โครงการสร้างปัญญาฝึกทักษะเพื่อพัฒนาอาชีพผู้ด้อยโอกาส จัดทำขึ้นมาโดยศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย เพื่อพัฒนาผู้ด้อยโอกาสในชุมชนโคกล่ามที่ประสบปัญหาด้านรายได้และภาระหนี้สิน เนื่องจากช่วงวลาที่ผ่านมาชุมชนได้ประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ไม่สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้ ส่งผลต่อมาเป็นปัญหามากมายในชุมชน
กลุ่มเป้าหมายของโครงการจึงเป็นผู้ด้อยโอกาสในหลายช่วงวัยคือ กลุ่มเกษตรกรวัยทำงาน กลุ่มเยาวชนช่วงวัยเรียน กลุ่มเกษตรผู้สูงอายุ ที่เป็นผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์จำนวน 50 คน ที่สนใจการพัฒนาทักษะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตน
เมื่อได้กลุ่มเป้าหมายแล้ว โครงการก็ลงพื้นที่เพื่อทำการวิเคราะห์ชุมชนและพบว่าพื้นที่บ้านโคกล่ามมีศักยภาพที่เป็นต้นทุนของชุมชน 4 ประเภท คือ ทุนด้านความรู้ ทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ ทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และทุนด้านภาคีเครือข่าย ซึ่งต้นทุนทั้งหมดนี้ช่วยทำให้ทิศทางการพัฒนามีความชัดเจนมากขึ้นนั่นคือการฝึกฝนทักษะอาชีพพื้นฐานที่สร้างรายได้ได้จริง โดยเฉพาะการเพาะกล้าไม้ที่เป็นตุ้นทุนทางทักษะที่คนในชุมชนมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกล้าประดู่ ยางนา พยุง มะฮอกกานี ต้นรัง ฯลฯ ซึ่งโครงการจะช่วยเสริมองค์ความรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 อย่างการใช้นวัตกรรมต่างๆ การตลาดออนไลน์ การจัดทำบัญชีต้นทุนและบัญชีครัวเรือน เข้ามาช่วยยกระดับการทำงานของชุมชนด้วย
นอกจากนี้หลักสูตรของโครงการยังสอดแทรกการปลูกฝังทัศนคติในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจตัวเอง การเห็นคุณค่าภายในตัวเอง การคิดอย่างเป็นระบบและมีเหตุผล รวมถึงการถอดบทเรียนความสำเร็จและปัญหาอุปสรรค เพื่อเป็นแนวทางให้กับสมาชิกในการพัฒนาต่อไป
จากที่โครงการได้ฝึกฝนทักษะให้กับกลุ่มเป้าหมายตามหลักสูตรที่วางไว้ เจ้าหน้าที่โครงการก็ได้เห็นความก้าวหน้าของกลุ่มเป้าหมาย อาทิ การพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ความเข้าใจบริบทของชุมชนมากขึ้น และที่สำคัญคือสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเพาะกล้าไม้ โดยผู้รับผิดชอบโครงการได้เล่าให้ฟังว่า
“หลังจากที่เราได้เติมความรู้ด้านการเพาะกล้าไม้ให้กับสมาชิก เขาก็เอาทักษะไปทำกันจริงๆ ซึ่งสามารถจำหน่ายออกไปได้และมีรายได้เสริมวันละ 200 – 300 บาท บางวันมีคนมาซื้อที่หน้าร้านได้เป็นหลักพันก็มี ซึ่งในลำดับต่อไปเราจะพยายามสร้างเครือข่ายการตลาดให้มากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการซื้อ-ขายสินค้าให้กับคนในชุมชน”
การวิเคราะห์ชุมชนอย่างถี่ถ้วนบวกกับความสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย ทำให้การดำเนินโครงการมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและสามารถสร้างทักษะอาชีพให้กับคนในชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพเสริมแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนด้วย เพราะความสำเร็จของการนำพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ในชุมชนมาเพาะขายนั้น ช่วยให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเฉพาะป่าของชุมชนที่ในปัจจุบันกำลังได้รับการดูแลจากคนในชุมชนมากขึ้น
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
สร้างปัญญาฝึกทักษะเพื่อพัฒนาอาชีพผู้ด้อยโอกาส
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย
- โทร: 080-1495708
- ผู้ประสานงาน: นายวีระ สิทธิสาร
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- กลุ่มผู้ด้อยโอกาสมีความรู้ด้านทักษะอาชีพตามความสนใจและมีทัศนคติในการพึ่งตนเอง
- ผู้ด้อยโอกาสและผู้ว่างงานเกิดอาชีพและรายได้เพิ่ม
- เกิดกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่รวมตัวกันและคอยให้กำลังใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส