Banner
วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส
นราธิวาส

‘เปลี่ยนงานอดิเรกให้เป็นรายได้’ วิทยาลัยชุมชนนราธิวาสผุดโครงการพัฒนาฝีมือตัดเย็บเสื้อให้กลุ่มสตรีฯ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือน

“จากเดิมที่เคยเย็บผ้าอยู่กับพี่สาว มีรายได้ประมาณ 4,000-5,000 บาท ก็เพิ่มเป็น 10,000 บาท เดือนแรกที่ได้เงินมาร้องไห้เลย เพราะทำให้เรามีเงินเป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน อยากบอกว่า มีความสุขมากที่ได้เข้ามาร่วมงานที่นี่ มีความสุขจริงๆ” นี่คือคำบอกเล่าของ นูรียานี สามะ อายุ 39 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของโครงการแฮนด์อินแฮนด์รือเสาะ สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน ที่พยายามเรียนรู้จนสามารถเข้าทำงานในโรงงานแฮนด์อินแฮนด์รือเสาะได้ 

ทั้งนี้ วิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม นายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส อธิบายว่า โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าปราศจากความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคีภายนอกต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือต้องการให้ประชาชนมีงานทำ จะได้ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานไปทำงานนอกพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อครอบครัว 

โดย วิเชษฐ์ ขยายว่า “พื้นที่ชายแดนภาคใต้ มีกลุ่มสตรีมุสลิมที่เชี่ยวชาญการในการตัดเย็บ เราจึงใช้การตัดเย็บเสื้อผ้ามาเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการส่งเสริมอาชีพตั้งแต่ปี 2552 จนถึงขนาดสร้างเป็นโรงงานอุตสาหกรรม (โรงงานแฮนด์อินแฮนด์) ขึ้นในพื้นที่เลย เมื่อเข้าอบรมเสร็จแล้วจะได้มีงานรองรับทันที ระยะแรกให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ ใช้การตลาดนำการผลิต แต่ทำได้ 2-6 ปี บริษัทเอกชนก็ขอถอนตัว ด้วยเหตุผลด้านการตลาด และไม่มีผู้บริหารอยากลงมาทำงานในพื้นที่ชายแดนภาคใต้”

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการอำนวยการจึงจัดตั้ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแฮนด์อินแฮนด์รือเสาะ ขึ้นในปี 2559 และเปลี่ยนมาให้ชุมชนเป็นคนบริหารจัดการแทน เพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืน แต่การตัดเย็บเสื้อผ้าต้องใช้ทักษะฝีมือค่อนข้างสูง วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส จึงเห็น ‘โอกาส’ ในการเข้ามาช่วยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จึงเกิดเป็นโครงการแฮนด์อินแฮนด์รือเสาะ สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน นี้ขึ้นมา 

“ซึ่งในแต่ละปี มีนักศึกษาเข้าใหม่กว่า 1,000 คน ทุกคนต้องมีชุดพละไว้ทำกิจกรรม เมื่อก่อนเราสั่งจากที่อื่น แต่ปีนี้ก็สั่งจากโรงงานของเรา ถือว่าช่วยกัน ทั้งเสื้อสำหรับกีฬาสี เสื้อสำหรับทำกิจกรรมกลุ่ม เช่น การประชุมและการจัดกิจกรรมกีฬาของหน่วยงานต่างๆ ก็ให้สั่งที่นี่ทั้งสิ้น โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าถ้าหากชุมชนบริหารจัดการดีๆ โรงงานแห่งนี้ต้องไปต่อได้แน่นอน

เมื่อโจทย์การทำงานชัด ก็ถึงเวลาเสริมทักษะด้านการประกอบอาชีพให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส คนว่างงาน และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากพื้นที่ 9 หมู่บ้าน ในตำบลรือเสาะ จำนวน 60 คน ซึ่งเริ่มต้นด้วยกิจกรรมที่มีชื่อว่า ‘เก้าอี้ตัวแรก’ เพื่อค้นหาศักยภาพ ความสามารถ ความคาดหวัง และสร้างแรงบันดาลใจ ให้พวกเขาสามารถมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ 

โดย วิเชษฐ์ เล่าว่า “เราคาดหวังให้เขายกระดับจากเก้าอี้ตัวแรก ไปเป็นผู้ประกอบการ หรือเจ้าของแบรนด์ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปเปิดร้านใหม่ ไม่ต้องมีเครื่องจักรใหม่ ไม่ต้องไปลงทุนสร้างร้านของตัวเอง แต่ใช้พื้นที่ของแฮนด์อินแฮนด์เป็นฐานในการพัฒนาไปสู่การทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป”

สำหรับหลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้านั้น เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายมีพื้นฐานการตัดเย็บเสื้อผ้าไม่เหมือนกัน คณะทำงานจึงออกแบบหลักสูตรโดยเริ่มตั้งแต่เรื่องชนิดของผ้า การออกแบบ วิธีใช้จักรอุตสาหกรรม การตัดเย็บเสื้อยืด การประกบผ้าแต่ละชิ้นเข้าเป็นตัวเสื้อ ไปจนถึงการเย็บเสื้อโปโลที่ต้องฝึกเย็บปกและรังดุม เป็นต้น ซึ่งหลังจากเรียนพื้นฐานจนคล่อง ก็จะส่งกลุ่มเป้าหมายแยกไปตามสายการผลิตต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถประกอบอาชีพได้จริง หลังจากเรียนรู้หลักสูตรการเย็บผ้าครบ 180 ชั่วโมง คณะทำงานจะช่วยฝึกทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการ การตลาด และการตลาดออนไลน์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้อย่างครบวงจรมากที่สุด 

ปัจจุบัน โรงงานแฮนด์อินแฮนด์มีพนักงานทั้งสิ้น 100 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ จำนวน 60 คน โดยมีทั้งพนักงานรายเดือนและรายวัน พนักงานรายวันจะมีรายได้จากค่าเย็บเป็นชิ้น เฉลี่ยชิ้นละ 18 บาท ถ้าหากคิดเป็นตัว ก็ตกตัวละ 35 บาท เฉลี่ยแล้วจะมีรายได้ 300-400 บาทต่อคน และต่อวัน จากที่ไม่เคยมีรายได้เลย

ด้าน สาคร ปานจีน รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส กล่าวถึงปัญหาที่พบเจอขณะดำเนินโครงการว่า ระหว่างที่กำลังจะเริ่มฝึกทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้า ประเทศไทยก็ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พอดี คณะทำงานจึงเปลี่ยนให้กลุ่มเป้าหมายไปฝึกเย็บหน้ากากอนามัยจากเศษผ้าแทน ซึ่งได้ค่าตอบแทนจากการเย็บชิ้นละ 2-3 บาท 

เรียกได้ว่าเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส จากเดิมที่เขาไม่มีรายได้ เพราะด้วยวิถีชีวิตของคนที่นี่ ผู้ชายจะออกไปทำสวน กรีดยาง ส่วนผู้หญิงจะอยู่บ้าน เช้าเย็นรับ-ส่งลูก กลางวันก็อยู่ว่างๆ แต่ทุกวันนี้ พวกเขามีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ไม่ปล่อยเวลาว่างไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ การได้มาอยู่กับเพื่อนๆ ก็ยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย

นอกจาก นูรียานี แล้ว มายีด๊ะ บากา อายุ 35 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ยังเล่าปิดท้ายอีกว่า สมัยก่อน เธอมีอาชีพแม่บ้าน อยู่ที่บ้านเฉยๆ รับจ้างเย็บผ้า รับจ้างตัดชุดได้ตัวละ 100-450 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่าย แต่ก็ไม่ได้มีงานสม่ำเสมอ มีรายได้เฉพาะช่วงเทศกาลที่คนต้องใส่ชุดคลุมยาวของชาวมุสลิมเท่านั้น จึงมาสมัครงานที่โรงงานแฮนด์อินแฮนด์ 

“ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ฉันได้เรียนรู้เรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้าแบบครบวงจร ทำให้มีรายได้เพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 3,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับยอดสั่งซื้อ และจำนวนที่แต่ละสายการผลิตทำได้ ทำให้ฉันมีรายได้สม่ำเสมอ มีเงินเก็บ และมีเงินซื้อของใช้ส่วนตัวได้มากขึ้น”

ทั้งนี้ ในอนาคต กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแฮนด์อินแฮนด์รือเสาะ ได้วางเป้าหมายไปสู่การเป็น ‘โรงเรียนในโรงงาน’ เพื่อเป็น ‘พื้นที่กลาง’ ให้ทุกคนที่สนใจเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้าได้มาเรียนรู้ และฝึกฝีมือ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ในที่สุด ซึ่งก็น่าติดตามต่อว่าการต่อยอดในครั้งนี้ จะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป

“เราคาดหวังให้เขายกระดับจากเก้าอี้ตัวแรก ไปเป็นผู้ประกอบการ หรือเจ้าของแบรนด์ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปเปิดร้านใหม่ ไม่ต้องมีเครื่องจักรใหม่ ไม่ต้องไปลงทุนสร้างร้านของตัวเอง แต่ใช้พื้นที่ของแฮนด์อินแฮนด์เป็นฐานในการพัฒนาไปสู่การทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป” วิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม นายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

แฮนด์ อิน แฮนด์ รือเสาะ สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน

วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส

  • โทร: 073-709815
  • ผู้ประสานงาน: นายสาคร ปานจีน

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ มีให้การส่งเสริม สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ทำให้มีงาน เกิดการผลิตต่อเนื่อง
จนทำให้มีการรับบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแผนก/ฝ่ายต่าง ๆ ทุกคนที่มาทำงานจะมีรายได้
ส่งผลถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้รายได้ที่เกิดขึ้นยังเป็นห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการแฮนด์อินแฮนด์ รือเสาะเมื่อประชาชน
ที่ได้มาทำงานในโครงการมีรายได้ ก็จะมีการจับจ่ายซื้อของ การมีเศรษฐกิจที่ดี เกิดตลาดนัดชุมชน ร้านอาหารเพิ่มขึ้น มีเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่บริเวณโรงงาน Hand In Hand รือเสาะ และใกล้เคียง

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส