Banner
สํานักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดสตูล
สตูล

สํานักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดสตูล ทำโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรอินทรีย์ให้กับเครือข่าย ‘เขา นา และทะเล’ เพื่อวิถีสีเขียวที่มั่นคง

ปัจจุบัน มนุษย์ใส่ใจและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่กลายเป็นมา ‘จุดขาย’ ให้กับผลิตภัณฑ์นานาชนิด เช่น สินค้าเกษตรของกลุ่มเกษตรกรจากเครือข่ายเพื่อนเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสตูล ที่มีการนำวิถีชีวิตและคุณค่าของเกษตรกรมาเป็นจุดขาย และส่งต่อสินค้าคุณภาพให้ถึงมือผู้บริโภค 

แม้กระแสการทำเกษตรอินทรีย์จะมาแรง แต่การจะทำให้รอดและอยู่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังตัวอย่างจากเกษตรกรในจังหวัดสตูล ที่รวมตัวกันเป็นเครือข่าย แต่ก็ยังล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ทำให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดสตูล ที่เห็น ‘โอกาส’ และ ‘ความสำคัญ’ ของการทำเกษตรอินทรีย์ จึงร่วมมือกับโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาค (กสศ.) ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เพื่อยกระดับสู่ผู้ประกอบการสีเขียว 

เพื่อยกระดับและเปลี่ยนเกษตรกรทั่วไปให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการสีเขียว ควบคู่ไปกับภารกิจหลักของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นั่นคือการฟื้นฟูอาชีพและจัดการหนี้ให้เกษตรกร โดย นิธิมา บินตำมะหงง หัวหน้าโครงการ อธิบายว่า กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือกลุ่มผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส จำนวน 150 คน จากพื้นที่ 7 อำเภอ 

“ซึ่งการทำงานจะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้น ต้องเริ่มต้นคิดตั้งแต่แรกว่า เราจะเป็นผู้ประกอบการสีเขียวได้อย่างไร เลยออกแบบให้เขาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ฝึกคิดเรื่องการบริหารจัดการวงประชุมตั้งแต่ครั้งแรก ว่าจะจัดการประชุมแบบไหน ถ้าเราเป็นผู้ประกอบการสีเขียว เราจัดการประชุมอย่างไร ใช้อาหารที่ไหน ใช้เวทีการประชุมแบบไหน เรื่องเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการสีเขียวต้องคำนึงถึง”  

โดยการประชุมระหว่างกลุ่มเป้าหมาย จุดประกายความคิดเรื่องการสร้าง ‘เครือข่ายรวบรวมผลผลิตของเกษตรกร’ และจากข้อมูลที่นำมาแลกเปลี่ยนกัน ก็พบปัญหาว่า ผลผลิตการเกษตรในแต่ละพื้นที่ มีราคาขายแตกต่างกัน เช่น ฟักเขียวจากไร่ ขายกิโลกรัมละ 1 บาท แต่ที่ร้านค้าขายกิโลกรัมละ 25 บาท เมื่อสืบข้อมูลดูจึงรู้ว่าสาเหตุมาจากการที่เกษตรกรไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน บางรายแค่รับจ้างปลูกอีกทอดหนึ่ง จึงไม่มีโอกาสกำหนดราคาผลผลิตได้เอง

และด้วยสาเหตุนี้ ประกอบกับความต้องการที่จะผลักดันให้การทำเกษตรอินทรีย์ได้มาตรฐาน คณะทำงานจึงหารือกับนักวิชาการด้านอาหาร และเกษตรอินทรีย์ จนเกิดเป็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นคือ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและทำงานของกลุ่มเป้าหมายใหม่ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายมีความหลากหลาย คือมีทั้งชาวนา ชาวประมง และชาวสวน เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยการสร้างความตระหนักเรื่องสารพิษว่ามีผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งต้องเชื่อมโยงทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคที่อยู่ในสภาพแวดล้อมอันหลากหลายของจังหวัดสตูล ได้แก่ ภูเขา นา และทะเล 

เช่น สังเกตว่าในชุมชนที่อยู่ติดทะเล สมาชิกในเครือข่ายมีเรืออยู่กี่ลำ ใครมีเรือ ใครไม่มีเรือ ใครแปรรูป และต้องศึกษาปฏิทินฤดูกาลวางอวนปู อวนกุ้ง และเส้นทางผลผลิต เพราะแต่ละพื้นที่มีราคาต้นทุนสัตว์น้ำไม่เท่ากัน ส่วนพื้นที่นา ก็ต้องมีข้อมูลประมาณการพื้นที่ปลูกข้าว การทำความเข้าใจเรื่องนาเกษตรอินทรีย์ว่าต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เพราะบางคนเข้าใจว่าเพียงใช้ปุ๋ยจากขี้วัวขี้ไก่ ก็คือเกษตรอินทรีย์แล้ว โดยไม่สนใจเรื่องของยาฆ่าหญ้า และไม่สนใจขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิต

ปัจจุบัน สินค้าจากพื้นที่ภูเขา นา และทะเล ของกลุ่มเป้าหมาย มีสติกเกอร์ ‘เมนูสีเขียว’ ติดอยู่ เพื่อเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการเป็นผู้ประกอบการสีเขียว ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้บริโภค โดยผลผลิตจากโครงการจะมีตลาดนัดสีเขียวในห้างสรรพสินค้าไดอาน่าเป็นจุดจำหน่าย รวมทั้งช่องทางออนไลน์ จากเพจเฟซบุ๊กหุ่นไล่กากรุ๊ป, สตูลกรีนเอาท์เลต, และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมอีกหลายเพจ 

ทั้งนี้ นอกจากกระบวนการเรียนรู้ในโครงการจะสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้แล้ว ยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ อีกมากมายระหว่างการอบรม เช่น การคิดค้นพันธุกรรมทุเรียนพื้นบ้าน นั่นคือ ‘พันธุ์ไข่เขียว’ ส่งผลให้นอกจากกลุ่มเป้าหมายจะก้าวเข้าสู่เส้นทางของการเป็นผู้ประกอบการสีเขียวที่มีความรู้ด้านการตลาดแล้ว ยังใส่ใจเรื่องพันธุกรรมพืชพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้รู้จักของดีในชุมชนตัวเอง และเพื่ออนุรักษ์สืบต่อไป 

ด้าน สมาน มรรคาเขต หรือ ‘บังหมาน’ อายุ 52 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า “ในฐานะที่เป็นแกนนำชุมชน หากมีโครงการดีๆ ที่มีประโยชน์กับชุมชนเข้ามาอีก ก็พร้อมจะแนะนำให้ทุกคน ชวนกันเข้ามา อย่างน้อยๆ ก็มีเพื่อน ซึ่งนี่คือกำไรที่ได้จากการอบรม นอกจากนี้ ยังได้ความรู้เรื่องพิษภัยของสารเคมี การทำปุ๋ย การทำเกษตรแบบจีพีเอส แล้วยังนำความรู้ไปส่งต่อให้คนอื่นได้ด้วย”

ซึ่ง สมาน ย้ำว่า หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ เขาสามารถขายลองกองและจำปาดะได้ในราคาแพงขึ้น ทั้งๆ ที่ผลผลิตก็มาจากลองกองต้นเดิม จำปาดะก็ต้นเดิม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือการเปลี่ยนสถานที่ขาย จากเดิมที่ขายตามหมู่บ้าน ก็เปลี่ยนเป็นขายในห้าง และตลาดนอกพื้นที่ที่ต้องการพืชผักผลไม้จากเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง

“ทุกวันนี้ ผมมีตู้เย็นจากธรรมชาติ ก็คือสวน ที่เก็บกินได้ตลอดทั้งปี ถ้าหากเราปลูกทุกอย่าง อย่างน้อยๆ เราก็มีเงินเหลือให้ลูกหลานไปโรงเรียน และเมื่อทุกคนในหมู่บ้านมีตู้เย็นธรรมชาติ ชาวบ้านก็จะขายของได้ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป”

 แม้จะยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่า กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร แต่สิ่งหนึ่งที่โครงการการันตีได้แน่นอนก็คือ เกษตรกรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทั้ง 150 คน สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง และก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นผู้ประกอบการสีเขียวได้ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการกำหนดทิศทางใหม่ให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ภูเขา นา และทะเล ของจังหวัดสตูล ได้ลองปฏิบัติตามต่อไปอย่างแน่นอน

“ทุกวันนี้ ผมมีตู้เย็นจากธรรมชาติ ก็คือสวน ที่เก็บกินได้ตลอดทั้งปี ถ้าหากเราปลูกทุกอย่าง อย่างน้อยๆ เราก็มีเงินเหลือให้ลูกหลานไปโรงเรียน และเมื่อทุกคนในหมู่บ้านมีตู้เย็นธรรมชาติ ชาวบ้านก็จะขายของได้ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป” สมาน มรรคาเขต หรือ ‘บังหมาน’ อายุ 52 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาศักยภาพเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สู้ผู้ประกอบการสีเขียว

สํานักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดสตูล

  • โทร: 062-6053791
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวนิธิมา บินตํามะหงง

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงาน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. เกษตรกร มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักและเห็นความสําคัญในการทําเกษตรอินทรีย์
  2. การขยายฐานการ ผลิตเกษตรอินทรีย์ เพิ่มพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารและยา ในจังหวัดสตูล
  3. มีสื่อ และหลักสูตร เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ฉบับเกษตรกรเข้าใจและเข้าถึง
  4. เกิดศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ในรูป แบบที่เป็นอัตตลักษณ์ของพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้
  5. มีกระบวนการในรวบรวมผลผลิต การบรรจุภัณฑ์ที่ได้ มาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  6. มีการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สามารถเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภค
  7. มีผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อย่างน้อยภูมินิเวศละ 1 ผลิตภัณฑ์ที่มีอัตตลักษณ์และได้รับมาตรฐาน
  8. เครือข่ายเกษตรกร มีความรู้ความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการสีเขียว
  9. สามารถสร้างงานสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับเกษตรกร ตลอดสายพานการผลิต ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส