Banner
วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา

วิทยาลัยเทคนิคอยุธยานำทีมวิทยากรที่มีประสบการณ์กว่า 40 ปี เปิดโครงการสอนวิชาช่างไฟฟ้า ฝึกผู้ต้องโทษให้มีทักษะพร้อมออกไปประกอบอาชีพ

จากรายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ของกรมราชทัณฑ์ พบว่า จำนวนผู้ต้องโทษในไทยมีจำนวนกว่า 3 แสนคน สวนทางกับความสามารถของเรือนจำที่รองรับผู้ต้องโทษได้เพียง 1.5 แสนคนเท่านั้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาผู้ต้องโทษล้นเรือนจำ ส่งผลต่อการจัดการสวัสดิการ และการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมก่อนที่พวกเขาจะกลับคืนสู่สังคม   

ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นภายในเรือนจำเหล่านี้ ส่งผลกระทบมาถึงผู้ต้องโทษที่พ้นจากการรับโทษทัณฑ์ เนื่องจากพวกเขาต้องเผชิญกับทัศนคติด้านลบจากคนภายนอก ทำให้ขาดโอกาสจากสังคม อีกทั้งผู้ต้องโทษที่พ้นโทษส่วนหนึ่งยังขาดทักษะอาชีพที่นายจ้างต้องการ คนกลุ่มนี้จึงหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก และย้อนกลับมาสู่วังวนในเรือนจำซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาจึงจัดทำ โครงการการฝึกอบรมทักษะการติดตั้งระบบไฟฟ้า ให้กับผู้ต้องขังทัณฑสถานบำบัดพิเศษจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้โครงการการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อลดจำนวนผู้ต้องโทษซ้ำ รวมถึงสร้างโอกาสให้ผู้ต้องขังเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ด้วยความภาคภูมิใจและเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม

ประเสริฐ แสงโป๋ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาและหัวหน้าโครงการดังกล่าว มองว่า ทักษะการติดตั้งระบบไฟฟ้า เป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เพราะทุกบ้านล้วนใช้ไฟฟ้าในการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น การอบรมทักษะดังกล่าวจึงเป็นการ ‘สร้างโอกาส’ ในการเป็นผู้ประกอบการให้กับผู้ต้องโทษหลังจากพ้นโทษ 

“ปกติแล้ว ผู้ต้องโทษส่วนใหญ่ พอออกมาแล้วสังคมมักไม่ยอมรับใช่ไหม พอไม่ยอมรับ ไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ เขาก็ต้องกลับไปทำอาชีพเดิม ไปลักทรัพย์ ไปปล้น กลับสู่วังวนเดิมๆ แต่ถ้าเขามีอาชีพ มีที่ยืนในสังคม เขาจะไม่กลับไปทำแบบนั้นอีก ไม่มีใครหรอกที่อยากอยู่ในคุก

กลุ่มเป้าหมายของโครงการมีจำนวน 60 คน ซึ่งทั้งหมดคือผู้ที่ผ่านเกณฑ์ 4 ข้อที่ประเสริฐตั้งไว้ในใจ นั่นคือ (1) เป็นผู้สนใจเรื่องเทคโนโลยีและไฟฟ้า (2) ไม่เป็นคนพิการ เนื่องจากการอบรมช่างไฟฟ้าเป็นทักษะที่จำเป็นต้องใช้สรีระโดยเฉพาะแขนและมือ (3) สามารถอ่านออกเขียนได้ เนื่องจากภายในหลักสูตรมีการอบรมแผนธุรกิจการใช้เทคโนโลยี ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทักษะเหล่านี้ไปต่อยอด และ (4) เป็นผู้ต้องโทษไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน เพื่อจะได้ติดตามผลการดำเนินงานทันที หลังพ้นโทษออกไป

แม้ว่าระหว่างการอบรมจะเจอกับข้อจำกัดของทัณฑสถาน ไม่ว่าจะเป็นการเข้มงวดเรื่องอุปกรณ์ ที่ต้องนับจำนวนอุปกรณ์ การห้ามนำของมีคมเข้า หรือการห้ามใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการเรียนรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ทำให้ต้องมีการปรับแผนการสอน ด้วยการนำเสนอเนื้อหาผ่านโปรแกรม Microsoft PowerPoint, การใช้ภาพนิ่ง และวิดีโอ แทน

ทั้งนี้ กระบวนการอบรมไม่ได้เน้นแค่การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกเนื้อหาการสร้างความคิดเชิงสร้างสรรค์ หรือ creative thinking เข้าไปด้วย โดยมีวิทยากรเป็นแพทย์ด้านจิตวิทยา จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เพื่อส่งเสริมการเข้าสังคมและแนะนำวิธีการอยู่ร่วมกับสังคมภายนอกอย่างปกติสุข ซึ่งประเสริฐ เสริมว่า การอบรมด้านนี้ถือเป็นการอบรมที่ถูกนำมาใช้ในทัณฑสถานเป็นครั้งแรก และได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วม สังเกตจากความกระตือรือร้นในการเรียน ความกล้าแสดงความคิดเห็น และความสุขที่ปรากฎให้เห็น

อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่สำหรับผู้ต้องโทษที่พ้นโทษไปแล้ว ก็คือจะทำอย่างไรให้คนในสังคมให้โอกาสพวกเขา แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะหาผู้ประกอบการที่ยินดีรับผู้ที่เคยต้องโทษเข้าทำงาน แต่ประเสริฐก็ไม่ลดความพยายาม ในการมองหาตลาดเพื่อรองรับแรงงานช่างไฟฟ้าที่ผ่านการอบรมภายในทัณฑสถาน เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้พ้นโทษ ให้มีอาชีพรองรับหลังจากที่กลับสู่สังคม

โดยประเสริฐได้ประสานงานกับผู้ประกอบการ จำนวน 2 บริษัท ให้เข้ามารับสมัครช่างไฟฟ้าภายในทัณฑสถาน นั่นคือ บริษัท สตาร์ ไลท์ แอนด์ ซาวด์, และบริษัท ตะวัน ไลท์ แอนด์ ซาวด์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับระบบแสงเสียงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งทั้งสองบริษัทพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ด้วยเงินเดือนสำหรับดำรงชีพเหมือนคนในสังคมทั่วไป 

“สถานประกอบการทั้งสองบริษัทนี้ เรารู้จักกันเป็นการส่วนตัว และเคยทำงานร่วมกัน ปกติบริษัทจะจ้างเหมาแรงงาน หรือ sub contract แต่ถ้ามีแรงงานซึ่งเป็นผู้พ้นโทษออกไปทำงานกับเขาแล้ว บริษัทก็ไม่ต้องไปจ้างใคร เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 9,000 บาท โดยบริษัทเป็นผู้ออกค่าที่พักและอาหารให้” 

ซึ่งจากการสังเกตกลุ่มเป้าหมายขณะที่ได้รับการอบรมทักษะการติดตั้งระบบไฟฟ้าแล้ว ประเสริฐก็มั่นใจว่าทุกคนทำได้หมด มีฝีมือการเดินสายไฟกันทุกคน ต่างจากความคิดที่เขาคาดเอาไว้ตอนแรก ที่คิดว่าคงไม่มีใครสนใจจริงสักเท่าไร แต่เมื่อเข้าไปสอนจริงๆ กลับกลายเป็นว่าผู้ต้องโทษเรียนรู้ได้ไวกว่าเด็กนักเรียนที่เขาสอนอยู่ที่โรงเรียนเสียอีก

นอกจากการเรียนรู้และการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายแล้ว ประเสริฐยังกล่าวถึงแนวทางการอบรมที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ด้านความรู้ด้านเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ครอบคลุม จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้จริง “เวลาเราจะทำอะไรให้ใครหรือกลุ่มใด มันต้องทำให้ครบองค์ประกอบนะ ไม่ใช่ว่าสอนให้เขาไปเป็นลูกน้องอย่างเดียว เราต้องสอนให้เขารู้จักตัวตน เห็นคุณค่าของตัวเอง เพราะถ้าเขาไม่เห็นคุณค่าตัวเอง คนอื่นก็ไม่เห็นนะ” 

แนวคิดนี้คือสิ่งที่เห็นได้ชัดว่า โครงการนี้ไม่ใช่แค่เพียงการอบรมทักษะอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายที่ขาดโอกาสเท่านั้น แต่การทำงานภายในทัณฑสถานแห่งนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้อบรมและผู้ฝึกอบรมได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง อันนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ที่เคยกระทำความผิด ให้สามารถดำรงชีวิตด้วยตัวเองได้อย่างเข้มแข็งในสังคม

“ปกติแล้ว ผู้ต้องโทษส่วนใหญ่ พอออกมาแล้วสังคมมักไม่ยอมรับใช่ไหม พอไม่ยอมรับ ไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ เขาก็ต้องกลับไปทำอาชีพเดิม ไปลักทรัพย์ ไปปล้น กลับสู่วังวนเดิมๆ แต่ถ้าเขามีอาชีพ มีที่ยืนในสังคม เขาจะไม่กลับไปทำแบบนั้นอีก ไม่มีใครหรอกที่อยากอยู่ในคุก” ประเสริฐ แสงโป๋ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาและหัวหน้าโครงการดังกล่าว

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การฝึกอบรมทักษะการติดตั้งระบบไฟฟ้า ให้กับผู้ต้องขังทัณฑสถานบำบัดพิเศษจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา

  • โทร: 081-9063684
  • ผู้ประสานงาน: นายประเสริฐ แสงโป๋

เป้าประสงค์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส