Banner
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ยะลา

เปลี่ยนผู้ด้อยโอกาสในชุมชนให้เป็นแรงงานฝีมือที่สามารถก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ กับโครงการฝึกทักษะที่ใฝ่ฝันของม.ราชภัฏยะลา

การมีรายได้มั่นคง สามารถประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ คือหนึ่งในความฝันพื้นฐานของมนุษย์ โครงการฝึกทักษะอาชีพที่ใฝ่ฝันของผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสเพื่อเป็นผู้ประกอบการและแรงงานคุณภาพ โดยมีหน่วยพัฒนาอาชีพจากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อต่อยอดโอกาส เติมเต็มความฝันให้กับเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และโอกาสทางการศึกษา ให้สามารถพัฒนาตัวเองมีความรู้และประกอบอาชีพในฝันที่ตัวเองต้องการได้สำเร็จ 

โดยโครงการได้มองหากลุ่มเป้าหมายจากชุมชนอำเภอเมืองยะลาเป็นหลัก ได้แก่ ตำบลบุดี ตำบลวังพญา ตำบลพร่อนและตำบลเปาะเส้ง ก่อนจะเปิดรับสมาชิกเข้ามาได้ทั้งหมด 50 คนตามเป้าที่วางไว้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเดิมประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและว่างงาน โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั้ง 4 ตำบลในการคัดเลือกผู้เข้าอบรม 

หลังจากโครงการได้เริ่มต้น หน่วยพัฒนาฯ ได้ทำการสำรวจความสนใจและความต้องการที่จะพัฒนาทักษะอาชีพในฝันของกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม จนค้นพบว่ากลุ่มเป้าหมายสนใจที่จะเข้าร่วมพัฒนาทักษะอาชีพใน 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรช่างตัดผม หลักสูตรช่างอิเล็กทรอนิกส์ และหลักสูตรทำขนม โดยหน่วยพัฒนาฯ ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยสารพัดช่างจังหวัดยะลา เพื่อเน้นให้ผู้อบรมเกิดทักษะจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญ จึงได้จัดการฝึกปฏิบัติจริงทั้ง 3 หลักสูตรเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ 72 ชั่วโมง ดังนี้ 

1.หลักสูตรทำขนมฝึกปฏิบัติจำนวน 20 ประเภท วันละ 2 เมนู โดยได้แบ่งเป็น 2 กลุ่มระหว่างกลุ่มฝึกปฏิบัติจริงกับกลุ่มจดสูตร ก่อนจะสลับบทบาทกันไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง2หลักสูตรช่างตัดผมลงพื้นที่ปฏิบัติจริงในชุมชน โดยลงพื้นที่ในโรงเรียนตาดีกา จำนวน 15 โรง เพื่อฝึกทักษะด้านการตัดผมผ่านบริการตัดผมฟรี โดยได้รับความสนใจจากนักเรียนและประชาชนทั่วไปในพื้นที่เป็นอย่างดี 3.หลักสูตรช่างอิเล็กทรอนิกส์ ปฏิบัติการซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จริง เช่น แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เป็นต้น

การส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพทั้ง 3 หลักสูตรให้กลุ่มเป้าหมาย เบื้องต้นหน่วยพัฒนาฯ พบว่าตลอดระยะเวลาการอบรมกลุ่มเป้าหมายได้ให้ความสนใจ มุ่งมั่น และกระตือรือร้นที่จะเรียน โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรช่างตัดผม โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือผู้อบรมบางคนมีแนวคิดที่จะพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนตนเองด้วยการรวมกลุ่มกันเปิดร้านให้บริการตัดผมในหมู่บ้าน นอกจากนั้นบางคนเมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับหนึ่งจากโครงการฯ แล้วจะเข้าศึกษาเพิ่มเติมกับวิทยาลัยสารพัดช่างต่อ เพื่อสร้างศักยภาพและเพิ่มมูลค่าให้แก่ตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีอีก 2 รายที่สามารถพัฒนาทักษะตัวเองจนกลุ่มเครือข่ายที่เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ (แมวมอง) ชักชวนให้เข้าเป็นลูกจ้างในร้านตนเองอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี โครงการยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ โดยอนาคตนั้น หน่วยพัฒนาได้วางแผนที่จะจัดอบรมหลักสูตรทักษะการเป็นผู้ประกอบการใหม่ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะในการสื่อสารและสร้างช่องทางการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการตัวเอง ตลอดไปจนถึงการวางแผนทางการเงิน และจัดสัมมนาเครือข่ายสร้างผู้ประกอบอาชีพ เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายทุกคนพัฒนาตัวเองจนเกิดความเชี่ยวชาญ ก่อนเดินไปถึงปลายทางที่ฝันไว้ให้สำเร็จ 

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การฝึกทักษะอาชีพที่ใฝ่ฝันของผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เพื่อเป็นผู้ประกอบการและแรงงานคุณภาพ

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

  • โทร: 081-8987840
  • ผู้ประสานงาน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์แวอาซีซะห์ ดาหะยี

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพและสร้างอาชีพที่ยั่งยืน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส