Banner
ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า
เชียงใหม่

ศูนย์เรียนรู้โจ๊ะมาโลลือหล่าเปิดห้องเรียนการทำร้านค้าออนไลน์ เติมทักษะให้นักเรียนสามารถหารายได้เข้าสู่ชุมชน

ความยากลำบากของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ไม่เพียงต้องต่อสู้กับอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา ทั้งต้องเดินทางไกล การขาดแคลนทรัพยากร และครูผู้สอนเท่านั้น ทว่าเมื่อเรียนรู้จนเติบใหญ่ก็ยังไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เพราะยังขาดโอกาสในการสร้างอาชีพ ด้วยปัญหาการออกนอกพื้นที่ การแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง ประกอบกับโลกในยุคปัจจุบันที่ต้องเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ โรคระบาด และสิ่งแวดล้อม 

การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถดึงคุณค่าจากฐานทุนของชุมชนมาสู่การสร้างอาชีพ ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีที่สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงเป็นทางออกที่จะช่วยให้เยาวชนบนขุนเขาพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า แห่งชุมชนปกาเกอะญอ บ้านสบลาน ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ริเริ่มทำโครงการสร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ของศูนย์การเรียนชนเผ่า โดยมุ่งหวังเติมทักษะความรู้และกลไกด้านการตลาด ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีด้านสารสนเทศที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมร้านค้าออนไลน์ของศูนย์การเรียนให้เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนและสร้างอาชีพให้แก่คนในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยความพิเศษของศูนย์การเรียนแห่งนี้ ไม่เพียงเป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้นจากธารน้ำใจสู่เด็กชนเผ่าในถิ่นทุรกันดาร แต่การเรียนการสอนที่นี่ยังถูกออกแบบให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน รวมถึงเชื่อมโยงสู่การสร้างองค์ความรู้ให้เด็ก ๆ พร้อมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า จึงได้ตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ 60 คน ครอบคลุมใน 3 พื้นที่ ได้แก่ (1) ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า จังหวัดเชียงใหม่ (2) ศูนย์การเรียน มอวาคี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้งสองพื้นที่นี้อยู่ในชุมชนที่ไม่มีโรงเรียนของรัฐเข้าถึง คนในชุมชนแทบไม่มีรายได้และเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ (3) ศูนย์การเรียนม่อนแสงดาว จังหวัดเชียงราย ที่ดูแลเยาวชนชนเผ่ากลุ่มเสี่ยงและขาดโอกาสทางการศึกษา

จากนั้น กลุ่มเป้าหมายจึงเข้ารับการอบรมการเรียนรู้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย Community-based, Problem based และ Project based ซึ่งเป็นฐานที่จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จักค้นหาตัวเอง ค้นหาความชอบ ความถนัด โดยอิงฐานชุมชนเป็นหลัก ก่อนจะมีการเข้ารับการอบรมการทำสื่อการตลาดออนไลน์ บนช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่างๆ 

ส่งผลให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของชุมชนปกาเกอะญอ ทั้งผ้าทอมือสีธรรมชาติ เสื้อ ผ้าพันคอ กระเป๋า สมุดบันทึกที่ทำมือจากผ้าทอมือ โปสการ์ด ปฏิทิน ของเล่น น้ำผึ้ง ผ้าขาวม้า ข้าวอินทรีย์ และหน้ากากอนามัยแบบผ้า เริ่มมีการวางจำหน่ายแล้วบนเพจเฟซบุ๊กภายใต้ชื่อ ‘JOA IDEE (โจ๊ะ ไอดี)’ และ เว็บไซต์ ‘JOAIDEE.org’ รวมทั้งยังเตรียมพัฒนา ‘แอปพลิเคชัน’ เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากวิถีชุมชนอีกด้วย แม้วันนี้การขายผลิตภัณฑ์บนโซเชียลมีเดียจะยังสร้างผลกำไรได้ไม่มากนัก แต่ถือเป็นรายได้ที่ช่วยให้กลุ่มเยาวชนปกาเกอะญอสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า จึงนับเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งแรกที่ลุกขึ้นมาพัฒนาเป็นผู้ประกอบการสังคมที่เหมาะสมกับศูนย์การเรียนชนเผ่า ที่พร้อมช่วยพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ให้สามารถดึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นอาชีพ เพื่อสร้างรายได้กับให้กับตนเองและชุมชนอย่างผาสุกและยั่งยืน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

สร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ของศูนย์การเรียนชนเผ่า

ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า

  • โทร: 081-6483264
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวอรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์

เป้าประสงค์

  1. สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
  2. สร้างโอกาสที่เสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาอาชีพให้กับเยาวชนในชุมชนในพื้นที่ห่างไกล

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส