สืบเนื่องจากความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำในจังหวัดนราธิวาสค่อยๆ ขยายกว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนรายได้ต่อหัวที่ต่ำกว่ามาตรฐาน โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ ที่ลดลง ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้การดำเนินกิจการของคนในท้องถิ่นหยุดชะงัก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในทุกๆ ด้าน
ปัญหาที่เกิดขึ้น จุดประกายให้อาจารย์อัศนีย์ หมาดสตูล ครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน สังกัดศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเคยเป็นเด็กกำพร้าที่ได้รับโอกาสมาก่อน มุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้ผู้ด้อยโอกาส จนเกิดเป็นโครงการพัฒนาทักษะอาชีพกลุ่มแรงงานขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เพื่อพึ่งพาตนเอง โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 150 คน จากพื้นที่ 4 ตำบล ในอำเภอสุไหงโก–ลก ได้แก่ ตำบลสุไหงโก-ลก ตำบลปาเสมัส ตำบลปูโยะ และตำบลมูโนะ เพื่อให้ ‘โอกาส’ นี้ถึงมือผู้ด้อยโอกาสอย่างแท้จริง
ซึ่งอาจารย์อัศนีย์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการว่า เขาไม่ใช่เป็นคนสุไหงโก-ลก แต่มาทำงานที่นี่ และคิดว่าสุไหงโก-ลก เป็นชุมชนเมือง มีสถานะทางการเงินที่ดีและโอกาสมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดนราธิวาส แต่พอได้มาอยู่จริงๆ กลับสังเกตว่าที่นี่มีผู้ด้อยโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลือ ยังมีอาคารบ้านเรือนทรุดโทรม บางคนไม่มีที่อยู่อาศัย บางคนหลังคาบ้านรั่ว และบางคนก็อยู่ตามลำพัง
ภายหลังจากการลงพื้นที่ โครงการสามารถถอดบทเรียนออกมาเป็นหลักสูตรเชิงวิชาชีพได้ทั้งหมด 4 กลุ่มการเรียนรู้ ได้แก่ กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มจักสาน กลุ่มแปรรูปอาหาร และกลุ่มทำขนมหวาน
สำหรับกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า จัดขึ้นในพื้นที่ตำบลมูโนะ หมู่ที่ 5 เนื่องจากทุนเดิมของชุมชนนี้มีกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ก่อนแล้ว ทำให้แต่ละบ้านมีจักรเย็บผ้าเพื่อรับจ้างเย็บผ้า รวมถึงตัดเสื้อผ้าใส่เอง โดยปกติแล้ว จะมีพ่อค้าจากมาเลเซียนำผ้ามาจ้างคนในชุมชนตัดเย็บเป็นผ้าคลุมหรือชุดละหมาด เพราะคนที่นี่มีฝีมือตัดเย็บดี ค่าแรงไม่แพง
โครงการจะเริ่มอบรมตั้งแต่พื้นฐานการตัดเย็บเสื้อผ้า ฝึกเย็บ ฝึกถีบจักร ฝึกรีดผ้า ตัดผ้า จนสำเร็จเป็นชุดในที่สุด เพื่อทำเป็นสินค้าสำหรับวางขาย โดยกลุ่มเป้าหมายจะแบ่งงานกันตามความถนัด มีกลุ่มเป้าหมายบางส่วนที่เรียนจบปริญญาตรีและเยาวชนช่วยดูแลด้านการตลาดและการขายออนไลน์ ซึ่งผลจากการอบรม ส่งผลให้ในปัจจุบัน กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าของบ้านมูโนะ มีงานเข้ามาสม่ำเสมอ ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้มากขึ้น
ส่วนกลุ่มจักสาน จะดำเนินงานในพื้นที่ตำบลปูเยาะ หมู่ที่ 3 ซึ่งทำงานจักสานเป็นงานอดิเรกกันอยู่แล้ว โดยโครงการช่วยสนับสนุนตั้งแต่การสำรวจพืชท้องถิ่นที่สามารถนำมาทำเครื่องจักสานได้ จนพบพืชท้องถิ่นหลายชนิดที่อยู่ในป่าพรุ ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่ หวาย และย่านลิเภา ซึ่งเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่พบได้มากทางภาคใต้ มีคุณสมบัติเหนียว ทนทาน โดยพืชเหล่านี้มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับการสานเพื่อใช้เป็นภาชนะหรือกระเป๋า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้จะมีฝีมือการสานที่ดีอยู่แล้ว แต่ยังคงสานรูปแบบดั้งเดิมอยู่ ด้วยเหตุนี้โครงการจึงมองว่า หากกลุ่มเป้าหมายสามารถประยุกต์ลวดลายร่วมสมัยที่ผสานกับเรื่องราวในท้องถิ่นมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มความโดดเด่นและความน่าสนใจให้กับสินค้าจักสานของชุมชนได้ ซึ่งการดึงจุดเด่นเพื่อพัฒนางานจักสาน เริ่มจากการพากลุ่มเป้าหมายไปศึกษาดูงานสานที่ทำจากย่านลิเภา จนเกิดแรงบันดาลใจเป็นงานจากย่านลิเภารูปแบบใหม่ ที่มีการสานร่วมกับไม้ไผ่ และลวดลายใหม่ๆ เช่น ลายดอกพิกุล เป็นต้น โดยมีผลงานทั้งกระด้ง จานรองแก้ว และถาด
ด้านกลุ่มแปรรูปอาหาร จะดำเนินงานในพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลมูโนะ หมู่ที่ 4 และตำบลปาเสมัส หมู่ที่ 1 โดยอาหารที่โครงการเลือกมาแปรรูป คือปลาดุกและขิงผง เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่มีจำนวนมากในท้องถิ่น เพราะกลุ่มเป้าหมายในตำบลมูโนะนิยมเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน ปกติจะขายยกบ่อให้พ่อค้าจากมาเลเซีย แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ขายไม่ออก ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเป้าหมายจึงร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา จนนำไปสู่การแปรรูปปลาดุกแดดเดียวให้มีมูลค่าสูงขึ้น
นอกจากการแปรรูปอาหารคาวแล้ว กลุ่มเป้าหมายยังได้เรียนรู้การทำขนมหวาน โดยให้เลือกฝึกฝนตามความถนัด ซึ่งขนมที่เลือกมาฝึกฝนเป็นขนมที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น น้ำสมุนไพรจากขิง และมันสำปะหลังทอด เนื่องจากในพื้นที่มีการปลูกมันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งขนมเหล่านี้จะถูกขายผ่านช่องทางต่างๆ จนทำให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้ที่มั่นคง โดยในภายหลัง โครงการได้เพิ่มการอบรมเกี่ยวกับกระบวนการจัดการต้นทุน การตลาด และการออมเงินให้กลุ่มเป้าหมายเพิ่ม เพื่อให้มีทักษะในการบริหารจัดการที่ครอบคลุมรอบด้าน
“นอกจากจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการแล้ว อีกสิ่งที่สามารถนำวัดผลได้เช่นกันก็คือ ความสุขในการทำงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย เหมือนกรณีของกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า แม้ช่วงแรกจะมีรายได้ไม่มาก ซึ่งรายได้ของกลุ่มนี้มาจากค่าแรงตามผลงาน ใครทำมากก็ได้มาก ทำน้อยก็ได้น้อย แต่เมื่อทำมาเรื่อยๆ ก็เริ่มมีความมั่นคง และยังทำให้สายสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้น จากการที่ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน” อาจารย์อัศนีย์เสริม
นูรกาตีนี เจ๊ะดอเลาะ และฮาปือเสาะ บินมือเยาะ กลุ่มเป้าหมายจากกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า ยืนยันว่า การรวมกลุ่มกันช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้น จากยอดสั่งซื้อจำนวนมาก เช่น ยอดสั่งซื้อจากหน่วยงานราชการ โดยในปัจจุบัน พวกเธอตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า ‘นอนาดีไซน์’ ขึ้น โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถพัฒนากลุ่มนี้เป็นวิสาหกิจชุมชนได้ในอนาคต
จากกระบวนการถอดบทเรียน อาจารย์อัศนีย์พบว่า กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด “จากที่ชีวิตไม่รู้จะทำอะไร อยู่บ้านเลี้ยงลูก พอได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ จากที่เขาไม่มีอะไรเลย ตอนนี้ก็มีเพื่อนร่วมงานที่สามารถปรึกษาหารือได้ และเกิดรายได้ที่มั่นคง ซึ่งสามารถประเมินได้คร่าวๆ ว่ากลุ่มเป้าหมายจะมีรายได้เฉลี่ยวันละ 250 บาท หรือมากกว่านั้น”
นอกจากรายได้และความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวและชุมชนแล้ว สินค้าที่เกิดขึ้นจากโครงการไม่ได้มีมูลค่าเพียงแค่ตัวสินค้าที่จับต้องได้เท่านั้น แต่เบื้องหลังของมูลค่าสินค้ายังรวมไปถึงฝีมือของแรงงาน และกระบวนการสร้างสรรค์ จนกลายเป็นสินค้าหนึ่งชิ้น ซึ่งคุณค่าเหล่านี้คือสิ่งที่ช่วยยกระดับสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการส่งเสริมความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายกล้าทดลองทำตามความถนัดและความสนใจของตัวเอง บนพื้นฐานของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน จนนำไปสู่การต่อยอดเป็นอาชีพของตัวเองในอนาคต
“นอกจากจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการแล้ว อีกสิ่งที่สามารถนำวัดผลได้เช่นกันก็คือ ความสุขในการทำงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย เหมือนกรณีของกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า แม้ช่วงแรกจะมีรายได้ไม่มาก ซึ่งรายได้ของกลุ่มนี้มาจากค่าแรงตามผลงาน ใครทำมากก็ได้มาก ทำน้อยก็ได้น้อย แต่เมื่อทำมาเรื่อยๆ ก็เริ่มมีความมั่นคง และยังทำให้สายสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้น จากการที่ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน” อาจารย์อัศนีย์ หมาดสตูล ครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน สังกัดศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาทักษะอาชีพกลุ่มแรงงานขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสเพื่อพึ่งพาตนเอง
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสุไหงโก-ลก
- โทร: 080-7075946
- ผู้ประสานงาน: นางอัศนีย์ หมาดสตูล
เป้าประสงค์
กลุ่มแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส สามารถมีทักษะการประกอบอาชีพ และนำความรู้ ทักษะที่ได้รับการฝึกอบรมไปสร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัวและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส