พื้นที่ของตำบลเชียงเครือนั้นมีของดีประจำชุมชนคือ ‘ดินเหนียว’ คุณภาพดีที่มีความเหมาะสมต่อการนำไปประดิษฐ์เป็นเครื่องปั้นดินเผาซึ่งมีคุณสมบัติคงทน ไม่แตกร้าวง่าย จากทรัพยากรอันพิเศษนี้ทำให้ชุมชนในพื้นที่มีภูมิปัญญาการปั้นเครื่องปั้นดินเผาเพื่อใช้ในครัวเรือนและเพื่อการค้า
เทศบาลตำบลเชียงเครือ ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เล็งเห็นข้อได้เปรียบของคนในชุมชน ทั้งด้านของต้นทุนวัตถดิบที่มีความพิเศษกว่าพื้นที่อื่น รวมถึงภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันมาผ่านรุ่นสู่รุ่น จึงได้จัดทำโครงการขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้ภูมิปัญญานี้สร้างอาชีพได้อย่างจริงจังภายใต้ชื่อ ‘โครงการส่งเสริมอาชีพเครื่องปั้นดินเผาตำบลเชียงเครือ’
ภายหลังการจัดตั้งโครงการขึ้นมา เทศบาลก็ได้ลงพื้นที่เพื่อค้นหาสมาชิกที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย คือเหล่าคนด้อยโอกาสในชุมชน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ประกอบไปกับการเทียบเคียงข้อมูลจากภาครัฐเพื่อคัดสรรบุคคลที่เหมาะสมกับโครงการจริงๆ โดยท้ายที่สุดก็ได้สมาชิกเข้ามาร่วมโครงการครบ 60 คน ตามเป้าที่ตั้งไว้ ประกอบด้วยแรงงานนอกระบบ 31 คน ผู้ว่างงาน 8 คน ผู้สูงอายุ 9 คน คนพิการ 3 คน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 7 คน และอื่นๆ 2 คน
เมื่อได้สมาชิกตามเป้าแล้ว โครงการก็ได้พัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครจนได้กระบวนการฝึกอบรมที่มีมาตรฐาน ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปั้นเครื่องปั้นดินเผา การออกแบบ การสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ การสร้างเครือข่าย และการวิเคราะห์ตลาดเครื่องปั้นดินเผา โดยตลอดหลักสูตรจะได้เวลา 198 ชั่วโมงในการอบรม ซึ่งนับว่าเป็นหลักสูตรที่เข้มข้นซึ่งสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริงภายหลังจากที่ผ่านการอบรม
นอกเหนือไปจากหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพแล้ว โครงการยังมีการเสริมสร้างทักษะแบบ Soft skill เช่น ทักษะการทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีจำกัด ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการสื่อสารเพื่อจัดการงานให้บรรลุความสำเร็จด้วย ซึ่งทักษะเหล่านี้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากเป็นทักษะที่เสริมสร้างทัศนคติที่ดี และช่วยให้การทำงานมีความลื่นไหล
โครงการส่งเสริมอาชีพได้ดำเนินงานมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่งและพบว่าสมาชิกที่เข้าร่วมทั้ง 60 คน มีความตั้งใจและกระตือรือร้นในการฝึกฝนอบรมและเก็บเกี่ยวความรู้อย่างเต็มที่ ทำให้หลักสูตรที่จัดขึ้นโดยเทศบาลในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จในขั้นต้น นั่นคือการสร้างมาตรฐานของคนที่จะกลายมาเป็นผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาและช่วยสืบสานภูมิปัญญานี้ให้คงอยู่สืบต่อไปในชุมชน ซึ่งนอกจากจะมีความสำคัญด้านวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นทักษะที่สร้างรายได้ให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปได้อย่างยั่งยืน
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการส่งเสริมอาชีพเครื่องปั้นดินเผาตำบลเชียงเครือ
เทศบาลตำบลเชียงเครือ
- โทร: 064-4568434
- ผู้ประสานงาน: นางวีนัส ประสุนิงค์
เป้าประสงค์
- แรงงานและผู้ด้อยโอกาสทางทุนทรัพย์มีความรู้และทักษะที่สามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ ร้อยละ 80
- สร้างอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่สนใจในการประกอบอาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผาโดยใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม
- เกิดเครือข่ายที่ประกอบอาชีพการปั้นเครื่องปั้นดินเผาขึ้นในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส