ต้นกกและผือใบยาวเรียวสีเขียวที่ตัดจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ถูกมัดเรียงรายผึ่งแดดตามพื้นที่ว่างของบ้านเรือนต่างๆ ก่อนจะถูกถักทอเป็นเสื่อเพื่อใช้ในครัวเรือน หรืองานบุญประเพณี ซึ่งในยามที่ยางพารามีราคาตกต่ำ ทำให้รายได้หลักของคนในชุมชนบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิงลดลง การสานต่อภูมิปัญญาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเสื่อกกและผือ จึงอาจเป็นความหวังและทางออกในการสร้างอาชีพเสริมให้กับผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่
และเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากกกและผือ และส่งเสริมอาชีพให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในชุมชน ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ จึงริเริ่ม ‘โครงการพัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง’ ขึ้น ภายใต้การสนับสนุนจาก โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ซึ่ง รัศมี อืดผา ครูอาสาสมัคร กศน. อำเภอเมืองบึงกาฬ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวถึงแรงบันดาลใจสำคัญของจุดเริ่มต้นโครงการว่า “ต้นกกและผือคือพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเราเห็นมาตั้งแต่เกิด การนำกกและผือซึ่งมีความเหนียวและทนทาน มาทอเป็นเสื่อหรือเบาะรองนั่งในยามว่างจากการทำงานไว้ใช้ในครัวเรือน เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายาวนาน”
โดยตั้งกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ว่างงานที่สนใจ จากพื้นที่บ้านโพธิ์ทองและบ้านทองสาย ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ “ซึ่งเสียงตอบรับจากชุมชนดีมาก ตอนแรกตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 52 คน แต่มีมาสมัครจริง 61 คน เราก็รับหมดเลย” รัศมี กล่าว
จากการทำกิจกรรมบูรณาการและการเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับ กสศ., ทีมจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, และ ดร.ยุทธนา วงศ์โสภา พี่เลี้ยงภาคอีสาน พบว่า ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมี 3 ประการ
- อยากมีรายได้เพิ่มขึ้น
- อยากสร้างอัตลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน
- อยากมีที่จำหน่ายสินค้า โดยมีจุดมุ่งหมายว่า กลุ่มเป้าหมายจะต้องแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ได้ 15 ชนิด
ดวงใจ ทุมซ้าย อายุ 39 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า เดิมทีเธอประกอบอาชีพกรีดยางและเป็นแม่บ้าน มาเข้าร่วมโครงการนี้เพราะอยากทอเสื่อกกเป็นบ้าง โดยเริ่มต้นจากทักษะขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่การทอเสื่อ การออกแบบลวดลาย ไปจนถึงการตัดเย็บเสื่อ จนทุกวันนี้ยกระดับขึ้นมาเป็นวิทยากร และเป็นหัวหน้าดูแลฝ่ายผลิตในทุกกระบวนการ
ทว่า การถักทอและตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากกกและผือที่ประณีต และมีรูปแบบที่หลากหลาย ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากชาวบ้านอยากให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองมีเอกลักษณ์ที่เห็นแล้วรู้ทันที ว่ามาจากจังหวัดบึงกาฬ จึงพัฒนา ‘ลายขันหมากเบ็ง’ ซึ่งเป็นลายพานพุ่มดอกไม้ที่ชาวพื้นเมืองจังหวัดบึงกาฬ และแถบลุ่มน้ำโขง ใช้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตชาวพุทธของคนในท้องถิ่น มาเป็นเอกลักษณ์ โดยเลือกใช้สีขาวและม่วง ซึ่งเป็นสีประจำจังหวัดบึงกาฬ ในการทักถอ
“การทอเสื่อลายขันหมากเบ็งจะทอประมาณ 5 วัน หนึ่งเดือนจะทอได้ประมาณ 10 ผืน ขายได้สูงสุดประมาณผืนละ 700-800 บาท รายได้จึงตกอยู่ที่ประมาณ 5,000-7,000 บาทต่อเดือน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ไม่ต้องไปหยิบยืมคนอื่น” รัศมี เสริม
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ก็คือความรู้ด้านการตลาด การบริหารจัดการเงิน รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรัศมี อธิบายว่า สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่โครงการให้ความสำคัญ โดยมีการจัดอบรมด้านการตลาด การขายสินค้าออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ควบคู่ไปกับการอบรมด้านการบริหารรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถวิเคราะห์และจัดการรายได้ด้วยตัวเอง
นอกจากการใส่ใจเรื่องการเพิ่มทักษะด้านต่างๆ เพื่อเสริมความเข้มแข็งทางอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มจัดตั้ง ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชน’ ในนาม ‘กลุ่มผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง’ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ โดยมีหัวเรือสำคัญในการขับเคลื่อน คือ อุดร คำชาตา ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง และมีรัศมีเป็นที่ปรึกษา
ซึ่งอุดร เล่าว่า เริ่มแรกเมื่อจัดตั้งกลุ่ม เขาพยายามกระจายงานให้เหมาะสมกับแต่ละคน “โดยเริ่มจากการสอบถามก่อนว่า ใครทำอะไรเป็นบ้าง เช่น สอยเป็น เย็บเป็น เพราะถ้างานออกมาประณีต ราคาขายก็จะสูงขึ้น จากปกติสอยเส้นใหญ่ขายได้ผืนละ 100 บาท ถ้าทำเล็กกว่าเดิมจะได้ราคาเพิ่ม จาก 100 บาท เป็น 200 บาท หรือทอเสื่อ 1 ผืน 500 บาท แต่ถ้า 2 คนช่วยกันทำได้เร็ว ก็แบ่งกันคนละ 250 บาท”
อย่างไรก็ดี แม้วันนี้โครงการจะจบลงแล้ว แต่ กศน. อำเภอเมืองบึงกาฬ, ภาคีเครือข่าย, และชุมชน ก็ยังพร้อมใจเดินหน้าสานต่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกกและผือให้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยมีอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬเข้ามาช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์และการสร้างแบรนด์ อีกทั้งยังได้พาณิชย์จังหวัด และ ธกส. เข้ามาช่วยเหลือด้านการตลาด และยังเตรียมพัฒนา ‘หลักสูตรท้องถิ่น’ ร่วมกับโรงเรียนโพธิ์ทองวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนโนนคำ ที่อยากพานักเรียนเข้ามาเรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์จากกกและผือ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ทุกวันนี้เหล่าผลิตภัณฑ์แปรรูป ทั้งเสื่อสีธรรมชาติ หมวก กล่องทิชชู แจกัน และกระเป๋าหลากหลายดีไซน์ที่ถูกถักทอขึ้นจากกกและผือ ไม่เพียงเป็นความสำเร็จที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่คณะทำงาน แต่องค์ความรู้ที่ถูกส่งต่อไปยังชุมชนยังสามารถต่อยอดเป็นอาชีพ และช่วย ‘สานฝัน’ ให้กับชาวบ้านอีกด้วย
ซึ่งรัศมี กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราได้ช่วยเหลือชาวบ้าน เป็นเหมือนสะพานที่ต่อยอดความคิดและความฝันของชาวบ้าน ไปสู่เป้าหมายที่พวกเขาวางไว้ โดยมีเราเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาที่คอยช่วยเหลือดูแล ซึ่งเราภูมิใจมากที่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน และได้เป็นส่วนหนึ่งในการสานฝันของพวกเขา”
“ต้นกกและผือคือพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเราเห็นมาตั้งแต่เกิด การนำกกและผือซึ่งมีความเหนียวและทนทาน มาทอเป็นเสื่อหรือเบาะรองนั่งในยามว่างจากการทำงานไว้ใช้ในครัวเรือน เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายาวนาน” รัศมี อืดผา ครูอาสาสมัคร กศน. อำเภอเมืองบึงกาฬ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองบึงกาฬ
- โทร: 083-3789393
- ผู้ประสานงาน: นางรัศมี อืดผา
เป้าประสงค์
กลุ่มเป้าหมายสามารถสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ชุมชน ด้วยพลังความคิดในการแก้ปัญหาร่วมกันด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยใช้ความรู้ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างรู้คุณค่าโดยมีเป้าหมายให้ครอบครัวและชุมชนที่มีความมั่นคงในการดำรงชีพ โดยมีทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ และมรดกภูมิปัญญาเป็นต้นทุน ผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการปรับใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และพัฒนาสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่มี Brand เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส