‘สมุนไพรไทย’ ขึ้นชื่อว่ามีสรรพคุณรักษาโรคมากมาย และสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลากหลาย ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ก็เป็นหนึ่งในแหล่งปลูกสมุนไพรที่สำคัญ ทว่า คนในชุมชนยังขาดความรู้ในการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา จึงจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพน้ำดื่มสมุนไพร, โคมไฟไล่ยุง, เทียนหอมไล่ยุง สำหรับนักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สังกัดตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยาขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ให้สามารถนำสมุนไพรในท้องถิ่นมาแปรรูปได้
โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่ ลำไย สีหามาตย์ ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้ทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เรื่องการส่งเสริมอาชีพ จากโครงการแนะนำให้เด็กๆ ทำน้ำสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่นขาย เช่น ตะไคร้ ใบเตย และกระเจี๊ยบ ซึ่งช่วยให้มีเงินหมุนเวียนใน ซึ่งพอขยับขยายมาเป็นโครงการดังกล่าว ก็ได้รับความร่วมมือจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนตำบลแม่กา, วัดแม่กาโทกหวาก, และวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเพื่อสุขภาพหงส์หิน อำเภอจุน เข้ามาขับเคลื่อน เพื่อพัฒนากลุ่มเป้าหมายจำนวน 75 คน
สำหรับกิจกรรมการอบรมนั้น ทางโครงการเน้นให้ความรู้เรื่อง ‘การแปรรูปสมุนไพร’ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ น้ำดื่มสมุนไพร โคมไฟไล่ยุง และเทียนหอมไล่ยุง โดยกลุ่มเป้าหมายทุกคนจะได้เรียนรู้การแปรรูปสมุนไพรทั้งสามผลิตภัณฑ์ เริ่มจากการสอนภาคทฤษฎี ซึ่งจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์และสรรพคุณของสมุนไพร, สมุนไพรชนิดใดมีฤทธิ์ร้อนหรือเย็น, วิธีการรับประทานสมุนไพรที่ถูกต้อง เป็นต้น
ขึ้นชื่อว่าการแปรรูปสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘น้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ’ เพราะทำง่ายและมีประโยชน์ แถมยังมีแนวโน้มที่จะสร้างกำไรได้มาก เพราะเป็นเครื่องดื่มดับกระหายที่รองรับกระแสรักสุขภาพของผู้คนในปัจจุบัน โดยลำไยเล่าว่า การอบรมทำน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ จะแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 6 กลุ่ม เพื่อเรียนทำน้ำสมุนไพรแต่ละชนิด ซึ่งกลุ่มไหนจะได้ทำน้ำสมุนไพรชนิดใดนั้น คณะทำงานจะใช้วิธีจับสลาก
ซึ่งลำไยเสริมว่า การจัดให้มีการประกวดแข่งขัน และความตื่นเต้นจากการจับสลาก เป็นเครื่องมือที่ใช้กระตุ้นกลุ่มเป้าหมายให้อยากมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ และสร้างสีสันในการเรียนรู้
“ถ้ามีกิจกรรมเข้ามาเมื่อไหร่ เขาก็จะเริ่มตั้งใจ อยากทำมากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมประกวดว่าน้ำสมุนไพรของกลุ่มใดรสชาติดีที่สุด เพราะเขาจะอยากแข่งกันเพื่อเอาชนะ ทำให้กิจกรรมมีชีวิตชีวามากกว่าการต้มน้ำสมุนไพรแล้วบรรจุใส่ภาชนะเฉยๆ ซึ่งจากการลงคะแนนเสียงพบว่า น้ำตะไคร้กับน้ำใบย่านางมีรสชาติดีที่สุด มีความหอมละมุน ส่วนน้ำสมุนไพรลำดับรองลงมาคือน้ำกระเจี๊ยบ แต่ที่ยังไม่ถูกใจก็คือน้ำมะขามและน้ำมะตูม เพราะต้มนานเกินไป ทำให้รสชาติขม” ลำไยกล่าว
นอกจากน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพแล้ว อีกสองผลิตภัณฑ์ที่โครงการมุ่งเน้นก็คือโคมไฟไล่ยุงและเทียนหอมไล่ยุง เพราะในปัจจุบัน หลายพื้นที่ในจังหวัดพะเยาเริ่มทำสวนยางพารา ทำให้มียุงชุกชุม และมีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกจากการแปรรูปสมุนไพร ที่ช่วยสร้างรายได้และป้องกันโรคร้ายให้กับคนในท้องถิ่น
ซึ่งลำไยอธิบายว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่คนในอำเภอเชียงคำเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกกว่า 20 คน ผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดนี้จึงเกิดขึ้นมา และสามารถขายได้จริง ตัวโคมไฟไล่ยุงประดิษฐ์จากกระบอกไม้ไผ่ มีการวาดลวดลายและติดหลอดไฟเข้าไป มีน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้เป็นสารไล่ยุง แต่น้ำมันหอมระเหยมาจากอำเภอปง ผลิตเองไม่ได้ เพราะการทำน้ำมันหอมระเหยต้องใช้เครื่องสกัด ซึ่งมีราคาสูง
ส่อย หินแก้ว อายุ 73 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย มีพื้นเพเป็นช่างอยู่แล้ว จึงสนใจสานต่อการผลิตโคมไฟไล่ยุง ซึ่งส่อยกล่าวว่า “เราอยากมีอาชีพไปจนแก่ ก่อนหน้านี้เป็นช่าง ทำงานเล็กน้อยตามบ้าน ใครจ้างก็ไป แต่เดี๋ยวนี้เริ่มทำไม่ไหวแล้ว แต่โคมไฟไล่ยุงสามารถทำที่บ้านได้ ส่วนตัวขายไป 3-4 อันแล้ว อันละ 450 บาท ต้นทุนประมาณ 200 กว่าบาท เลยทำให้มีรายได้เพิ่มโดยไม่ต้องออกไปไหน”
สำหรับผลิตภัณฑ์เทียนหอมไล่ยุง แม้ตอนนี้จะยังไม่เป็นรูปร่างมากนัก เนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดและประณีตในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่สวาท มอญแสง หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ก็มีแนวคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยการเปลี่ยนวัตถุดิบจาก ‘กลีเซอรีน’ เป็น ‘ถั่วเหลือง’ เพื่อให้ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากกว่าเทียนหอมทั่วไป
เนื่องจากกลีเซอรีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเทียนหอม เป็นสารที่หากสูดดมเข้าไปมากๆ อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ไขถั่วเหลืองผสมตะไคร้จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ปลอดภัยกว่าเดิม ซึ่งเมื่อไขถั่วเหลืองละลาย ก็สามารถนำมาทาผิวได้อีกด้วย โดยตอนนี้อยู่ในระหว่างการทดลอง
ทั้งนี้ นอกจากการแปรรูปสมุนไพรเป็นสามผลิตภัณฑ์ข้างต้นแล้ว โครงการยังรับซื้อสมุนไพรปลอดสารพิษ เช่น ฟ้าทะลายโจรและขมิ้นชัน ในรูปแบบสมุนไพรสด เนื่องจากยังไม่ได้อบรมเรื่องการล้างและตาก ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องได้มาตรฐานตามแพทย์แผนไทย ที่ต้องไม่มีสารปนเปื้อนและไม่มีความชื้น ซึ่งฟ้าทะลายโจรนำไปอัดเม็ดเป็นยาลดไข้ แก้ปวดได้ ส่วนขมิ้นชันก็ใช้เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสุดท้ายแล้ว จะมีกลุ่มเป้าหมายเพียงบางส่วนที่สามารถประกอบอาชีพจากสมุนไพรในชุมชนได้ แต่โครงการนี้ก็สะท้อนถึงความสุขจากการทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น และที่สำคัญ ยังได้รับความรู้และฝึกฝนทักษะใหม่ๆ หลายอย่าง ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่มเป้าหมายเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ แต่รวมถึงคณะทำงานทุกคนด้วยเช่นกัน
“เราไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับผู้สูงอายุมาก่อน ซึ่งพบว่าผู้สูงอายุทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก แม้บางครั้งจะมีปากเสียงหรือถกเถียงกันบ้าง แต่เราก็เรียนรู้ที่จะประนีประนอม เพราะเราเป็นผู้น้อย ก็ต้องให้ความเคารพผู้ใหญ่ ไม่ใช่ว่าเขาจบ ป.4 เราจบสูงกว่าแล้วจะไม่เคารพ โดยสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับชุมชนก็คือ อย่าทำตัวแตกต่างหรือแปลกแยก ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จและความภาคภูมิใจในการทำโครงการนี้อย่างแท้จริง” ลำไยกล่าวทิ้งท้าย
“เราไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับผู้สูงอายุมาก่อน ซึ่งพบว่าผู้สูงอายุทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก แม้บางครั้งจะมีปากเสียงหรือถกเถียงกันบ้าง แต่เราก็เรียนรู้ที่จะประนีประนอม เพราะเราเป็นผู้น้อย ก็ต้องให้ความเคารพผู้ใหญ่ ไม่ใช่ว่าเขาจบ ป.4 เราจบสูงกว่าแล้วจะไม่เคารพ โดยสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับชุมชนก็คือ อย่าทำตัวแตกต่างหรือแปลกแยก ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จและความภาคภูมิใจในการทำโครงการนี้อย่างแท้จริง” ลำไย สีหามาตย์ ผู้รับผิดชอบโครงการ
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาอาชีพน้ำดื่มสมุนไพร, โคมไฟไล่ยุง, เทียนหอมไล่ยุง สำหรับนักศึกษาสังกัด ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา
- โทร: 094-2897854
- ผู้ประสานงาน: ดร.ลำไย สีหามาตย์
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- มีการจัดรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากตะไคร้หอม
- มีทักษะการวางแผนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผ่านการตลาดที่หลากหลายรูปแบบ
- ผู้เข้ารับการอบรมร้อยละ 80 มีองค์ความรู้และทักษะการทำน้ำสมุนไพรและการทำโคมไฟตะไคร้ไล่ยุง การทำเทียนหอมไล่ยุง
- ผู้ผ่านการอบรมมีอาชีพสามารถสร้างรายได้จากการทำน้ำสมุนไพรและการทำโคมไฟตะไคร้ไล่ยุง การทำเทียนหอมไล่ยุง
- มีการสร้างภาคีเครือข่ายในกระจายสินค้ากับผู้ที่มีความรู้ทางด้านการตลาด
- ผู้ผ่านการอบรมสามารถพัฒนาช่องทางการตลาดได้ด้วยตนเอง
- การสร้างรายได้จากสมุนไพร
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส