ชาวกวยหรือชาวบ้านในชุมชนบ้านโพธิ์กระสังข์ ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ อาศัยอยู่ในเขตชายแดนใกล้กับประเทศกัมพูชา มีอัตลักษณ์ ความเป็นมาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เช่น ภาษา พิธีกรรมการละเล่น โดยเฉพาะผ้าไหมชาวกวย ที่มีการทอผ้าสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน กลายเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นชื่อและสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชนชาวกวย เนื่องจากผ้าไหมชาวกวยนั้นมีลวดลายที่งดงาม โดดเด่น
อีกทั้งยังมีการปลูกหมอนเลี้ยงไหมที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ส่งผลให้ผ้าไหมชาวกวยเป็นที่นิยมในตลาดเป็นอย่างมาก แต่ด้วยเพราะชุมชนยังขาดกำลังการผลิตและไม่มีเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการผลิต ส่งผลให้การผลิตผ้าไหมชาวกวยไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้เกิดการเสียโอกาสการสร้างรายได้ โครงการต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวยเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่ออุดช่องโหว่ง ขยายโอกาส เพื่อสร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าและแนวทางการตลาดให้กับชุมชนชาวกวย
โดยเริ่มต้นโครงการได้เยาวชนจำนวนทั้งหมด 55 คน มาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยพวกเขาส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา กศน. เด็กเยาวชนครอบครัวยากจน และเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น จากคำบอกเล่าของหน่วยพัฒนาอาชีพโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงตลอดโครงการดังกล่าว บอกเล่าว่า กลุ่มเป้าหมายมีความสนใจเรื่องผ้าไหมและมีพื้นฐานในการทอผ้าที่ค่อนข้างดีจากครอบครัวอยู่แล้วซึ่งเป็นผลจากการถูกผู้ปกครองปลูกฝังสืบต่อกันมา
สำหรับความก้าวหน้าในโครงการนี้นั้น ทางหน่วยพัฒนาฯ ได้มีการประสานงานกับผู้นำชุมชนและปราชญ์ชุมชนในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในชุมชน จนเกิดหลักสูตรที่ได้จากชุมชน ผ่านการใช้องค์ความรู้หลัก ‘3ก’ ได้แก่ เก็บ แกะ และเกิดกระบวนการเก็บ เพื่อดึงเรื่องราวในทิ้งถิ่นมาถอดแบบและสรรค์สร้างออกมาเป็นลวดลายบนพื้นผ้า โดยแบ่งตามประเภทของผ้าต่าง ๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผลิตผ้าผืนใหม่แต่ยังคงมีลวดลายดั้งเดิมไม่ได้ละทิ้งความเป็นชาวกวยแต่มีความสมัยนิยมมากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มเป้าสามารถสร้างกลุ่มทอผ้าคู่ชุมชน และสามารถสร้างสรรค์ผลงานตามประเภทผ้าได้ ดังนี้
- ผ้ามัดหมี่ลายขอใหญ่โบราณ ใช้กระบวนการมัดย้อมเป็นลวดลายก่อนทอ ซึ่งมีความละเอียดซับซ้อนกว่าการทอผ้าทุกชนิด
- ผ้าโสร่ง ใช้กระบวนการตีเกลียว (ละเว) เป็นการนำเส้นไหมสองเส้นสองสีตีเกลียวเข้าด้วยกันให้เป็นไหมเส้นเดียว เป็นเส้นพุ่งเพื่อใช้ในการทอ โดยการทอผ้าโสร่งลายอัตลักษณ์ของชุมชนตำบลโพธิ์กระสังข์เป็นการทอผ้าแบบตาคู่
- ผ้าลูกแก้ว ใช้กระบวนการทอเหยียบตะกอเพื่อให้เกิดลายยกนูนข้าวหลามตัดซึ่งสี่เหลี่ยมจะซ้อนกัน 3-4 ชั้นตามจำนวนตะกอ ในชุมชนจะทอลายลูกแก้วแบบ 4 ตะกอ และ 5 ตะกอ
- ผ้าขาวม้า ใช้กระบวนการทอโดยใช้เส้นไหมย้อมสีโดยเส้นไหมยืนหรือไหมเครือขึ้นแบบตาคู่ ทอพุ่งเป็นริ้วที่เรียกว่า ใส้เอี่ยน
- ผ้ายกดอก ใช้กระบวนการทอเหยียบเพื่อยกลายนูนขึ้นเหมือนกับลายลูกแก้ว แต่ลวดลายเป็นลักษณะการประยุกต์ให้มีความสวยงาม โดยส่วนใหญ่ทอเป็นผ้าคลุมไหล่ ในการทอเป็นการทอแบบ 4 ตะกอ ได้แก่ลาย ดอกมะลิ ลายดอกพิกุล ลายก้นหอย เป็นต้น
ซึ่งจากลวดลายแต่ละลวดลายเป็นความต้องการของตลาดอย่างมาก ประกอบกับปัจจุบันกระแสของผู้บริโภคที่รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติได้รับความนิยม ซึ่งกลายเป็นผลดีทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคเอง อย่างไรก็ดี การต่อลมหายใจให้ผ้าไหมชาวกวยไม่ได้เพียงแค่สร้างรายได้ให้กับชุมชนเท่านั้น แต่โครงการดังกล่าวยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่ในชุมชนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ผ่านอัตลักษณ์ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
ต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวยเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน
กลุ่มเยาวชนกอนกวยโซดละเว
- โทร: 098-5972149
- ผู้ประสานงาน: สิบเอกวินัย โพธิสาร
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพเป็นการพัฒนายกระดับให้เยาวชนชุมชนมีฝีมือในด้านการทอผ้าไหมเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส