Banner
วิทยาลัยชุมชนยโสธร
ยโสธร

วิทยาลัยชุมชนยโสธรแก้ปัญหารายได้เกษตรกรสูงอายุ โดยเปิดสอนการสร้างมูลค่าเพิ่มจาก ‘ผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง’ ที่หลงเหลือจากกระบวนการทำผ้าไหม

หากพูดถึงพื้นที่บริเวณภาคอีสานแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่คงคิดถึงพื้นที่ทำไร่ทำนา ชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยและดำรงอยู่กับธรรมชาติที่แสนสวยงาม แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่คงที่และเอาแน่เอานอนไม่ได้ 

เช่นเดียวกับชาวบ้านในหมู่บ้านบ้านน้ำอ้อมและบ้านโนนยาง ทั้งสองหมู่บ้านอยู่ในเขตตำบลสำราญ อำเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร แม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก โดยอาศัยฝนตามฤดูกาล และมีอาชีพเสริมเป็นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า อย่างไรก็ดีในช่วงน้ำแล้งหรือผลประกอบการทางเกษตรไม่เป็นอย่างหวัง ชาวบ้านจึงมักประสบปัญหาขาดแคลนรายได้จากทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม 

จากการสำรวจและสอบถามชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านพบว่า ชาวบ้านน้ำอ้อมต้องการความรู้ในการจัดการระบบน้ำที่ดีสำหรับการปลูกหม่อน ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มโนนยางต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นไหมของตนเองให้มีคุณภาพและสวยงาม โดยเฉพาะการย้อมสีธรรมชาติ 

หน่วยพัฒนาอาชีพวิทยาลัยชุมชนยโสธรจังหวัดยโสธรจึงได้จัดทำโครงการการพัฒนาทักษะเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และวัสดุเหลือใช้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า เพื่อพัฒนาทักษะด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าให้สามารถตอบสนองการค้ายุคใหม่ จากเป้าหมายดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยพัฒนาฯ มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 52 คน โดยทั้งหมดเป็นแรงงานนอกระบบ มีช่วงอายุระหว่าง 60 ปีขึ้นไปสูงสุด รองลงมาคือช่วงอายุระหว่าง 55 – 59 ปี 

หลังจากที่สามารถรวบรวมผู้สนใจได้แล้ว ทางหน่วยพัฒนาฯ จึงได้มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจกลุ่มเป้าหมาย ค้นหาแนวทางในวางแผนการอบรมให้ตรงกับบริบทและปัญหามากที่สุด โดยเบื้องต้นหน่วยพัฒนาฯ ได้จัดอบรมเรื่องการจัดระบบน้ำโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมด ไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ เช่นการเตรียมเส้นไหมให้มีคุณภาพ กล่าวคือ มีความคงทน (สีไม่ตก ซักง่าย และไม่ขาดง่าย) รวมถึงวิธีการย้อมผ้าต่าง ๆ ซึ่งองค์ความรู้ที่กล่าวมานั้นส่งผลให้ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านนั้นเกิดการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ ได้แก่ ชาวบ้านได้ลงมือปฏิบัติจริง และสามารถนำไปใช้ในการผลิตได้จริง 

จากการอบรมดังกล่าว กลุ่มเป้าหมายได้นำความรู้มาประกอบใช้ร่วมกับการจัดระบบน้ำในแปลงหม่อนของตนเอง รวมถึงได้แนวคิดในการสร้างสรรค์ผืนผ้าให้สวยงาม สามารถดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาเป็นเอกลักษณ์ให้กับผืนผ้าของตน เช่น การนำเปลือกต้นประโหด (มะพูด) ซึ่งเป็นไม้หายากประจำท้องถิ่นมาย้อมไหมให้เป็นสีเหลืองสด หรือการนำชื่อหมู่บ้านน้ำอ้อมมาเป็นตราสินค้าหรือชื่อผลิตภัณฑ์ในอนาคต เพื่อแฝงความหมายและสื่อถึงความรู้สึกโอบอ้อมอารี เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดถือเป็นต้นทุนทรงคุณค่าของชุมชน

“กระบวนทั้งหมดช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ การค้นหาอัตลักษณ์ส่งผลให้ชุมชนได้รับบทเรียนสำคัญคือ เกษตรกรมองเห็นคุณค่าจากสิ่งใกล้ตัวหรือการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นต้นทุนที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ตั้งแต่เรื่องน้ำจนไปถึงการย้อมสีจากพืชหายากที่เป็นสัญลักษณ์ของชุมชน” หนึ่งในหน่วยพัฒนาอาชีพที่จัดอบรมให้กับกลุ่มเป้าหมายอธิบายถึงข้อค้นพบจากโครงการดังกล่าว

กระบวนทั้งหมดช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ การค้นหาอัตลักษณ์ส่งผลให้ชุมชนได้รับบทเรียนสำคัญคือ เกษตรกรมองเห็นคุณค่าจากสิ่งใกล้ตัวหรือการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาทักษะเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตและวัสดุเหลือใช้จากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า

วิทยาลัยชุมชนยโสธร

  • โทร: 063-2723764
  • ผู้ประสานงาน: นายชัยวิวัฒน์ วงศ์สวัสดิ์

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. ผลผลิต เกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า มีคุณลักษณะกระตือรือร้นในการการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์
  2. ผลลัพธ์ เกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า มีความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตและสร้างผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
  3. ผลกระทบ เกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจําหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส