล็ดกาแฟ’ ต่อ โดยมี จิรพรรณ ประกอบกิจ หนึ่งในคณะทำงานที่ผ่านการอบรมเรื่องการคัดแยกเกรดเมล็ดกาแฟ เป็นวิทยากร
ทั้งนี้ กว่าที่จะนำเมล็ดกาแฟมาทำเป็นเครื่องดื่มได้ จะต้องผ่านกระบวน ‘การคั่ว’ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อน โดยมี อาจารย์นเรศ ปินตาเลิศ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นวิทยากร นอกจากนี้ คณะทำงานยังชักชวน ธีรศักดิ์ ภมรสุจริตกุล รุ่นน้องในชุมชน มาสอนวิธีการนำวัสดุที่เหลือจากการทำกาแฟ เช่น ใบกาแฟ ดอกกาแฟ และเปลือกกาแฟ มาอบแห้งเพื่อทำชา ซึ่งนอกจากจะเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนเพื่อลดรายจ่ายแล้ว ยังจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย
แม้ว่าโครงการจะยังไม่สิ้นสุด แต่ก็มีกลุ่มเป้าหมายหลายคนเริ่มนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปพัฒนาผลผลิตกาแฟของตนเองแล้ว ดังเช่น อะสะผากา จือจา หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ที่เล่าว่าสมัยที่ปลูกกะหล่ำ ปลูกข้าว รายได้ไม่แน่นอน บางปีก็ขายไม่ได้จนขาดทุน เมื่อเห็นโครงการประกาศรับสมัคร ก็เลยสนใจการปลูกกาแฟ
“ซึ่งพอได้เรียน ก็ได้ความรู้เรื่องการผลิตกาแฟเยอะมาก และรู้สึกว่าการแปรรูปไม่ได้ยากอย่างที่คิด เมื่อก่อนคิดว่าการจะปลูกกาแฟต้องมีความรู้ ต้องมีต้นทุน ทำได้ยาก แต่พอได้มาอบรม ก็ได้ลองคัดแยกเมล็ดกาแฟเอง ได้ลองดูผลผลิตของตัวเอง ว่ามีคุณภาพแค่ไหน พอรู้จักเลือกเก็บและคัดเมล็ดกาแฟก็ขายได้ราคาดีขึ้น จากกิโลกรัมละ 16 บาท เป็น 19 บาท มีรายได้เพิ่มมา 9,000 บาท” อะสะผากาเล่า
และเมื่อชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟมากขึ้น การตัดไม้ทำลายป่าก็ลดลง เนื่องจากกาแฟไม่ต้องการพื้นที่สำหรับปลูกเหมือนข้าวโพด ทำให้พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น โครงการนี้จึงมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าด้วยอีกประการหนึ่ง
ผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่เห็นได้ชัดก็คือ ชาวบ้านมีกระแสตอบรับเกี่ยวกับการพัฒนาชีวิตของเขาดีขึ้นมาก จากที่เคยปลูกแต่กะหล่ำ ตอนนี้ก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นดัชนีที่ชี้ว่ารายได้ของชาวบ้านมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เป็นความคาดหวังของโครงการในระยะยาว นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ มุมมองของชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนไป จากที่ต้องซื้อชากิน ตอนนี้ก็เริ่มผลิตเอง เริ่มเรียนรู้ว่าส่วนที่เหลือจากการทำกาแฟสามารถแปรรูปได้
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเนื่องจากโครงการ ใช่มีเพียงคุณภาพชีวิตของชาวบ้านเลาวูที่ดีขึ้น และพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น แต่คณะทำงานยังยืนยันว่า ศักยภาพของพวกเขาเองก็พัฒนาขึ้นอย่างมหาศาลเช่นกัน
ซึ่งสราวุฒิเล่าว่า “ผมใช้คำว่า ‘มหาศาล’ จริงๆ เพราะเป็นสิ่งที่เราอยากทำ อยากเห็นชุมชนเติบโตขึ้น แต่ถ้าเราทำคนเดียว หรือว่าเราใช้งบตัวเอง ก็ไม่รู้ว่าอีกกี่สิบปี ถึงจะเกิดภาพนี้ได้ การทำโครงการนี้ทำให้เราเข้าถึงชุมชนมากขึ้น ได้ฝึกการทำงาน น้องในทีมหลายคนไม่กล้าพูดต่อหน้าสาธารณะ ก็มีโอกาสได้พูด และก็ได้ฝึกทำงานเป็นทีม ได้บริหาร จัดการ และวางแผนด้วยตนเอง จึงได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือแรงผลักดันที่ทำให้ทุกคนเติบโต”
เรียกได้ว่า นอกจากโครงการนี้จะช่วยพัฒนากลุ่มเป้าหมายได้ตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้แล้ว ยังช่วยพัฒนาและยกระดับทักษะของคณะทำงานควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ดีจากการร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ให้ทุกฝ่ายต่างมีภูมิคุ้มกันซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนและมั่นคง
“ซึ่งพอได้เรียน ก็ได้ความรู้เรื่องการผลิตกาแฟเยอะมาก และรู้สึกว่าการแปรรูปไม่ได้ยากอย่างที่คิด เมื่อก่อนคิดว่าการจะปลูกกาแฟต้องมีความรู้ ต้องมีต้นทุน ทำได้ยาก แต่พอได้มาอบรม ก็ได้ลองคัดแยกเมล็ดกาแฟเอง ได้ลองดูผลผลิตของตัวเอง ว่ามีคุณภาพแค่ไหน พอรู้จักเลือกเก็บและคัดเมล็ดกาแฟก็ขายได้ราคาดีขึ้น จากกิโลกรัมละ 16 บาท เป็น 19 บาท มีรายได้เพิ่มมา 9,000 บาท” อะสะผากา จือจา หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาเเละยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยโดยการส่งเสริมพัฒนากาเเฟครบวงจรบ้านเลาวู
วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง
- โทร: 063-9844777
- ผู้ประสานงาน: นายสราวุฒิ ภมรสุจริตกุล
เป้าประสงค์
- กลุ่มเป้าหมายมีรายได้และมีอาชีพเพิ่มขึ้นจากการแปรรูปกาแฟ
- กลุ่มเป้าเหมายแบ่งกาแฟเชอร์รี่ส่วนหนึ่งมาแปรรูปเป็นกาแฟกะลา และกาแฟสาร
- กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการแปรรูปกาแฟตามความต้องการของวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง และบริษัทที่ทำกาแฟ
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส