Banner
คณะเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
สุรินทร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จับเอาภูมิปัญญาการทอผ้าไหมสุรินทร์มาต่อยอดเป็นหลักสูตรสร้างอาชีพให้กับคนด้อยโอกาสในชุมชน

ชาวบ้านส่วนใหญ่ในตำบลอู่โลก อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ ต่างมีวิถีชีวิตฝากไว้กับการทำนาหรือการเกษตรเพียงอย่างเดียว เมื่อว่างเว้นจากการทำนา หลายคนแทบไม่มีอาชีพเสริม แม้ว่าในชุมชนจะมีกี่ทอผ้า แต่ก็ยังไม่สามารถทอผ้าไหมให้เป็นที่ต้องการของตลาดได้ เนื่องจากขาดการพัฒนาทั้งคุณภาพของเส้นไหม ลวดลาย รวมถึงสีย้อมที่ยังนิยมใช้สีเคมี  

คณะเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้จัดทำ “โครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มโอกาสในอาชีพด้านการผลิตผ้าไหม” โดยหวังใช้ความรู้ด้านการเกษตรเข้ามาช่วยพัฒนากระบวนการผลิตผ้าไหมแบบครวงจร เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ทั้งสิ้น 80 คน จาก 11 หมู่บ้าน ในตำบลอู่โลก เน้นไปที่ผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ ประกอบด้วย แรงงานนอกระบบที่มีรายได้ต่ำ ผู้สูงอายุ และเยาวชน

“เป้าหมายของโครงการฯ คือต้องการให้เกิดอาชีพที่มั่นคงในชุมชน โดยใช้ทุนชุมชนเป็นตัวตั้งต้น ทั้งทุนมนุษย์และภูมิปัญญา ซึ่งเดิมคนในตำบลอู่โลกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ปลูกพืช มีบางบ้านทอผ้า เลี้ยงไหม ปลูกหม่อน แต่การทอผ้าเพื่อขายยังมีไม่มาก จึงอยากให้มีอาชีพทอผ้าไหมเกิดขึ้นในชุมชนแบบครบวงจร ตั้งแต่การทอผ้า เลี้ยงไหม ปลูกหม่อน ซึ่งผลผลิตนำมาขายได้ทุกอย่าง” หนึ่งในทีมงานอธิบายถึงเป้าหมายสำคัญของโครงการฯ ดังกล่าว

เมื่อหน่วยพัฒนาฯ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงาน สิ่งแรกๆ ที่ได้ลงมือจัดทำคือการทำกิจกรรมที่ให้คนในชุมชนลองวิเคราะห์ตัวเองเพื่อให้ทุกคนเป็นภาพเป้าหมายของตัวเองที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น “เราให้กลุ่มเป้าหมายวิเคราะห์ตัวเอง ให้ลองสร้างภาพฝันในอนาคตของตัวเองและครอบครัวว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็พบว่าบางคนอยากมีโรงทอผ้า อยากมีอาชีพทอผ้า หรือเป็นเกษตรพอเพียง ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เขาเกิดแรงบันดาลใจในการที่จะเรียนรู้”

นอกจากการวิเคราะห์ตัวเองเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจแล้ว หน่วยพัฒนาฯ ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เป็นศูนย์กลาง นั่นคือการให้กลุ่มเป้าหมายเลือกวิทยากรด้วยตัวเองด้วย ซึ่งนี่นับว่าเป็นการตอบความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

“เราเปิดกว้างให้ทุกคนได้เสนอชื่อของวิทยากร ซึ่งเขาจะรู้จักว่าวิทยากรคนนี้ ๆ สอนสนุก สอนดี ซึ่งเราก็ได้เชิญคนที่เขาอยากเรียนรู้ด้วยมา แต่ขณะเดียวกันเราจะมีข้อตกลงว่า ทุกคนต้องเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ครบหลักสูตร ซึ่งทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”

สำหรับการอบรมตลอดหลักสูตรของโครงการฯ จะใช้เวลา 20 วัน โดยมีการสอนเกี่ยวกับการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม 5 วัน การย้อมสีธรรมชาติ การพัฒนาลาย 10 วัน และการตลาดอีก 5 วัน แต่ระยะเวลาโดยรวมในการอบรมตั้งแต่ต้นจนจบโครงการฯ คือ 7 เดือน โดยทีมงานจะใช้วิธี ‘การลงทำงานในชุมชน’ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสะดวกต่อการเข้าอบรมมากที่สุด

สำหรับการอบรมเรื่อง ‘การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม’ จะสอนโดยอาจารย์จากคณะเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพราะมีองค์ความรู้อยู่แล้ว มีการสอนทั้งการวิเคราะห์ค่าดิน วิเคราะห์โรคและศัตรูพืช รู้จักสายพันธุ์ของหม่อนไหม การพัฒนาเส้นไหมให้ได้มาตรฐานทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเรียนรู้จากของจริง หลายสิ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อน ขณะที่ความรู้ด้าน ‘การย้อมสีธรรมชาติ การทอผ้าไหม และพัฒนาลาย’ มีวิทยากรมาถ่ายทอดความรู้ และสอนเทคนิคการย้อมสี การทอผ้าลายมัดหมี่โบราณ วิธีมัดหมี่มัดลายให้สวยเป็นธรรมชาติ รวมถึงการทอลายพื้นถิ่นประจำจังหวัดสุรินทร์

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีการอบรมหลักสูตรการตลาดและการประชาสัมพันธ์ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหม เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ไหมเป็นที่ยอมรับ รวมถึงการเชื่อมโยงตลาดที่กว้างขึ้นทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายทั้งในและต่างประเทศ 

ทุกวันนี้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะทางการตลาดสูงขึ้น ทั้งยังมีการรวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อ ‘กลุ่ม 6 สายน้ำ’ สื่อความหมายถึง 6 ชุมชน ที่มารวมกันเพื่อเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนของตำบลอู่โลก’ ที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่สนใจต่อไป และหวังว่าในอนาคตกลุ่ม 6 สายน้ำจะสามารถสร้างความเข้มแข็งผ่านศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดักแด้ ชาใบหม่อน รังไหมขัดผิว เพื่อให้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในอาชีพด้านการผลิตผ้าไหม

คณะเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

  • โทร: 086-3407748
  • ผู้ประสานงาน: นางสุนิสา เยาวสกุลมาศ

เป้าประสงค์

การจัดการศึกษาเน้นการเรียนรู้เพื่อชีวิตที่เหมาะสมกับผู้ด้อยโอกาส โดยเน้นการบูรณาการทั้งด้านวิชาการความรู้ด้านการผลิตผ้าไหม ด้านศีลธรรม จริยธรรม และด้านการดำรงชีวิตที่เหมาะสม หลักสูตรที่ใช้ จะเน้นความหลากหลาย เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความจำเป็นสำรับผู้ด้อยโอกาสที่เน้นในเรื่องการดำรงชีพที่สามารถพึ่งตนเองได้เน้นการเรียนรู้ แบบประสบการณ์ตรงโดยมีแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัวปลูกฝังความเป็นผู้รักถิ่นฐานเดิม จากการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งเป็นต้นแบบของชุมชนต่อไป

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส