จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ จนเกิดความร่วมมือระหว่างผู้ทำเกษตรอินทรีย์ ผู้แทนกลุ่มเกษตรกร และหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้คำขวัญ ‘การพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถีสกลนคร’ ส่งผลให้จังหวัดสกลนครกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวเหนียวอินทรีย์อันดับหนึ่งของประเทศ
และกลายเป็นต้นทุนสำคัญที่นำไปสู่การทำโครงการพัฒนาทักษะแรงงานสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรข้าวรุ่นใหม่ในยุคดิจิตอล โดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
ผศ.ดร.พัชชา เศรษฐากา หัวหน้าโครงการ เล่าว่า แม้ข้าวเหนียวอินทรีย์จะเป็นต้นทุนที่ดีของจังหวัดสกลนคร แต่ด้วยความคุ้นชินเดิม เกษตรกรในจังหวัดจึงยังผลิตข้าวเหนียวจำหน่ายในราคาต่ำกว่ามาตรฐาน “ซึ่งมันน่าเสียดายนะ ที่ข้าวเหนียวดีๆ ของบ้านเราขายได้ราคาต่ำกว่าท้องตลาด”
ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ผศ.ดร.พัชชา และคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ‘บูรณาการ’ ความรู้ทั้งเรื่องการผลิต การตลาด และการสื่อสารเข้ามาช่วยกันสร้างคุณค่าและมูลค่าให้ข้าวเหนียวอินทรีย์ของจังหวัดสกลนคร ภายใต้แบรนด์ ‘ข้าวเหนียว เดอgrill’ ให้กับคนในชุมชนตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ในพื้นที่ 8 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองหอย หมู่ 4 และหมู่ 17, บ้านโนนศาลา, บ้านหนองสนม, บ้านโคกสะอาด, บ้านโพนสว่าง, บ้านนาคำไฮ, และบ้านโนนเบ็ญ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมทั้งหมด 60 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำ
เมื่อได้กลุ่มเป้าหมายเรียบร้อย คณะทำงานจะออกแบบหลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพเป็น 4 หลักสูตร คือ (1) ด้านเมล็ดพันธุ์ การทำน้ำหมักชีวภาพ และวิธีทำเชื้อไตรโคเดอร์มา (2) ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเหนียวในรูปแบบข้าวต้มมัดญวน ข้าวพอง และข้าวโป่ง (3) ด้านออนไลน์ และ (4) ด้านหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โดยหลังจากที่จัดการองค์ความรู้ด้านการผลิตในขั้นตอนต่างๆ ลงตัว ฝ่ายการตลาดก็จะสร้างเพจขายผลิตภัณฑ์ไว้รอ เนื่องจากหากรอให้กลุ่มเป้าหมายฝึกทักษะการแปรรูปผลิตภัณฑ์เสร็จก่อน แล้วค่อยสร้างเพจ อาจไม่ทันการณ์ ซึ่งผศ.ดร.พัชชา เล่าแผนการทำงานว่า “ระหว่างที่ทำเพจ ทีมจะซื้อโฆษณาเพื่อสร้างกระแสให้คนสนใจ อยากเข้ามาเป็นสมาชิกในเพจ และเมื่อกลุ่มเป้าหมายเรียนรู้เรื่องการแปรรูปครบแล้ว ก็ต้องมาเรียนรู้เรื่องวิธีการดูแลเพจต่อ”
Shopee และ Lazada เป็นช่องทางหลักที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ ‘ข้าวเหนียว เดอgrill’ โดยเฉพาะข้าวต้มมัดญวน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยุคบุกเบิก ออกสู่ท้องตลาด ซึ่งช่วงเริ่มต้นก็มีทีมงานคอยติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าลูกค้ามีกระแสตอบรับอย่างไร โดยเธอจะนำคำติชมต่างๆ ส่งไปให้กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้พวกเขารู้ว่าผลิตภัณฑ์ดีหรือไม่ดีอย่างไร เช่น เค็มไป หวานไป เป็นต้น เพื่อให้สินค้าพัฒนาต่อไป
อีกทั้งยังต้องใส่ใจในเรื่องของกระบวนการขนส่ง เนื่องจากข้าวต้มมัดญวนเป็นอาหาร การขนส่งจึงไม่ควรนานจนเกินไป ไม่เช่นนั้น ข้าวต้มมัดญวนอาจเกิดการเน่าเสียได้ “ตอนแรกที่เปิดขายออนไลน์ เราให้เขาถ่ายรูปขั้นตอนการส่งให้เราดูทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการบรรจุสินค้าว่าเรียบร้อยหรือไม่ บรรจุกี่โมง ส่งกี่โมง การจ่าหน้าซองทำอย่างไร ถ้าหากส่งไปแล้วเสีย ก็ต้องส่งให้ลูกค้าใหม่ จนพวกเขาเริ่มทำกันได้เอง เราจึงค่อยๆ ปล่อย แต่ก็คอยดูอยู่ห่างๆ” ผศ.ดร.พัชชา เสริม
สาเหตุที่โครงการมุ่งเน้นไปที่การขายสินค้าออนไลน์เป็นหลักนั้น เนื่องจากโลกยุคปัจจุบันอยู่ในยุคดิจิตอล เทคโนโลยีมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ศิรินนา คำทะเนตร หนึ่งในคณะทำงาน ผู้รับหน้าที่อบรมหลักสูตรออนไลน์ เล่าว่า การขายออนไลน์เข้าถึงกลุ่มคนได้มาก และไม่ต้องมีหน้าร้าน ทำให้ไม่มีต้นทุนเรื่องค่าเช่า อยู่บ้านก็สามารถขายได้ “โดยรูปภาพและเนื้อหาของผลิตภัณฑ์จะต้องดี เพราะเป็นตัวที่ช่วยให้สินค้ามีมูลค่ามากขึ้น ทำให้สินค้าดูน่าบริโภค”
ด้าน เพ็ญธิยา เดชภูมิ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย และควบตำแหน่งผู้ดูแลเพจ ‘ข้าวเหนียว เดอgrill’ เสริมว่า การช่วยเหลือและดูแลเอาใจใส่ของคณาจารย์จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้เธอปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ จากเมื่อก่อนมองว่าการตลาดออนไลน์เป็นเรื่องไกลตัว ไม่เคยคิดอยากจะมาขายของออนไลน์ แต่พอได้เรียนรู้ ก็เล็งเห็นช่องทางและโอกาสในการสร้างรายได้ให้ตนเอง จนทุกวันนี้ สามารถใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ในการสร้างอาชีพและสร้างรายได้
“จากเดิมที่เราไม่มีความกล้าที่จะทำการตลาดออนไลน์เลย แม้แต่จะกดเข้าไปตอบลูกค้าก็ยังทำไม่เป็น ตอนนี้สามารถทำเองได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ตอบลูกค้า เขียนข้อความแนะนำผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญก็คือ รู้สึกว่าตัวเองมีความรอบคอบมากขึ้น จะต้องถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานทุกขั้นตอน เผื่อกรณีที่เกิดปัญหา”
ซึ่งเมื่อถามถึงรายได้ เพ็ญธิยา ก็บอกว่า การปรับตัวเข้าสู่การตลาดออนไลน์สร้างรายได้ดีพอสมควร โดยเธอและกลุ่มเป้าหมายคนอื่นๆ ขายข้าวต้มมัดญวนหมดทุกรอบ ทำให้มีรายได้เพิ่มประมาณ 800 บาทต่อสัปดาห์ หรือ 3,000-4,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว
และนี่ก็คือตัวอย่างของการใช้ฐานทุนในชุมชน ทั้งภูมิปัญญาชาวบ้าน และความรู้ทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ มาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน และสอดรับไปกับการตลาดในยุคดิจิตอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“จากเดิมที่เราไม่มีความกล้าที่จะทำการตลาดออนไลน์เลย แม้แต่จะกดเข้าไปตอบลูกค้าก็ยังทำไม่เป็น ตอนนี้สามารถทำเองได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ตอบลูกค้า เขียนข้อความแนะนำผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญก็คือ รู้สึกว่าตัวเองมีความรอบคอบมากขึ้น จะต้องถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานทุกขั้นตอน เผื่อกรณีที่เกิดปัญหา” ผศ.ดร.พัชชา เศรษฐากา หัวหน้าโครงการ
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การพัฒนาทักษะแรงงานสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรข้าวรุ่นใหม่ในยุคดิจิตอล
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
- โทร: 081-768-9707
- ผู้ประสานงาน: นางสาวพัดชา เศรษฐากา
เป้าประสงค์
- แรงงานและผู้ด้อยโอกาสภาคการเกษตรมีความรู้และทักษะที่สามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ ร้อยละ 80
- สร้างอาชีพให้ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่สนใจในการประกอบอาชีพด้านข้าวครบวงจร
- กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส