การทำเกษตรกรรมโดยมีเป้าหมายเชิงธุรกิจเป็นหลัก ทำให้พื้นที่ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน มีหนี้สินเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่บนที่สูง จึงขาดระบบจัดการน้ำที่ดี และขาดปัจจัยการผลิตหลายอย่าง เช่น เมล็ดพันธุ์และปุ๋ย อีกทั้งยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ทำกินของตัวเอง ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้คนท้องถิ่นนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด เพราะให้ผลผลิตเร็ว เก็บเกี่ยวได้ใน 110 วัน
ทว่า การปลูกข้าวโพดก็มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย ตั้งแต่การซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกฤดูกาล เพราะไม่สามารถเก็บไว้ปลูกเองได้ ต้องซื้อปุ๋ยกับยากำจัดศัตรูเสริม อีกทั้งยังใช้พื้นที่สำหรับปลูกกว้าง ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและเครื่องจักรเพิ่มขึ้น ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จังหวัดน่าน จึงผลักดันให้เกษตรกรมีหนทางครอบครองเมล็ดพันธุ์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชน เกิดเป็นโครงการเพิ่มศักยภาพทักษะความรู้สู่ผู้มีรายได้น้อย ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
อนงค์ อินแสง ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย และต้องการปรับวิถีการเกษตรแบบใช้สารเคมี และเกษตรเชิงเดี่ยว ให้เป็นวิถีเกษตรทางเลือก ซึ่งให้ความสำคัญกับการที่คนในชุมชนเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่ “ถ้าเขาเข้าใจเรื่องอำนาจและการควบคุม ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช เครื่องจักร หรือแม้กระทั่งน้ำ ก็จะทำให้เขามีทางเลือกมากขึ้น ไม่ต้องกู้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตเหล่านี้อีกต่อไป” อนงค์กล่าว
กระบวนการอบรมจะเน้นที่ความสนใจของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ซึ่งมีจำนวน 60 คน และเพิ่มขึ้นอีก 15 คน ระหว่างที่ดำเนินการ โดยมีทั้งผู้สูงอายุและเยาวชนผสมกัน ทั้งนี้ การอบรมจะแบ่งเป็น 3 หลักสูตร ดังนี้ (1) หลักสูตรเพาะกล้า (2) หลักสูตรทำปุ๋ยหมัก และ (3) หลักสูตรช่างชุมชน
หลักสูตรเพาะกล้าเน้นให้ความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงการเพาะพันธุ์ข้าว พริก มะเขือ และพืชผักพื้นบ้าน เพื่อเสริมความรู้เชิงวิชาการให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดจากการเพาะพันธุ์ โดยอนงค์อธิบายว่า “เราจะเพาะเหมือนสมัยพ่ออุ้ย แม่อุ้ย ที่เอาผักสลัดเทลงกระบะแล้วจิ้มๆ ลงไปไม่ได้ เพราะเมล็ดผักสลัดซองนึงมีไม่กี่เมล็ด แถมราคาแพง เราต้องค่อยๆ คัดทีละเมล็ด และใช้ความรู้วิทยาศาสตร์มาเสริมว่า เพาะอย่างไรถึงจะงอกร้อยเปอร์เซ็นต์”
ส่วนหลักสูตรทำปุ๋ยหมักมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนค่าปุ๋ย ลดการใช้สารเคมี และเป็นการสนับสนุนวิถีเกษตรอินทรีย์ วัตุดิบที่ใช้หมักคือพืชสดที่หาได้ในท้องถิ่น ซึ่งหลักสูตรนี้ได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสุดท้ายคือหลักสูตรช่างชุมชน ซึ่งเป็นทักษะนอกเหนือจากการเกษตร เนื่องจากคณะทำงานต้องการเพิ่มองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กลุ่มเป้าหมาย จึงเกิดเป็นหลักสูตรช่างประดิษฐ์เตาเผาถ่าน และช่างซ่อมบำรุงอุปกรณ์โซลาร์เซลล์
นอกจากหลักสูตรทั้งสามแล้ว คณะทำงานยังเพิ่มเนื้อหาด้านการตลาดออนไลน์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการวางแผนธุรกิจ ด้วยการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่นจังหวัดน่าน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถต่อยอดแปลงเกษตรอินทรีย์ของตนเอง สู่การเป็นเจ้าของกิจการในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดหลักจากดำเนินโครงการก็คือ กลุ่มเป้าหมายมีทักษะอาชีพเพิ่มขึ้น มีมุมมองต่อการเกษตรเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และกระตุ้นให้เกิด ‘เกษตรกรหน้าใหม่’ ที่พร้อมจะช่วยพัฒนาและยกระดับเกษตรกรรมในท้องถิ่นให้ปลอดภัย มีคุณภาพ และสร้างรายได้ให้คนในชุมชน
รัชนีวรรณ เงานอ อายุ 43 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เคยทำงานเป็นพนักงานโรงงานและห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ก่อนจะผันตัวมาเป็นเกษตรกรในชุมชน เธอเล่าว่า แม้ว่าการปลูกข้าวจะเป็นเรื่องยาก เพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ พอเข้ามาเรียนรู้ในโครงการก็ค่อยๆ ได้นำองค์ความรู้มาปรับใช้จนสามารถปลูกพืชเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ ดังที่รัชนีวรรณกล่าวว่า “พอคลุกคลีอยู่ตรงนี้นานๆ ก็สามารถแก้ปัญหาดินแข็งได้ ด้วยการใช้โดโลไมต์ (สารปรับสภาพดิน คล้ายปูนขาว) ปรับดินก่อน และใช้ปุ๋ยหมักที่ทำเองบำรุงดิน”
นอกจากปัญหาเรื่องความซับซ้อนด้านการเพาะปลูกแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่รัชนีวรรณพบก็คือ ความไม่เข้าใจจากผู้สูงอายุ ที่อุตส่าห์ส่งไปเรียนตั้งไกล สุดท้ายกลับมาทำเกษตรกรรมที่บ้าน ซึ่งต้องอาศัยการปรับตัวและพิสูจน์ให้ผู้สูงอายุเห็นว่า การกลับมาทำงานที่บ้านนั้นสร้างรายได้ที่พอเลี้ยงชีพได้จริง โดยรัชนีวรรณเชื่อว่า “โอกาสในการพัฒนาวิถีเกษตรอินทรีย์ ขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงความรู้ระหว่างคนต่างรุ่น คนรุ่นเก่ามักมองว่าผักชนิดนี้ปลูกได้แค่ฤดูนี้ แต่คนรุ่นใหม่เขาจะรู้จักใช้เครื่องมือมาช่วย เช่น ระบบโรงเรือน ระบบน้ำ รู้จักใช้เทคโนโลยี เป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer)”
ด้วยเหตุนี้ โครงการนี้จึงเปรียบเสมือนกาวที่เชื่อมประสานความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นต่างๆ ในชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้น ผ่านการเปิดพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จนเกิดกระบวนการถ่ายทอดสู่กันและกัน และนำไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระดับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังเกิดความสัมพันธ์ระดับองค์กร ผ่านการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้และกลุ่มพี่น้องเครือข่าย อาทิ วิทยาลัยชุมชนหรือกลุ่มเครือข่ายพี่น้องชนเผ่า เป็นต้น
ทั้งนี้ จากความตั้งใจเริ่มแรกที่ต้องการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมและความเหลื่อมล้ำ จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ผลลัพธ์ของโครงการได้กลายเป็นหลักสูตรที่เชื่อมโยงกันอย่างรอบด้าน ด้วยการสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ นั่นคือ เมล็ดพันธุ์และน้ำ พร้อมเสนอวิธีการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งส่งผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็คือช่วยลดปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ส่วนทางอ้อมก็คือการได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น
เรียกได้ว่า โครงการเพิ่มศักยภาพทักษะความรู้สู่ผู้มีรายได้น้อย ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ไม่ใช่เพียงการอบรมเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรให้กลุ่มเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างคนในชุมชนกับเครือข่าย เพื่อให้องค์ความรู้อยู่คู่กับคนในชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนในอนาคต
“โอกาสในการพัฒนาวิถีเกษตรอินทรีย์ ขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงความรู้ระหว่างคนต่างรุ่น คนรุ่นเก่ามักมองว่าผักชนิดนี้ปลูกได้แค่ฤดูนี้ แต่คนรุ่นใหม่เขาจะรู้จักใช้เครื่องมือมาช่วย เช่น ระบบโรงเรือน ระบบน้ำ รู้จักใช้เทคโนโลยี เป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer)” รัชนีวรรณ เงานอ อายุ 43 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการเพิ่มศักยภาพทักษะความรู้สู่ผู้มีรายได้น้อย
ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้
- โทร: 085-0371108
- ผู้ประสานงาน: นางอนงค์ อินแสง
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส