เพราะอยากออกแบบ ‘การใช้ชีวิต’ ในบ้านเกิดให้สอดรับกับวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมเล็กๆ ของจังหวัดลำพูน คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จึงรวมตัวกันจัดตั้ง ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ทา SE (กิจการเพื่อสังคม)’ ซึ่งขยายฐานการทำงานมาจากเครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทาที่ขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มาหลายปี
โดย พฤติพร จินา สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ทา SE เล่าว่า สาเหตุที่เธออยากเข้าร่วมกลุ่มวิสาหกิจนั้น สืบเนื่องมาจากการที่จังหวัดลำพูนมีของดีอยู่จำนวนมาก จึงอยากใช้ ‘งานวิจัย’ ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจมาเป็น ‘เครื่องมือ’ ทำให้คนในชุมชนรู้จักบ้านตัวเอง และรู้ศักยภาพความสามารถของตัวเองมากขึ้น
ซึ่งเริ่มต้นจากการมองหาต้นทุนต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน แล้วพบว่าทักษะด้านภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่ทุกชุมชนมีอยู่แล้ว ขาดแต่กระบวนการคิดและการตลาดที่เหมาะสม ซึ่ง พฤติพร เสริมว่า “กลุ่มวิสาหกิจส่วนใหญ่จะตกม้าตายเรื่องการตลาด เพราะการตลาดไม่ใช่แค่การขายของตามอีเวนต์หรือขึ้นห้าง แต่การตลาดต้องเหมาะกับคนในชุมชนด้วย”
เมื่อได้รู้จักกับโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พฤติพร เลยเกิดแนวคิดที่จะริเริ่ม ‘โครงการพัฒนาการสร้างงานบนฐานนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทาโดยชุมชน’ ที่ ‘เปิดโอกาส’ ให้ชุมชนได้คิดและลงมือทำด้วยตัวเอง
โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ว่างงาน จำนวน 60 คน จาก 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอกะเหรี่ยงแม่ขนาด กลุ่มสวนอินทรีย์ฟ้ารักษ์ดิน กลุ่มวิสาหกิจวิถีมอญหนองดู่ และกลุ่มคนในชุมชนรอบศูนย์ “ซึ่งเมื่อสอบถามชาวบ้านว่าอยากเรียนรู้อะไร พวกเขากลับตอบว่า ไม่อยากพัฒนาศักยภาพการผลิตแล้ว เพราะอบรมกันมาหลายครั้งจากหลายหน่วยงาน แต่ต้องการความรู้ด้านการตลาด” พฤติพร กล่าว
จากความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ทา SE ได้นำมาออกแบบเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย ซึ่งขั้นต้นและขั้นกลางเป็นการอบรมพื้นฐานด้านอาชีพต่างๆ ส่วนขั้นปลายจะเน้นไปที่เรื่องการตลาด การสื่อสารเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการทดลองตลาดก่อนจะเปิดจำหน่ายจริง ซึ่งเป็นความต้องการหลักของกลุ่มเป้าหมาย
“ตอนแรก เรากำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้เพียง 60 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการจริงๆ 100 คน ซึ่งมีเยาวชนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายมาเข้าอบรมด้วย เราก็รับหมด เพราะไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พฤติพร กล่าวและเสริมว่า ทุกคนล้วนมีความสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ ความรู้บางเรื่องก็จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญของคนรุ่นใหม่เข้ามาหนุน เช่น เรื่องการตลาดออนไลน์ หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
ปัจจุบันนี้ โครงการมีกลุ่มเยาวชนเข้ามาทำงานร่วมกับผู้ใหญ่แล้วประมาณ 30 คน ซึ่งเกิดเป็นภาพที่น่าประทับใจ เนื่องจากเยาวชนได้ใช้เวลาอยู่กับผู้สูงอายุ อยู่กับชุมชน ไม่ไปเถลไถลที่ไหน ในขณะที่ผู้สูงอายุเองก็รู้สึกสนุกสนานกับการทำงาน อยากบอก อยากเล่า เพราะอยากให้ลูกหลานเข้ามาสืบสานภูมิปัญญาดีๆ ต่อไป เป็นการหนุนเสริมซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังทำให้ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองช่วงวัยแน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย
ซึ่งการดำเนินงานจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ทา SE ใน 3 ส่วนหลักด้วยกัน (1) คือการหนุนเสริมความรู้เรื่องกระบวนการทำงานและการจัดการ (2) คือการแต่งตั้งกองเลขาเชื่อมประสานระหว่างครูภูมิปัญญา ผู้นำกลุ่ม และเยาวชนในพื้นที่ให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน และ (3) คือการเชื่อมประสานองค์ความรู้ ให้ ครูภูมิปัญญา ทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านทักษะอาชีพต่างๆ, ผู้นำกลุ่ม ทำหน้าที่ประสานกลุ่มเป้าหมายให้เข้าร่วมกิจกรรม, ส่วน เยาวชน ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ด้านการเงิน การทำบัญชี เอกสาร และการสื่อสาร
ทำให้เรียกได้ว่า โครงการนี้ ‘ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง บางครั้ง การใช้วิทยากรเก่งๆ จากภายนอก ก็อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนจริงๆ จึงต้องเปิดโอกาสให้คนในชุมชนตัดสินใจด้วยตัวเอง ว่าเขาอยากทำ หรือไม่อยากทำอะไร เพราะฉะนั้น การใช้ชุมชนเป็นฐาน ก็คือการฟังเสียงของคนในชุมชนนั่นเอง…
ตลอด 8 เดือนของการฝึกทักษะอาชีพให้กลุ่มเป้าหมาย แม้จะยังสร้างรายได้ไม่มากนัก แต่หลายกลุ่มก็ได้เรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้มากขึ้น เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอกะเหรี่ยงแม่ขนาด ที่งดทอผ้าใหม่และเน้นขายผ้าเก่าให้หมด เนื่องจากความต้องการของตลาดในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้เรื่องอุปสงค์และอุปทานของระบบตลาด
ถึงแม้รายได้จะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมาย แต่ ‘ความสุข’ ที่ได้กลับประเมินค่าไม่ได้ เนื่องจากทั้งกลุ่มผู้จัดทำโครงการ กลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงกลุ่มคนในชุมชน ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ความสัมพันธ์’ ของคนในชุมชนดีขึ้น ไม่ต่างคนต่างอยู่เหมือนที่ผ่านมา
ด้าน พฤติพร ในฐานะหัวหน้าโครงการ เล่าว่า “โครงการนี้ทำให้เรารู้จักและใกล้ชิดชุมชนมากขึ้น และทำให้เราเห็นว่าในชุมชนเรามีของดีๆ อยู่มากมาย ผู้สูงอายุบางคนมีรายได้มากกว่าลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองเสียอีก ซึ่งนั่นหมายความว่า การออกไปทำงานข้างนอกไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องรายได้อีกต่อไป เพราะเมื่อเรารู้จักฐานทุนในชุมชนดีพอ เราก็จะสามารถหารายได้จากสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชนได้มากมาย”
ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่สรุปได้ว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างเห็นได้ชัด ทั้งรายได้ของกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการลดระยะห่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังนำไปสู่การเพิ่มพูนทักษะและความรู้ด้านการประกอบอาชีพให้เท่าทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันได้อีกด้วย
“โครงการนี้ทำให้เรารู้จักและใกล้ชิดชุมชนมากขึ้น และทำให้เราเห็นว่าในชุมชนเรามีของดีๆ อยู่มากมาย ผู้สูงอายุบางคนมีรายได้มากกว่าลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองเสียอีก ซึ่งนั่นหมายความว่า การออกไปทำงานข้างนอกไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องรายได้อีกต่อไป เพราะเมื่อเรารู้จักฐานทุนในชุมชนดีพอ เราก็จะสามารถหารายได้จากสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชนได้มากมาย” พฤติพร จินา สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ทา SE
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาทักษะในการสร้างงาน บนฐานของนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา
วิสาหกิจชุมชนแม่ทาSE (กิจการเพื่อสังคมแม่ทา)
- โทร: 081-5308735
- ผู้ประสานงาน: นางสาวพฤติพร จินา
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนา ยกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- ระดับที่ 1 สามารถมีทักษะในการประกอบอาชีพ หรือความสามารถในการสร้างงานด้วยตนเองได้ บวกกับต้นทุนที่แต่ละคนมี โดยใช้ฐานนิเวศน์ของแต่ละชุมชนที่มีอยู่ดูแลซึ่งกันและกัน
- ระดับที่ 2 ส่งเสริมและสนับสนุน การทำงานร่วมกันแบบกลุ่มภายในชุมชนของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือเชื่อมกับกลุ่มต่างๆที่มีภายในชุมชน สู่ชุมชนที่ไม่ทอดทิ้งกัน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส