Banner
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
ลำปาง

คณะสังคมสงเคราะห์ฯ มธ. จับมือกับเรือนจำกลางลำปาง นำโปรแกรมการวางแผนชีวิตและอาชีพมาฝึกสอนให้ผู้กระทำผิดพร้อมสำหรับการกลับสู่สังคม

แม้ว่าจะไม่มีตัวเลขระบุชัดเจนว่า ผู้ต้องโทษที่ผ่านการฝึกอาชีพจากเรือนจำ จนสามารถสร้างสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายในงานแสดงสินค้าของกรมราชทัณฑ์ทุกๆ ปีนั้น เมื่อพ้นโทษออกไป ได้ประกอบอาชีพหรือประกอบกิจการที่ผ่านการฝึกทักษะมาจากในเรือนจำหรือไม่ แต่กลับมีตัวเลขจากฐานข้อมูลผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำ ปี 2562 ยืนยันว่า ร้อยละ 15 ของผู้ต้องโทษที่พ้นโทษแล้วกลับไปติดคุกซ้ำ เนื่องจากส่วนใหญ่กลับไปสู่สภาพแวดล้อมเดิมๆ 

และเมื่อวิเคราะห์เหตุปัจจัยก็พบเงื่อนไขหลายประการ ประการหนึ่ง คือกระบวนการฝึกอาชีพในเรือนจำ เน้นให้ ‘ทักษะอาชีพ’ แต่เมื่อพ้นโทษออกไปสู่สังคมภายนอก ก็ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาสานต่อหรือสนับสนุน ทำให้ผู้ต้องโทษหลายรายขาดที่ปรึกษา ไม่มีแผนการดำเนินชีวิต ขาดการสนับสนุนจากสังคมรอบตัว โดยเฉพาะเงินทุน เมื่อขาดโอกาสและขาดแผนการดำเนินงานในชีวิต ก็ทำให้ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ท้ายที่สุดจึงทำให้กลับไปสู่วิถีชีวิตแบบเดิม 

อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์เองก็ไม้ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว และพยายามช่วยเหลือด้วยการให้ความรู้ การศึกษา และทักษะอาชีพใหม่ๆ อยู่เหมือนเดิม แต่เพิ่มกระบวนการติดตามเมื่อผู้ต้องหาพ้นโทษเข้าไปอีกขั้นตอน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือ ดูแล ให้คำปรึกษาในนามของทีมแคร์ แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไป 

ปุณิกา อภิรักษ์ไกรศรี จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จังหวัดลำปาง ซึ่งผ่านการทำงานร่วมกับทางเรือนจำจังหวัดลำปางมาเป็นระยะเวลายาวนาน เล่าว่า ปัจจัยสำคัญของผู้พ้นโทษคือการขาดทักษะชีวิต 

“ลองคิดดูว่า ในการใช้ชีวิตปกติของเรา ต้องประสบกับเรื่องราวต่างๆ มากมายให้จัดการและแก้ไข แต่สำหรับคนในเรือนจำ พวกเขาดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างเป็นระเบียบ คือตื่นตีสี่ ทำกิจกรรมตอนเช้า กินข้าว บางคนไปอบรมอาชีพ บางคนไปเรียน บ่ายสามก็ต้องกลับเข้าเรือนนอน ดูทีวีที่ทางเรือนจำคัดเลือกมาแล้ว พอถึงสี่ทุ่มก็ต้องเข้านอน เมื่อการดำเนินชีวิตเป็นไปในลักษณะนี้ การจัดการปัญหาหลายๆ อย่างก็หายไป การเห็นคุณค่าในตัวเองก็จะหายไปด้วย พอถึงที่สุดก็จะคุ้นชินกับการดำเนินชีวิตแบบนี้ เมื่อถึงเวลาพ้นโทษออกไปจึงไม่รู้ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร ปุณิกา กล่าว

ดังนั้น กระบวนการที่จะทำให้ผู้ต้องโทษไม่ย้อนกลับไปทำผิดอีก ก็คือการเพิ่มทักษะและปรับทัศนคติด้านการดำเนินชีวิตเมื่อพ้นโทษ เพราะฉะนั้น วิธีการสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องโทษเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาพ้นโทษออกไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ซึ่งเป้าหมายและแนวทางดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการการออกแบบและวางแผนการประกอบอาชีพ โดยคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ซึ่งนอกจากกลุ่มผู้ต้องโทษจะได้แผนชีวิตและแผนธุรกิจแล้ว เรือนจำเองก็จะมีโปรแกรมยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษออกไปจากเรือนจำด้วย โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 20 คน

เมื่อเหตุแห่งปัญหามาจากฐานคิด วิธีการคือทำอย่างไรให้กลุ่มผู้ต้องขังได้หันกลับมาเข้าใจตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง และพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตปกติ “ซึ่งตรงนี้แหละคือกระบวนการที่ท้าทาย เพราะเราต้องรื้อ หรือปรับทัศนคติของผู้ต้องขัง ซึ่งกระบวนการที่ออกแบบไว้และเคยใช้ได้ผลในช่วงที่ผ่านๆ มาคือเครื่องมือที่ชื่อว่า Well Being” ปุณิกา เสริม  

ทั้งนี้ Well Being หมายถึงกระบวนการสร้างความปรารถนาดีให้กับตัวเอง  เพราะธรรมชาติของมนุษย์จะสร้างความปรารถดีให้กับตัวเองได้ก็ต่อเมื่อ เรากล้ามองตัวเองทั้งในมุมลบและบวก โดยการมองบวกทำเพื่อให้เห็นคุณค่าในตัวเอง ในขณะที่การมองลบทำเพื่อให้เห็นว่า ที่ผ่านมาตัวเองสามารถผ่านปัญหานั้นมาอย่างไร แก้ปัญหามาอย่างไร 

โดยปุณิกา ย้ำอีกว่า Well Being คือการสร้างความปรารถดีให้ตัวเอง มีทั้งหมด 3 ฐาน คือกายมั่นคง การรับรู้ความรู้สึกตัวเอง และการคิดเท่าทันความรู้สึกตัวเอง เพราะธรรมชาติมนุษย์มักจะไม่โทษตัวเอง แต่จะโทษคนอื่นแทน เช่น คนโน้นทำเรา คนนี้แกล้ง แต่ลืมมองที่ตัวเอง ซึ่งการไม่รู้เท่าทันตัวเอง ทำให้รู้สึกแย่ จนเกิดการคิดลบต่อตัวเอง

“เวลาเราทำกระบวนการ เราต้องจับสีหน้าผู้เข้าร่วมว่าคิดและรู้สึกอย่างไร ไม่ปล่อยให้ครุ่นคิดกับตัวเองนาน ไม่คาดคั้นให้เขาทำอะไร ไม่บังคับให้เขียน ถ้าไม่อยากเปิดตัวเองก็ไม่เป็นไร พร้อมเมื่อไหร่ค่อยว่ากัน การค่อยๆ ชวนคิด ชวนตั้งคำถามและทบทวนตัวเองถึงเรื่องที่ผ่านๆ มา ทั้งบวกและลบ ทำให้เขาเกิดความรู้สึกมั่นคงในตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง และพร้อมที่จะไปต่อในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบแผนการดำเนินชีวิตเมื่อพ้นโทษออกไป” ปุณิกา กล่าว 

กิจกรรมในวันสุดท้ายของกิจกรรม Well Being คณะทำงานจะให้กลุ่มเป้าหมายเขียนข้อความถึงตัวเอง เรื่องอะไรก็ได้ แล้วพับเป็นรูปหัวใจเก็บไว้ และวันใดที่เขารู้สึกลังเล รู้สึกไม่แน่ใจ ก็ให้กลับมาเปิดหัวใจออกดูเป้าหมายในชีวิต ว่าความจริงแล้ว เขาสามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้

“สิ่งที่ผมคิดว่าต้องจัดการก่อนเป็นอย่างแรกหลังพ้นโทษคือสิ่งแวดล้อมที่ผมอาศัยอยู่ แต่ปัญหาคือผมไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร” นี่คือเสียงสะท้อนของจากกลุ่มเป้าหมายคนหนึ่ง ที่เปิดเผยต่อคณะทำงานหลังจบกระบวนการออกแบบแผนที่ชีวิต ซึ่งทำให้เห็นว่า แม้จะมีแผนการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ แต่โลกนอกเรือนจำยังมีสภาวะที่อยู่นอกเหนือการควบคุมและการจัดการ จึงเป็นเหตุให้โครงการต้องทำงานอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมในทุกๆ ขั้นตอน 

ปุณิกา เล่าว่า การเตรียมความพร้อมในแง่ของจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาทางเรือนจำก็มีการทำงานที่ค่อนข้างครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาคือ กลุ่มผู้ต้องโทษยังขาดกระบวนการออกแบบชีวิตตัวเองหลังพ้นโทษ ว่าถ้าออกไปแล้ว จะอยู่อย่างไร ใครจะหนุน สังคมจะยอมรับหรือตีตราพวกเขาอย่างไรบ้าง ปัจจัยสำคัญจึงอยู่ที่การปรับทัศนคติด้านการใช้ชีวิต แล้วเรื่องอาชีพหรือเรื่องอื่นๆ ก็จะไปต่อได้เอง ซึ่งปุณิกาก็ยืนยันหนักแน่น ว่าจะดำเนินการในลักษณะนี้ไปจนกว่ากลุ่มเป้าหมายจะมีอาชีพที่มั่นคงและไม่กลับไปทำผิดซ้ำอีก 

“ตัว Life Plan ที่เป็นแผนหรือแนวทางการดำเนินชีวิต มันสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามกลุ่มเป้าหมายเมื่อพ้นโทษออกไป กลุ่มเป้าหมายหลายคนมีแผนการในชีวิตที่หลากหลาย บางคนจะไปเปิดร้านหมูปิ้ง บางคนจะไปทำอาชีพช่าง ถ้าเราสามารถออกแบบระบบติดตามผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ โดยใช้ Life Plan ที่เขาคิดเองมาพัฒนาต่อในรูปแบบแอปพลิเคชั่นในการติดตามกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนให้เขามีอาชีพเมื่อพ้นโทษ ซึ่งคิดว่าน่าจะช่วยยกระดับ และลดปริมาณผู้ต้องขังไม่ให้ทำผิดซ้ำ และมีอาชีพตามเป้าหมายของโครงการได้ และที่สำคัญ พวกเขาจะได้มีอาชีพที่ออกมาจากความต้องการของตัวเองอย่างแท้จริง ปุณิกาทิ้งท้าย

“เวลาเราทำกระบวนการ เราต้องจับสีหน้าผู้เข้าร่วมว่าคิดและรู้สึกอย่างไร ไม่ปล่อยให้ครุ่นคิดกับตัวเองนาน ไม่คาดคั้นให้เขาทำอะไร ไม่บังคับให้เขียน ถ้าไม่อยากเปิดตัวเองก็ไม่เป็นไร พร้อมเมื่อไหร่ค่อยว่ากัน การค่อยๆ ชวนคิด ชวนตั้งคำถามและทบทวนตัวเองถึงเรื่องที่ผ่านๆ มา ทั้งบวกและลบ ทำให้เขาเกิดความรู้สึกมั่นคงในตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง และพร้อมที่จะไปต่อในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบแผนการดำเนินชีวิตเมื่อพ้นโทษออกไป” ปุณิกา อภิรักษ์ไกรศรี จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จังหวัดลำปาง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาแผนประกอบการชีวิต-ประกอบการอาชีพของผู้ต้องขังเรือนจำกลางลำปาง จังหวัดลำปาง

คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

  • โทร: 084-5156919
  • ผู้ประสานงาน: อาจารย์ปุณิกา อภิรักษ์ไกรศรี

เป้าประสงค์

ผู้ต้องขัง มีความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้ และยกระดับตนเป็นผู้ประกอบการชีวิตในฐานะมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส