Banner
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
ตรัง

มทร.ศรีวิชัยยื่นเปิดวิชาเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง เพื่อดึงเยาวชนในชุมชนชายฝั่งให้กลับมาเข้าระบบแรงงานอาชีพ

โครงการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนชุมชนชายฝั่งฯ คือโครงการที่จัดขึ้นจากความตั้งใจของคณะวิทยาศาสตร์และเทคเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ที่อยากจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับกลุ่มวัยรุ่น ลูกหลานชาวประมง ให้มีทักษะความรู้และสามารถการยกระดับตัวเองขึ้นเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของจังหวัดได้

โครงการได้ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเยาวชนแถบชายฝั่งที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 30 ปี
เป็นผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยโครงการได้พบว่าเยาวชนกลุ่มนี้ต้องการที่จะมีอาชีพเสริมเพื่อหารายได้มาจุนเจือค่าใช้จ่ายในครอบครัว เพราะอาชีพหลักส่วนใหญ่ของประชากรในแถบนี้คือการทำประมง ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกเรือไปทำงานได้ เช่น ในฤดูมรสุม ทำให้ครอบครัวต้องขาดรายได้เป็นเวลานาน

จากความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทำให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมงได้ออกแบบหลักสูตรที่จะช่วยเสริมความรู้และสร้างทักษะให้กับเยาวชนกลุ่มนี้โดยมีผลลัพธ์ออกมาเป็น 5 หลักสูตรคือ 1.การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น 2.การเพาะเลี้ยงหอยนางรม 3.การแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง ซึ่งทั้ง 3 หลักสูตรนี้มีจุดร่วมเดียวกันคือเป็นทักษะอาชีพที่สามารถนำไปปฏิบัติและต่อยอดได้โดยไม่ต้องลงทุนสูง

นอกจากทักษะอาชีพทั้ง 3 ชนิดนี้แล้ว โครงการยังมีหลักสูตรที่สำคัญอีกสองส่วนคือ 4.จรรยาบรรณอาชีพทางการประมง/การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล 5.การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการ

หลังจากที่รวบรวมสมาชิกได้ครบ 60 คนตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โครงการก็เริ่มดำเนินงานตามแผนพัฒนา ซึ่งระหว่างทางก็ได้เกิดมีอุปสรรคบางประการที่ทำให้โครงการต้องหยุดชะงักชั่วคราว อย่างเช่นเรื่องของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 รวมถึงประเพณีถือศีลอดรอมฎอนในเดือนพฤษภาคม แต่ถึงแม้จะต้องมีการหยุดพักไปเป็นระยะเวลาหนึ่งโครงการพัฒนาศักยภาพฯ ก็ยังได้เห็นความก้าวหน้าของกลุ่มสมาชิกในหลายๆ ด้าน

อีกหนึ่งสมาชิกได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า หลังจากที่เข้าร่วมโครงการเขาก็มองเห็นแนวทางอาชีพที่สามารถสร้างรายได้จากทรัพยากรที่มีในชุมชนของตัวเอง “อยากชวนคนอื่นๆ ในชุมชนให้เข้ามาอบบรมกับโครงการ เพราะโครงการนี้ช่วยสร้างอาชีพให้กับตัวเองและครอบครัวได้จริง ที่นี่ไม่ได้สอนแค่ด้านทฤษฎี แต่ให้เราได้ลงมือปฏิบัติไปพร้อมๆ กับวิทยากร ทำให้ความรู้ที่ได้รับมาเป็นความรู้ที่เราเข้าใจจริงๆ และสามารถนำไปสอนคนอื่นต่อได้อีกด้วย”

ในปัจจุบันการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพืชที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว
ตลาดมีความต้องการต่อเนื่องและมีราคาสูง โดยมูลค่าการซื้อขาย ณ ปัจจุบันคืออยู่ที่กิโลกรัมละ 200-300 บาท
การที่โครงการเริ่มมีความสำริดผลด้านการผลิตแรงงานคุณภาพออกมา ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้มีแนวทางการสร้างอาชีพที่มั่นคง และเกิดเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีทักษะหลากหลาย ซึ่งสามารถช่วยเหลือส่งเสริมกันต่อไปได้ในอนาคต

“โครงการนี้ช่วยสร้างอาชีพให้กับตัวเองและครอบครัวได้จริง เพราะที่นี่ไม่ได้สอนแค่ด้านทฤษฎี แต่ให้เราได้ลงมือทำจริงด้วย” หนึ่งในสมาชิกโครงการ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนชุมชนชายฝั่งที่ขาดโอกาสทางการศึกษาขึ้นพื้นฐานเข้าสู่การเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการอาชีพประมงชายฝั่ง กรณีนำร่องในชุมชนชายฝั่ง

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

  • โทร: 087-2758849
  • ผู้ประสานงาน: อาจารย์ ดร.นิภาพร ช่วยธานี

เป้าประสงค์

  1. เยาวชนเป้าหมายจำนวน 60 คน ผ่านทักษะวิชาชีพพื้นฐานด้านนักเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง
  2. เยาวชนเป้าหมายจำนวน 60 คน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์สร้างอาชีพเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงได้จริง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50
  3. เยาวชนเป้าหมายจำนวน 60 คน สามารถสร้างอาชีพเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การเพาะเลี้ยงหอยนางรมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง และจำหน่ายสร้างตลาดได้จริง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส