Banner
สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราช

เด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ นครศรีธรรมราช ร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี พร้อมสะสมทักษะในวิชาชีพช่างปูกระเบื้อง

อาชีพช่างปูกระเบื้องคือวิชาชีพที่มีตลาดงานรองรับอยู่เสมอ ทำให้เป็นทักษะที่เหมาะอย่างยิ่งต่อการฝึกฝนให้กับกลุ่มผู้ต้องโทษที่ใกล้ปล่อยตัว สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้วางแนวทางการฝึกสอนทักษะอาชีพนี้ให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกของเด็กและเยาวชนที่พำนักอยู่ในศูนย์

โครงการยกระดับฝึกมือช่างฯ จะทำการคัดเลือกเยาวชนในศูนย์ที่สนใจในวิชาชีพมาจำนวน 90 คน จากนั้นก็จะแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม ก่อนจะทยอยเข้ามารับการฝึกฝนทีละกลุ่ม โดยสมาชิกโครงการทั้ง 3 กลุ่มหรือ 3 รุ่นนี้ จะได้รับการดูแลและอบรมเหมือนกันทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การสอนทักษะการปูประเบื้องระดับพื้นฐาน ไปจนถึงขั้นสูง จากนั้นก็จะมีการฝึกภาคปฏิบัติกับวิทยากรในช่วงท้ายของการอบรม นอกจากมีการฝึกสอนในด้านวิชาชีพแล้ว โครงการยังสอดแทรกการอบรมด้านทัศนคติให้กับกลุ่มเป้าหมายด้วย อย่างเช่น การจัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจและกิจกรรมสร้างการรู้จักตัวเอง เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 90 ชั่วโมงตลอดหลักสูตร

ระหว่างที่มีการเรียนการสอน ทางโครงการและวิทยากรสามารถสังเกตเห็นได้ถึงความกระตือรือร้น ความสามัคคีและทักษะการทำงานเป็นทีมของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขานี้มีความสุขกับงานและอาชีพในสาขานี้ 

หลังจากที่การฝึกได้ดำเนินมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง ทางสถานพินิจฯ ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสมาชิกที่โดดเด่นคือสมาชิกมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เห็นคุณค่าของตัวเอง และมีการยอมรับกันเองในกลุ่มมากขึ้น ซึ่งตลอดการอบรมฝึกฝนทางหน่วยงานพัฒนาไม่เจอปัญหาใดๆ ที่ทำให้โครงการต้องหยุดชะงักเลย

ความก้าวหน้าของกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 รุ่น เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทำให้มั่นใจได้ว่าหลังจากที่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้กลับมาสู่สังคม พวกเขาจะมีทักษะการทำงานที่ได้มาตรฐาน รวมถึงสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และที่สำคัญคือเขาจะมีอาชีพการงานที่ทำให้ดูแลตัวเองได้ และอยู่ห่างไกลจากการหวนกลับมากระทำผิดซ้ำ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการเรียนรู้ทักษะการปูกระเบื้อง

สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช

  • โทร: 081-9090890
  • ผู้ประสานงาน: นางชุลีพร สุทธิบูลย์

เป้าประสงค์

  1. เด็กและเยาวชนรู้จักตนเองมากขึ้น รู้ว่าตนมีความสามารถและศักยภาพทางอาชีพช่าง  สามารถเรียนรู้แบบกลุ่ม พัฒนาทักษะความชำนาญ
  2. เด็กและเยาวชน สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และสามารถถ่ายทอดความรู้สู่เพื่อนได้
  3. เด็กและเยาวชนมีทัศนคติเชิงบวกต่อตนเองและผู้ร่วมงาน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส