โครงการการส่งเสริมอาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพ เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยวิทยาลัยชุมชนน่าน เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนสองกลุ่มคือแรงงานนอกระบบและอดีตผู้ต้องโทษ สาเหตุที่ต้องเป็นวิชาชีพนวดแผนไทยก็เนื่องมาจากว่าจังหวัดน่านเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับความเป็นไทยและสุขภาพอย่างการนวดไทยเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ วิทยาลัยชุมชนน่านจึงได้เล็งเห็นถึงช่องทางอาชีพที่สร้างรายได้ได้จริงจึงริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา
อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่ากลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้มีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ โดยกลุ่มแรกคือแรงงานนอกระบบ มีจำนวนทั้งสิ้น 20 คน ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาชีพรับจ้างและเกษตรกร โดยผู้เข้าร่วมบางส่วนมีทักษะการนวดอยู่แล้ว แต่มาเข้าร่วมเพราะต้องการที่จะต่อยอดทักษะจนได้ใบประกอบวิชาชีพ ส่วนอีกกลุ่มที่เป็นอดีตผู้ต้องโทษ มีจำนวนทั้งสิ้น 30 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการนวดมาก่อน แต่มีความพร้อมและกระตือรือร้นในการฝึกฝนกับโครงการเพื่อที่จะได้กลับออกมาใช้ชีวิตโดยมีอาชีพที่มั่นคง
แผนการพัฒนาที่โครงการได้จัดทำขึ้นแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ
- หลักสูตรการนวดไทยเพื่อสุขภาพ
- การบริหารจัดการธุรกิจ
- การตลาดออนไลน์
ทั้งสามส่วนนี้นับว่าเป็นหลักสูตรที่นอกจากจะสร้างทักษะอาชีพให้กับสมาชิกแล้ว ยังเสริมทักษะของผู้ประกอบการให้อีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าวันหนึ่งย่อมสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้เรียนได้
ในช่วงแรกที่โครงการเริ่มต้นกลุ่มเป้าหมายบางคนยังไม่ค่อยเปิดใจและกระตือรือร้นมากนัก แต่พอเห็นว่าการเข้าฝึกอบรมนี้จะช่วยสร้างอาชีพและสร้างงานได้จริงจึงค่อยๆ เปิดใจและตั้งใจฝึกฝนมากยิ่งขึ้น จนสมาชิกทั้ง 50 คนสามารถมองเห็นเป้าหมายการพัฒนาทักษะร่วมกัน ทำให้การฝึกฝนอบรมเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น
หลังจากนี้จึงน่าติดตามดูกันต่อไปว่าช่องทางการประกอบอาชีพที่โครงการได้เปิดเอาไว้ให้กับสมาชิกที่เข้ามาอบรม จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายได้มากน้อยอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นช่องทางของผู้ประกอบการร้านนวด การเป็นหมอนวดที่ดูแลคนในชุมชน การเป็นหมอนวดตามร้านของผู้ประกอบการ รวมไปถึงการไปทำงานนวดในต่างประเทศที่สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย หลังจากจบหลักสูตรของโครงการไปแล้ว
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การส่งเสริมอาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพ
วิทยาลัยชุมชนน่าน
- โทร: 087-1750104
- ผู้ประสานงาน: นางสาวรัชนี คำลือ
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถประกอบอาชีพการนวดไทย ได้อย่างน้อยร้อยละ 60
- เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดการรวมกลุ่มอาชีพที่เข้มแข็ง สามารถสร้างเครือข่ายการประกอบอาชีพได้
- เปิดช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ทันยุค 4.0
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส