Banner
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส
นราธิวาส

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส ติดอาวุธเทคโนโลยี 4.0 ให้กับแรงงานในชุมชน ผ่านการเรียนรู้แบบ ‘STEM Education’

ตำบลโคกเคียนและกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่หนึ่งที่มี ‘กระจูด’ ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ กระจูดอาจเป็นชื่อที่หลายคนไม่คุ้นหูนัก แต่หากพูดถึง ‘กก’ เชื่อว่าคงสามารถนึกภาพตามได้ไม่ยาก ทั้งกระจูดและกกเป็นวัชพืชตระกูลเดียวกัน อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำขัง สูงประมาณ 1 – 2 เมตร สำหรับประเทศไทยพบได้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น โดยพบได้มากในพื้นที่แถบภาคตะวันออกและภาคใต้ สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับจักสานได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติทนทาน ยืดหยุ่นทำให้คืนตัวได้ดี ชาวบ้านจึงนำพืชน้ำตระกูลนี้ไปแปรรูปเพื่อใช้เป็นวัสดุสำหรับสานเครื่องใช้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า ตะกร้า หรือเสื่อ ตั้งแต่อดีต จนกลายเป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปภูมิปัญญานี้เริ่มหายไปจากชุมชน คนที่สามารถสานกระจูดได้เหลือน้อยเต็มที ส่งผลให้ทักษะจากภูมิปัญญาของชุมชนถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับความสามารถในการผลิต สิ่งนี้จึงเป็นช่องว่างที่เกิดขึ้น และเป็นโจทย์สำคัญว่า เราจะทำอย่างไรให้วิถีชีวิตของชุมชนยังคงอยู่ท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส แหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียนทั้งในและนอกระบบ รวมถึงประชาชนทุกช่วงวัย มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาความรู้และทักษะการสานกระจูดให้แก่คนในชุมชน ซึ่งจากเดิมที่ชาวบ้านมักประกอบอาชีพเกษตรกรรมและนำไปขายในชุมชนเป็นส่วนใหญ่ แต่หากมีการพัฒนาทักษะแรงงานด้านการสานกระจูดนอกเหนือจากการทำเกษตร ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชน พร้อมกับการอนุรักษ์เครื่องจักสานในท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะ จึงเกิดเป็น “โครงการ STEM Education ประยุกต์ทักษะแรงงาน 4.0” นอกจากจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแล้ว ยังเป็นการสร้างอาชีพในชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย

โครงการฯ เริ่มต้นด้วยการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการของชุมชน จนเจอพื้นที่กะลุวอเหนือและโคกเคียน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์ต่อการส่งเสริมทักษะอาชีพ เนื่องจากชาวบ้านมีเป้าหมายร่วมกัน คือต้องการมีอาชีพที่สร้างรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จากเป้าหมายนี้เองจึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มภายในชุมชน และเกิดความพร้อมที่พัฒนาทักษะอาชีพทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านอาชีพ ด้านความรู้เกี่ยวกับการทำบัญชี และด้านเทคโนโลยี

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่นำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ของคนในชุมชนเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปใช้ตั้งแต่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพราะ STEM ศึกษานั้นเสมือนเป็นกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การระบุปัญหาให้แน่ชัด จากนั้นจึงรวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาออกแบบวิธีการแก้ปัญหา โครงการฯ จึงเปิดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนทั้งจากผู้รับผิดชอบโครงการ วิทยากร และตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุม เมื่อพร้อมแล้วจึงวางแผนและดำเนินการแก้ปัญหา ไปพร้อม ๆ กับการทดสอบ ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขวิธีการ และสุดท้ายนำเสนอวิธีการแก้ปัญหา ผลการแก้ปัญหาหรือชิ้นงาน 

จากขั้นตอนเหล่านี้จึงออกมาเป็นหลักสูตรสำหรับการฝึกอบรมที่คำนึงถึงความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย โดยวิเคราะห์ออกมาได้ 3 กลุ่มตามความสามารถในการสานกระจูด โดยแบ่งเป็น 1.กลุ่มที่มีพื้นฐานอยู่แล้ว 2. กลุ่มมีพื้นฐานปานกลาง และ 3. กลุ่มที่ไม่มีพื้นฐานด้านการสานมาก่อน จากนั้นนำคนจากกลุ่มเหล่านี้เข้าฝึกอบรบทั้งหมด 3 หลักสูตรตามลำดับความยาก ได้แก่ระดับประถม ระดับมัธยม และระดับปริญญาตรี พร้อมกัน จากการสอนโดยวิทยากรในพื้นที่ หรือเรียกว่า ‘ครูภูมิปัญญา’

สิ่งที่โครงการได้ช่วยพัฒนาและต่อยอด แน่นอนว่าเป็นเรื่องของทักษะความรู้ในระดับบุคคลที่กลุ่มเป้าหมายจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีด้านของรายได้ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือมียอดเฉลี่ยอยู่ที่ 300 – 500 บาทต่อสัปดาห์ ไปจนถึง 100 บาทต่อวันเลยทีเดียว

ในระดับกลุ่มนั้นทางโครงการยังได้ส่งแบรนด์เสาะนีซา ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องสานระดับ OTOP ที่จัดทำโดยวิทยากรอยู่แล้วมาเป็นตัวกลางในการกระจายอาชีพสู่กลุ่ม ผ่านการส่งต่อคำสั่งซื้อ ทำให้กลุ่ม ‘กระจูดโคกพยอม’ และกลุ่ม ‘สตรีสานกระจูดโคกพยอม’ รวมไปถึงกลุ่มเป้าหมายในโครงการ เกิดรายได้อย่างต่อเนื่องและมีความมั่นคงในชีวิตมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้กลุ่มมีความแข็งแรงมากขึ้น

มากไปกว่านั้นโครงการยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของ ‘ภาษาไทย’ จึงได้จัดทำหลักสูตรการอบรมด้านภาษาเพื่อคิดเครื่องมือทางการสื่อสารในการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่คลาดที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต

โดยสรุปแล้ว โครงการ STEM Education ประยุกต์ทักษะแรงงาน 4.0 ได้ช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งของทักษะให้กับแรงงาน นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของรายได้ จนสามารถเกิดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในชุมชน อันนำไปสู่ความต้องการหวนกลับสู่บ้านเกิดของแรงงาน ด้วยแรงจูงใจและความเป็นเจ้าของในภูมิปัญญาท้องถิ่นของตัวเอง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการ STEM Education ประยุกต์ทักษะแรงงาน 4.0

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส

  • โทร: 086-3164425
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวสุจารี เวียงสมุทร

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส