ปั้นแรงงานฝีมือ ‘ช่างเชื่อมสแตนเลส’ รับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม
หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวผ่านไปเกษตรกรส่วนหนึ่งในพื้นที่มักผันตัวเองจาก ‘เกษตรกร’ ไปเป็น ‘แรงงาน’ รับจ้างชั่วคราวค่าแรงต่ำ ทำงานแบกหามเพราะไม่มีฝีมืองานช่าง หรือบางคนกลายเป็น ‘ผู้ว่างงานตามฤดูกาล’ ซึ่งยังต้องแบกรับภาระดูแลครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและคนในพื้นที่ให้เป็น ‘แรงงาน (ที่มี) ฝีมือ’ จึงเป็นทางออกในการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในจังหวัดเอง โดยเฉพาะ ‘ช่างเชื่อมสแตนเลส’ หนึ่งในทักษะอาชีพซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานจังหวัดนครพนมในปัจจุบัน
งานเชื่อมสแตนเลส คืองานที่ยกระดับขึ้นมาจากงานเชื่อมด้านอื่นๆ ทำให้อัตราค่าแรงสูงกว่าช่างเชื่อมและแรงงานทั่วไป โครงการจึงมีเป้าหมายในการฝึกอบรมทักษะการเชื่อมสแตนเลสให้กับประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาสในพื้นที่
โครการพัฒนาทักษะอาชีพช่างเชื่อมสแตนเลสให้กับประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดนครพนม จึงเกิดขึ้นโดยมีการคัดเลือกสมาชิกที่มีคุณสมบัติเป็น ‘ผู้ว่างงานตามฤดูกาล’ และเป็น ‘ผู้ขาดทักษะฝีมือด้านอาชีพที่ต้องการพัฒนาฝีมือแรงงาน’ ไม่จำเป็นต้องมีทักษะด้านงานเชื่อมมาก่อน จากพื้นที่ดำเนินงาน 6 แห่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วยอำเภอเมือง อำเภอเรณูนคร และอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม แบ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายจากองค์การบริหารส่วนตำบล 5 แห่ง และเทศบาล 1 แห่ง ครอบคลุมเครือข่ายเป้าหมายพื้นที่บริการวิชาการเดิมของมหาวิทยาลัยนครพนม ได้แก่ 1) องค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ 2) องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง 3) องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง 4) องค์การบริหารส่วนตำบลโคกหินแฮ่ 5) องค์การบริหารส่วนตำบลโนนตาล และ 6) เทศบาลตำบลเวินพระบาท โดยให้หน่วยงานท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ช่วยคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายพื้นที่ละ 25 คน รวมทั้งสิ้น 150 คน
หลังจากนั้นจึงร่วมกันร่างหลักสูตรโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคีเครือข่าย กลุ่มเป้าหมายได้มีส่วนร่วมพิจารณาร่างหลักสูตรและให้ข้อเสนอแนะ แล้ววิพากษ์อีกครั้งในคณะทำงานก่อนออกมาเป็นหนังสือคู่มือหลักสูตรการพัฒนาทักษะอาชีพช่างเชื่อมสแตนเลส ระยะเวลา 5 วัน ทั้งหมด 40 ชั่วโมง แบ่งเป็น 3 หน่วย ได้แก่
หน่วยที่ 1 การสร้างแรงบันดาลใจ มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายเห็นภาพว่าการฝึกอบรมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมอย่างไรบ้าง และเห็นแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคต เช่น ช่างเชื่อมหากมีเครื่องไม้เครื่องมือสามารถเป็นผู้รับเหมารายย่อยได้ ฤดูกาลทำนาที่มีเครื่องจักรกลทางการเกษตรชำรุดก็สามารถรับงานได้ หรือแม้แต่การซ่อมแซมหลังคาบ้านเรือน และการยกระดับตัวเองเป็นแรงงานฝีมือที่ได้ค่าจ้างรายวันเพิ่มขึ้น เป็นต้น
หน่วยที่ 2 การอบรมเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.การเชื่อมพื้นฐานด้านงานเหล็ก ใช้เวลา 2 วัน 2. การเชื่อมสแตนเลสและการสร้างผลิตภัณฑ์ ใช้เวลา 3 วัน กลุ่มเป้าหมายของโครงการมีทั้งกลุ่มผู้ว่างงานตามฤดูกาลซึ่งอาจเป็นเกษตรกรที่ไม่เคยทำงานช่างมาก่อน หรือเป็นกลุ่มแรงงานที่พอมีทักษะงานช่างอยู่บ้าง การออกแบบหลักสูตรครอบคลุมและเอื้อให้ผู้เรียนที่มีพื้นฐานความรู้และทักษะงานช่างแตกต่างกันเข้ามาเรียนร่วมกันได้
หน่วยที่ 3 การเป็นผู้ประกอบการชุมชน การให้แนวคิดการทำธุรกิจหรือการเป็นเจ้าของกิจการเบื้องต้น
โดยหลังจากอบรมครบทั้งหมดแล้ว ผู้จบหลักสูตรจะได้ประกาศนียบัตรรับรองโดยคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม นำไปใช้ประกอบการสอบยกระดับกับสำนักพัฒนาฝีมือแรงงาน และเทียบหน่วยกิจเพื่อเข้าศึกษาต่อในระบบ กศน. ได้อีกด้วย
ธนกร เสนาสี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายเล่าถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการว่า “การอบรมแค่ 5 วัน ทำให้เราสร้างงานชิ้นหนึ่งขึ้นมาได้ ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่สุดยอดมาก ก่อนเข้ามาฝึกงานเชื่อม ผมมีอุปกรณ์ เช่น ปั้มลมและเครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้เปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ พอได้เข้าโครงการ แต่ละกลุ่มได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์การเชื่อม ผมจึงสามารถรวมกลุ่มกันทำงานต่อ โดยไม่ได้รับซ่อมมอเตอร์ไซค์อย่างเดียว แต่รับซ่อมแซมเครื่องมือการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย”
เมื่อโครงการสิ้นสุดแล้ว หน่วยงานพัฒนาจึงได้พบว่าความสำเร็จของโครงการไม่ใช่แค่การที่กลุ่มเป้าหมายสามารถฝึกฝนจนจบหลักสูตรได้เท่านั้น แต่พวกเขายังสามารถนำเอาทักษะความรู้ไปประยุกต์ต่อยอดกับอาชีพเดิมของตนเองและก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงเกิดการจับกลุ่มกันขึ้นระหว่างการอบรม ซึ่งเมื่อจบหลักสูตรไปแล้ว พวกเขาสามารถไปสร้างกิจการร่วมกันโดยมีความมั่นคงมากขึ้นได้
ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของโครงการฯ จึงเสมือนเป็นการเติมเต็มจุดอ่อนและเสริมสร้างจุดแข็งให้กับกลุ่มเป้าหมายทุกคน ไม่ว่าแต่ละคนจะเคยทำอาชีพอะไรมาก่อนก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาโดยไม่ละทิ้งวิถีเดิมแต่เพิ่มเติมทักษะใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของนั้นสามารถทำได้จริงและสร้างประโยชน์ได้จริง
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การพัฒนาทักษะอาชีพช่างเชื่อมสแตนเลสให้กับประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัด นครพนม
คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม
- โทร: 084-6012183
- ผู้ประสานงาน: นายบุญเลิศ โพธิ์ขำ
เป้าประสงค์
- สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพและ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
- ผู้ที่ผ่านการอบรม การพัฒนาทักษะอาชีพช่างเชื่อมสแตนเลส รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ สู่Thailand 4.0 สามารถไปขอเข้ารับการทดสอบยกระดับฝีมือแรงงาน จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้
- เกิดการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนครพนม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน วิทยาลัยเทคนิคนครพนม และ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม ในการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 ให้ได้มาตรฐานและสามารถสร้างความเข้มแข็งด้านการแข่งขันในตลาดแรงงานได้
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส