ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสของการทำเกษตรอินทรีย์แพร่หลาย และได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น จึงเลือกที่จะบริโภคผักผลไม้ปลอดสารพิษ ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม
‘สถานธรรมไท่ซิวเอวี๋ยน’ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี จึงนำเรื่อง ‘เกษตรอินทรีย์’ มาถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ให้ชาวบ้าน โดยมีเป้าหมายคือ ให้คนในชุมชนมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และได้องค์ความรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์มาต่อยอดจากฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานรากที่แฝงด้วยหลักธรรมจากพุทธศาสนา
พาฝัน ไพรเกษตร หนึ่งในสมาชิกของครอบครัวผู้ก่อตั้งสถานธรรมไท่ซิวเอวี๋ยน เล่าว่า หลังจากที่สถานธรรมแห่งนี้กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน จากทั้งอำเภอบ่อพลอยและอำเภอหนองปรือแล้ว เธอเริ่มสังเกตได้ว่า ญาติธรรม (คนที่เข้ามาปฏิบัติธรรม) ส่วนใหญ่จะเข้ามาด้วยความทุกข์ใจ จากปัญหาการขาดรายได้ ซึ่งเกิดขึ้นกับญาติธรรมหลายคน พวกเขาล้วนหวังพึ่งธรรมะเพื่อเยียวยาจิตใจ แต่กระนั้น ปัญหาการขาดรายได้ก็ยังคงอยู่ต่อไป
จากการมองเห็นปัญหาที่เหล่าญาติธรรมต่างๆ ต้องเผชิญ พาฝันจึงใช้ความรู้ความสามารถที่เคยทำงานกับองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่มีพันธกิจขับเคลื่อนประเด็นภาระหนี้ของชาวนา ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับพื้นที่แห่งนี้มาประยุกต์ จนเกิดเป็น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยพอใจในวิถีพอเพียง
ด้วยเป้าหมายที่อยากยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายทั้ง 50 คน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองรีและตำบลหนองกร่าง อำเภอบ่อพลอย, และตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ โดยการเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรทั่วไปมาเป็นเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
หลังจากที่ประชุมและทำความเข้าใจหลักสูตรการฝึกอบรม และเลือกวิทยากรที่จะเข้ามาหนุนเสริมองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายเสร็จแล้ว พาฝัน บอกว่า สิ่งหนึ่งที่คณะทำงานทุกคนเห็นพ้องต้องกัน คือการ ‘ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ซึ่งในที่นี้หมายถึง การเฟ้นหาผู้มีความรู้ความสามารถในชุมชน เพื่อให้เกิดสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน ระหว่างวิทยากรกับกลุ่มเป้าหมาย และยังสะท้อนถึงการทำงานแบบภาคีเครือข่ายร่วมกับชุมชน เช่น ให้อาจารย์สุธรรม ใจอ่อน และคณะจากศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงปลักไม้ลาย มาเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์
นอกจากนี้ ยังมีการอบรมการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ยาไล่แมลงแบบอินทรีย์ รวมทั้งอบรมการเพาะต้นอ่อนแต่ละชนิด เช่น ต้นกล้าอ่อนทานตะวัน ผักบุ้ง และถั่วงอก เนื่องจากเป็นพืชระยะสั้น มีต้นทุนต่ำ โดยโครงการจะมีเมล็ดพันธุ์ไว้แจกจ่ายให้กลุ่มเป้าหมายนำไปปลูก ซึ่งสามารถนำไปปลูกสำหรับบริโภคเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน หรือจำหน่ายก็ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ระหว่างที่กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์เรียบร้อยแล้ว คณะทำงานจะแฝงหลักธรรมคำสอน เรื่องการไม่เบียดเบียนผู้อื่น และการค้าขายโดยสุจริต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการไม่ใช้สารเคมีเพื่อทำร้ายสุขภาพผู้อื่น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายปฏิบัติตามหลักธรรมจากพุทธศาสนาอีกด้วย
เมื่อได้รับการหนุนเสริมองค์ความรู้ ตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ และ ‘กลางน้ำ’ แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ความรู้เหล่านี้ ‘กินได้’ อย่างต่อเนื่องและมั่นคง ก็คือขั้นตอนที่ ‘ปลายน้ำ’ นั่นคือการสร้างช่องทางการขายหรือการตลาด ที่จะรองรับสินค้าที่เกิดจากการแปรรูปจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชุมชน เช่น กล้วยอบกรอบ ชาสมุนไพร ครีมนวดผมจากมะกรูด เป็นต้น
ด้วยกระแสของ e-commerce หรือ การค้าออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทั้งยังส่งผลให้ผู้ขายสามารถขยายฐานลูกค้าของตนเองไปได้ไกลขึ้น ซึ่งนั่นอาจหมายถึง การซื้อขายข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด หรือแม้กระทั่ง ข้ามประเทศ พาฝัน จึงเลือกนำหลักสูตรการตลาดออนไลน์มาเติมความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ จากความรู้และประสบการณ์ที่เคยทำเพจขายสินค้าออนไลน์ และยังจัดตั้งเพจเฟซบุ๊ก ไว้รองรับสินค้าของกลุ่มเป้าหมายทุกคน
ฐิญกานต์ รื่นบุตร หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า ความสำเร็จของโครงการทำให้เธอมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีรายได้เพียงวันละ 100-300 บาท แต่มันก็เข้ามาอย่างต่อเนื่องในทุกครั้งที่เปิดดูยอดสั่งซื้อ ทำให้เธอมีรายได้ไว้ใช้จ่ายในครัวเรือน นอกจากนี้ เธอยังสามารถนำผลผลิตที่ได้มาบริโภคเองในครัวเรือน ซึ่งช่วยลดรายจ่ายได้จำนวนหนึ่ง ทำให้เธอสามารถสร้างรายได้จากถิ่นฐาน ไม่ต้องออกไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ
“เมื่อก่อน เราเคยจากบ้านจากครอบครัวไปนานถึง 10 ปี เพื่อไปหางานทำ แต่พอแต่งงานเราก็ย้ายกลับมาอยู่บ้าน ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องรายได้ แต่พอโครงการนี้เข้ามา ก็เป็นเหมือนความหวังที่เกิดขึ้นในใจ เขาสอนวิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี และสอนให้ทำเกษตรอินทรีย์แทน ทั้งยังสอนเรื่องการแปรรูปอาหารจากผลผลิตที่เราปลูก จึงสร้างรายได้จากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่มาก แต่เราก็สามารถทำที่บ้านได้ กลายเป็นว่าเราไม่ต้องห่างจากครอบครัวอีกต่อไป ความสุขเพียงเท่านี้เราก็ไม่ต้องการสิ่งใดอีกแล้ว”
การคิดดี พูดดี คือพื้นฐานของการทำความดี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมะที่คณะทำงานไม่ลืมที่จะสอดแทรกให้กลุ่มเป้าหมายในทุกๆ ฐานการเรียนรู้ และทุกกิจกรรม จนสามารถดำเนินมาถึงเส้นชัย และทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถสร้างรายได้จากองค์ความรู้ที่ได้รับ ล่าสุด สถานธรรมแห่งนี้ยังต่อยอดโครงการขึ้นอีกขั้น ด้วยการจัดตั้งเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนพอใจในวิถีพอเพียง’ ได้สำเร็จ
ซึ่ง พาฝัน เล่าว่า การได้รับการสนับสนุนจากทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน คือ ‘หัวใจสำคัญ’ ที่ทำให้เกิดการรวมตัว เกิดการขับเคลื่อนต่างๆ เหล่านี้ได้ และมุ่งหวังให้ผลสำเร็จนี้เป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นเรียนรู้เป็นแนวทางต่อไป เพื่อที่คนในชุมชนจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่ไปกับหลักธรรมในหัวใจ
“เมื่อก่อน เราเคยจากบ้านจากครอบครัวไปนานถึง 10 ปี เพื่อไปหางานทำ แต่พอแต่งงานเราก็ย้ายกลับมาอยู่บ้าน ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องรายได้ แต่พอโครงการนี้เข้ามา ก็เป็นเหมือนความหวังที่เกิดขึ้นในใจ เขาสอนวิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี และสอนให้ทำเกษตรอินทรีย์แทน ทั้งยังสอนเรื่องการแปรรูปอาหารจากผลผลิตที่เราปลูก จึงสร้างรายได้จากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่มาก แต่เราก็สามารถทำที่บ้านได้ กลายเป็นว่าเราไม่ต้องห่างจากครอบครัวอีกต่อไป ความสุขเพียงเท่านี้เราก็ไม่ต้องการสิ่งใดอีกแล้ว” ฐิญกานต์ รื่นบุตร หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย พอใจในวิถีพอเพียง
สถานธรรมไท่ซิวเอวี๋ยน
- โทร: 094-9962930
- ผู้ประสานงาน: นางสาวพาฝัน ไพรเกษตร
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ หากกลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านมีโอกาสได้รับการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม ทุกคนมุ่งมั่นที่จะยกระดับความเป็นอยู่ในครอบครัว มุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว ก่อเกิดทัศนคติของการดำรงชีวิตอย่างถูกต้องชัดเจน สร้างสรรค์คุณค่าชีวิตตน จะรู้จักรักสรรพชีวิต สรรพสิ่ง รู้จักถนอมรักษาบุญกุศล รู้จักสำนึกคุณ ถนอมรักษาทุกอย่างที่มี ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ได้อย่างมีความสุข โดยมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ด้วยการมีวิถีชีวิตที่พอเพียง
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส