ชื่อของโครงการ ‘พัฒนาศักยภาพการทำสบู่สมุนไพรน้ำผึ้งเพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรในพื้นที่ทุรกันดาร’
นั้นอธิบายตัวเองได้เป็นอย่างดีอยู่แล้วว่าโครงการนี้มีจุดประสงค์อย่างไร พื้นที่ทุรกันดารที่อยู่ในชื่อของโครงการนั้นหมายถึงชุมชนบ้านทรัพย์ทวี (หมู่ที่ 19) ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีความยากลำบากทั้งด้านการคมนาคม การติดต่อสื่อสาร รวมถึงการชลประทานด้วย ปัญหาอีกอย่างนอกจากความทุรกันดารคือผู้คนที่อาศัยในชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกร เช่น ทำสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งผลผลิตเหล่านี้ก็มีราคาที่ตกต่ำเป็นระยะเวลานาน ทำให้รายได้ของคนในชุมชนมีไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
แต่ชุมชนบ้านทรัพย์ทวีก็ยังมีต้นทุนของชุมชนที่ดี คือความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและเต็มไปด้วยสมุนไพรมากมาย จึงทำให้มีการรวมกลุ่มกันในชุมชนเพื่อผลิตสบู่สมุนไพร ทว่ายังขาดความต่อเนื่องและความเอาจริงเอาจัง ทำให้ไม่สามารถต่อยอดสินค้าไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้
นอกจากนี้บ้านทรัพย์ทวียังมีต้นทุนทางสังคมที่แข็งแรง เช่น สมาชิกมีความสามัคคีและความเข้มแข็ง มีผู้นำและแกนนำที่เข้มแข็ง และเป็นศูนย์รวมของจิตใจและจิตวิญญาณของชุมชน และมีการรวมกลุ่มองค์กรย่อยและมีผู้นำกลุ่มที่ชัดเจน ทำให้การรวมกลุ่มใหญ่ทำได้ง่าย แต่สิ่งทีสำคัญอีกอย่างนอกเหนือจากต้นทุนทางธรรมชาติและต้นทุนทางสังคมก็คือ ต้นทุนทางภูมิปัญญา ซึ่งชุมชนในอำเภอละแมนั้นมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย โดยเฉพาะ เรื่องของหมอสมุนไพรในชุมชนที่มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาการผลิตสมุนไพรพื้นบ้านผ่านรุ่นสู่รุ่น ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ และเพิ่มมูลค่าให้เกิดเป็นแหล่งรายได้ของชุมชนได้
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดชุมพร ได้เข้าไปวิเคราะห์ชุมชนและได้รับรู้ถึงจุดแข็งเหล่านี้ จากนั้นจึงได้จัดทำโครงการที่จะเข้ามาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มธุรกิจของคนในชุมชนที่มีอยู่แล้ว โดยใช้กลุ่มผลิตสบู่สมุนไพรเป็นแกนหลักในการพัฒนา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ดึงเอาต้นทุนของชุมชนอย่างสมุนไพรมาผลิตเป็นสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของม.แม่โจ้
โครงการได้วางรูปแบบของกลุ่มเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน เช่น แรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเมื่อได้สมาชิกตามเกณฑ์ครบ 100 คนแล้ว โครงการก็ได้วางแผนแม่แบบในการพัฒนาทักษะที่จำเป็น ออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ ทัศนคติ และทักษะ โดยมีกระบวนการและกิจกรรม เพื่อส่งเสริมทั้งสามด้านคือ
- ด้านความรู้ – กิจกรรมฝึกอบรมการบริหารโครงการแบบมีส่วนร่วม การศึกษาดูงาน การทำสบู่สมุนไพรน้ำผึ้ง
การตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย การเป็นผู้ประกอบการที่ดี - ด้านทัศนคติ – กิจกรรมอบรมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- ด้านทักษะ – กิจกรรมอบรมทักษะการสื่อสารและการเป็นนักขายมืออาชีพ
หลังจากที่สมาชิกทั้งหมดได้เข้ามาฝึกฝนตามหลักสูตรที่ได้วางไว้ โครงการก็ได้พบว่ากลุ่มเป้าหมายทั้ง 100 คน มีความก้าวหน้าในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความกระตือรือร้นในการเข้ารับการฝึกฝน ความสามัคคีและช่วยกันทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีการพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม มีความกล้า สดงออกและแสดงความเห็น และสามารถยอมรับความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมกลุ่มได้ดี
การพัฒนาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย แน่นอนว่าไม่ได้เกิดจากหน่วยงานเจ้าของโครงการเพียงฝ่ายเดียว แต่เกิดจากภาคีหลายฝ่ายที่เข้ามาร่วมมือกัน ซึ่งหากพูดถึงบุคคลสำคัญที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหรือ ‘Key man’ ก็คงจะต้องกล่าวถึงบุคคลจากสองหน่วยงานคือ พัฒนาชุมชนอำเภอละแม ซึ่งเป็นผู้วางแผนและจัดตั้ง “หลาดใต้เคี่ยม” ซึ่งเป็นตลาดที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้ใช้งบประมาณของภาครัฐในการจัดตั้ง และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และผู้ใหญ่บ้าน บ้านทรัพย์ทวี ซึ่งเป็นผู้นำที่พูดจริง ทำจริง และมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาหมู่บ้าน โดยมีส่วนสำคัญในการประสานงาน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ และเป็นแกนนำในการเป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มสมาชิกจนโครงการสามารถลุล่วงไปได้อย่างราบรื่น
อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะเราถึงจะได้มีโอกาสเห็นภาพรวมของโครงการ ว่าสุดท้ายแล้วกระบวนการพัฒนาทักษะทั้งหมดมีส่วนเสริมให้ชุมชนบ้านทรัพย์ทวีเติบโตขึ้นไปในทิศทางใดบ้าง รวมถึงเป็นเรื่องน่าติดตามต่อว่าธุรกิจของชุมชนอย่างสบู่สมุนไพรน้ำผึ้งที่มีคนกว่า 100 คนร่วมกันทำงานจะมีผลลัพธ์ออกมาแบบไหน ซึ่งเราคงได้เห็นรายละเอียดที่มากขึ้นภายในเวลาอีกไม่นาน
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการพัฒนาศักยภาพการทำสบู่สมุนไพรน้ำผึ้งเพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรในพื้นที่ทุรกันดาร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร
- โทร: 095-024 6856
- ผู้ประสานงาน: ดร.ศุทธิกานต์ คงคล้าย
เป้าประสงค์
- เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนที่ด้อยโอกาส (แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้สูงอายุ) ของบ้านทรัพย์ทวี หมู่ที่ 19 ให้มีอาชีพที่มั่นคง
- เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนที่ด้อยโอกาส (แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้สูงอายุ) ของ บ้านทรัพย์ทวี หมู่ที่ 19 มีรายได้เสริม
- เพื่อจัดตั้งฐานเรียนรู้ชุมชน “การผลิตสบู่สมุนไพรน้ำผึ้ง” ที่ผลิตสินค้ามีมาตรฐานสำหรับรองรับการศึกษาดูงานและเกิดการจ้างงานภายในชุมชน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส