จากการวิเคราะห์ชุมชนของศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรัง-บูรพา จังหวัด นครราชสีมา พบว่าประชากรในพื้นที่ตำบลตลาดไทรและตำบลโนนตูม ซึ่งเห็นพื้นที่ดูแลของศูนย์ฝึกนั้น กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรสร้างผลผลิตได้น้อยลง ส่งผลต่อมาเป็นความขาดแคลนด้านรายได้ทำให้หลายครัวเรือนกำลังอยู่ในภาวะที่ฝืดเคือง
ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการพัฒนาในพื้นที่ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรัง-บูรพา จึงได้เร่งรุดเข้าไปช่วยเหลือ โดยดึงต้นทุนของชุมชนอย่าง ‘ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน’ เข้ามาเป็นภาคีหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชน และจัดทำ ‘โครงการเสริมสร้างทักษะพัฒนาอาชีพสู่ความยั่งยืน’ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อผลิตแรงงานฝีมือที่ครบวงจรอย่างแท้จริง
กลุ่มเป้าหมายของโครงการคือผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจำนวน 50 คน ซึ่งประกอบไปด้วยแรงงานนอกระบบ 16 คน ผู้ว่างงาน 3 คน ผู้สูงอายุ 22 คน ผู้พิการ 5 คน และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 4 คน โดยมีการลงพื้นที่ค้นหากลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาสตัวจริงผ่านการร่วมงานกับผู้นำชุมชน และมีการสัมภาษณ์พูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายทีละคนเพื่อเฟ้นหาคนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์จริงๆ เข้ามาเป็นสมาชิก
ศูนย์ฝึกฯ ได้ออกแบบการเรียนรู้ออกมาเป็นหลากหลายฐานอาชีพตามความสนใจของสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นการขยายพันธุ์ผักหวานป่า การเพาะปลูกกล้วย การเพาะขยายพันธุ์ปลา การเลี้ยงไก่อินทรีย์ การเพาะปลูกสมุนไพร การปลูกกล้วย รวมถึงการแปรรูปเพื่อต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่ามากขึ้น รวมกว่า 30 ฐานอาชีพ
หลังจากที่ได้มีการฝึกฝนอบรมไปในระยะหนึ่งกลุ่มก็ได้มีการลงมติเลือกอาชีพที่จะนำไปต่อยอดต่อ 3 อาชีพคือ
- การขยายพันธุ์พืช
- การทำกล้วยฉาบ
- การทำเค้กกล้วยหอม
เนื่องจากเป็นทักษะที่สร้างรายได้ได้ง่าย และไม่ต้องใช้ทักษะที่ซับซ้อน ขณะเดียวกันทักษะอาชีพกว่า 30 รูปแบบที่เคยได้มีการฝึกฝนไปแล้วก็จะยังทำควบคู่ไปด้วย
หนึ่งในเจ้าหน้าที่โครงการได้เล่าให้ฟังถึงความก้าวหน้าของกลุ่มเป้าหมายว่า “หลังจากที่ได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาเราก็พยายามไปพูดชักชวนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีบางกลุ่มที่ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ของชุมชนเลยเพราะไม่มีความมั่นใจในตัวอง แต่เราก็สามารถดึงให้เขาเปิดใจและลองมาเข้าร่วมอบรมได้ ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จที่หลังจากจบหลักสูตรสมาชิกมีความกระตือรือร้นที่จะนำเอาทักษะที่เรียนรู้ไปประกอบอาชีพที่ต่อ”
การที่โครงการมีภาคีสนับสนุนอย่างปราชญ์ชุมชน นับว่าเป็นต้นทุนที่มีมูลค่าอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นทีมบุคคลากรที่เข้าใจปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริง และมองเห็นแนวทางการพัฒนาที่เกิดจากฐานของชุมชนได้อย่างชัดเจน การที่กลุ่มเป้าหมายทั้ง 50 คนได้มีความกระตือรือร้นในการสืบสานอาชีพต่อเนื่องและมีการผลิตสินค้าของชุมชนออกมาจำหน่าย เป็นบทพิสูจน์ที่ดีว่าโครงการได้ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
เสริมสร้างทักษะพัฒนาอาชีพสู่ความยั่งยืน
ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรัง-บูรพา
- โทร: 098-584-6008
- ผู้ประสานงาน: นายสุวัฒนชัย จำปามูล
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางโอกาส ให้มีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นทีม
- เพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะในการปฏิบัติงาน โดยเน้นการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตน พัฒนาอาชีพ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
- เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ไม่ว่างงาน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส