Banner
วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี
อุทัยธานี

วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานีจับภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองมาสร้างหลักสูตร แก้ปัญหาการว่างงานของแรงงานนอกระบบ

การทอผ้าคือทักษะอาชีพที่ช่วยให้แรงงานในจังหวัดอุทัยธานีหาเลี้ยงชีพให้กับตัวเองได้มาหลายชั่วอายุคน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจากรุ่นสู่รุ่น องค์ความรู้บางอย่างก็เกิดการสูญหาย แรงงานหัตถกรรมในพื้นที่รุ่นหลังๆ จึงมีปัญหาด้านการขาดองค์ความรู้ที่จำเป็นบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบลายผ้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย รวมถึงการย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ 

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้องค์ความรู้ระหว่างรุ่นขาดหายและตกหล่นไป นั่นคือการขาด ‘ครูช่าง’ หรือผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการผลิตผ้าทอ เช่น ครูช่างออกแบบลวดลายโบราณ ครูช่างย้อมผ้า ครูช่างแปรรูปผ้าทอ เป็นต้น ทำให้สิ่งที่ดีงามหรือทักษะที่สั่งสมมานับตั้งแต่อดีตไม่ได้รับการถ่ายทอดอย่างถูกวิธีและเลือนหายไปตามกาลเวลา

วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานีเล็งเห็นถึงความสำคัญของทักษะเหล่านั้น ทั้งในด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ผลิตภัณฑ์ของคนไทย และการสร้างรายได้ให้กับแรงงานในพื้นที่ จึงได้จัดทำโครงการที่ช่วยรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้เพื่อส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์

หน่วยงานผู้รับผิดชอบจึงได้ลงพื้นที่ เพื่อสำรวจและวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายจำนวน 150 คน และพบว่าคนส่วนใหญ่มีสถานะเป็นแรงงานนอกระบบ มีความต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องการย้อมเส้นด้ายจากสีธรรมชาติ การแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลาย และยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการจัดจำหน่าย

เมื่อทราบความต้องการที่แท้จริงของสมาชิกแล้ว โครงการก็สามารถออกแบบแนวทางการพัฒนาทักษะได้อย่างชัดเจนและตรงกับความต้องการของสมาชิก โดยมีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ องค์กรเอกชนศรีเวียงน่าน และปราชญ์ชุมชน เพื่อออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน โดยตัวหลักสูตรพัฒนาทักษะจะมุ่งเน้นที่การลงมือปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน และมีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนเข้าเป็นวัตถุดิบในการเรียนด้วย ซึ่งภาพรวมของหลักสูตรมีอยู่ 3 มิติด้วยกัน คือ 1.หลักสูตรการย้อมสีธรรมชาติ 2.หลักสูตรเทคนิคการขายออนไลน์ในศตวรรษที่ 21 และ 3.หลักสูตรการออกแบบลายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองอุทัยธานี

เมื่อแนวทางการพัฒนามีความสอดคล้องกับสิ่งที่สมาชิกต้องการ ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมฝึกฝนอบรม ซึ่งโครงการก็ได้ตอบรับความมุ่งมั่นนั้นโดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ นวัตกรรมด้านสื่อการสอนรูปแบบใหม่ และ การออกแบบลวดลายผ้าโดยใช้ตัวต่อ

เดิมทีการออกแบบลวดลายจะใช้รูปแบบ ‘กราฟ’ ในการวางโครงสร้าง ส่งผลให้ผู้เรียนวัยชราหรือสูงอายุไม่สามารถทำได้ แต่ล่าสุดโครงการได้เปลี่ยนมาใช้เป็นรูปแบบของตัวต่อแทน ทำให้สามารถสอนการสร้างลวดลายบนผ้าแก่คนได้ทุกช่วงวัย สร้างความสุขและความเพลิดเพลินในการฝึกฝนอบรมให้กับกลุ่มสมาชิก รวมถึงมีการสร้างผลงานออกมาอย่างเป็นรูปธรรม คือลายผ้ารูปแบบใหม่ที่ผลิตได้ง่ายขึ้น 6 แบบ ประกอบด้วย ลายดอกฝ้าย ลายพญานาคน้อย ลายดอกรักเร่ ลายดอกบัวหลวง ลายกะปอม และลายต้นแก้วมังกร

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มสมาชิกอย่างชัดเจนหลังจากได้รับการอบรมก็คือ มีพัฒนาการด้านความมุ่งหวังในการสร้างอาชีพอย่างจริงจังมากขึ้น เกิดทักษะใหม่ๆ ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าทอ นอกจากนี้ยังมีการสร้างช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกและชุมชนในภาพรวมต่อไป แต่นอกเหนือจากส่วนของการยกระดับคุณภาพฝีมือของแรงงานแล้ว โครงการยังให้ความสำคัญกับการรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย โดยมีการจัดกิจกรรมอย่าง ‘เวทีคืนข้อมูล’ ที่ช่วยสะท้อนความก้าวหน้า ปัญหา และข้อมูลที่เกิดขึ้นระหว่างโครงการ เพื่อให้ชุมชนนำไปต่อยอดพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการพัฒนาทักษะอาชีพแบบองค์รวมโดยบูรณาการองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองอุทัยธานี

วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี

  • โทร: 087-1991128
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวปนัสขนันชา สุขสำราญ

เป้าประสงค์

แรงงานนอกระบบ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มรับจ้างทั่วไป จำนวน 150 คน ได้รับการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ สามารถนำความรู้และทักษะอาชีพไปใช้ประกอบอาชีพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนได้

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส