จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนของแรงงานที่เป็นเกษตรกรอาศัยอยู่จำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ด้อยโอกาสซึ่งขาดแคลนองค์ความรู้และทักษะสมัยใหม่ที่จะช่วยยกระดับอาชีพและคุณภาพชีวิต โครงการพัฒนาทักษะแรงงานฯ จึงได้เกิดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเกษตรกรและพัฒนาคนกลุ่มนี้สู่การเป็นผู้ประกอบการด้านข้าวที่มีองค์ความรู้เท่าทันยุคสมัย
ทีมเจ้าหน้าที่จากม.เกษตรได้ลงพื้นที่ดำเนินงานในวิสาหกิจชุมชนดาวล้อมเดือน ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และพบว่าจุดเด่นของเกษตรกรในพื้นที่คือพวกเขาเน้นการทำนาแบบอินทรีย์ ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำเกษตรในแนวทางนี้โดยขาดองค์ความรู้ก็คือ เมื่อต้องเจอความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นาอินทรีย์ก็จะให้ผลผลิตที่ลดน้อยลง นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในเรื่องการเข้าถึงตลาดที่จะมารองรับผลผลิตเหล่านี้ด้วย ทำให้เกษตรกรหลายรายมีรายได้ไม่เพียงพอและต้องหารายได้เสริมจากการรับจ้างทั่วไปหลังฤดูกาลทำนา
โครงการจึงได้วางแผนการพัฒนาทักษะและรับสมาชิกที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเข้ามาร่วมฝึกฝนอบรมจำนวน 50 ราย โดยสมาชิกส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 40 – 60 ปี และมีบางส่วนที่สามารถใช้โซเชียลมีเดียเป็นอยู่บ้างแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับตัวหลักสูตรที่โครงการได้ทำขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.หลักสูตรการผลิตข้าวอินทรีย์ต้นทุนต่ำ 2.หลักสูตรการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว 3.หลักสูตร Digital marketing 4.หลักสูตรการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ทางโครงการก็จะเปิดให้คำปรึกษากับเพื่อนพี่น้องสมาชิกต่อไปหลังจากที่โครงการจบลงด้วย
หลังจากที่กลุ่มสมาชิกได้เข้ารับการฝึกฝนจนผ่านในแต่ละหลักสูตรแล้ว เจ้าหน้าที่โครงการก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ “1.ผู้เข้าร่วมโครงการมีอาชีพจากการขายของออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อ ‘ข้าวเหนียวเดอgrill’ และมีการนำผลิตภัณฑ์จากชุมชนไปวางตามร้านขายของฝากและร้านอาหารในจังหวัดสกลนคร 2.ผู้เข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าแปรรูปต่อเดือนราวๆ 450 บาท” หนึ่งในเจ้าหน้าที่โครงการได้บอกเล่าถึงความก้าวหน้าที่โครงการได้เข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาและยกระดับรายได้ให้กับชุมชน
นอกจากฝั่งของเจ้าหน้าที่ที่ช่วยสะท้อนภาพความก้าวหน้าแล้ว ตัวสมาชิกโครงการเองก็มีคำบอกเล่าเช่นกัน โดยหนึ่งในสมาชิกได้สรุปประสบการณ์ให้ฟังว่า “หลังจากอบรมจบแล้วมีทักษะการขายของออนไลน์ที่เก่งขึ้น ซึ่งมันก็ช่วยให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางนึงด้วย”
“โครงการนี้เป็นโครงการที่พาลงมือทำจริงๆ ได้วิชาติดตัวแล้วยังสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ด้วย เขาสอนตั้งแต่การขายออนไลน์ การถ่ายภาพ ทำบัญชี ทำปุ๋ยหมัก ทำไตรโคเดอร์ม่า ทำขนม ทำข้าวต้มมัด การแพ็คของส่งออนไลน์ การสร้างเพจ สร้างแบรนด์ การคิดต้นทุนสินค้า เรียกได้ว่าช่วยแนะนำตั้งแต่ต้นจนจบ อาจารย์ที่สอนก็ติดตามช่วยเหลือตลอด ทำให้สนุกกับการอบรมมาก”
เมื่อโครงการวางหลักสูตรไว้อย่างรอบด้านและตรงกับปัญหาของชุมชน ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือเหล่าแรงงานในพื้นที่ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมฝึกฝนอบรม ซึ่งโครงการฯ จากม.เกษตรก็ได้วางแผนต่อไปถึงการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ ในโลกออนไลน์ให้กว้างขึ้นกว่าเดิม
“โครงการนี้เป็นโครงการที่พาลงมือทำจริงๆ และสอนตั้งแต่ต้นจนจบ อาจารย์ที่สอนก็ติดตามช่วยเหลือตลอด ทำให้สนุกกับการอบรมมาก” หนึ่งในสมาชิกจากโครงการ
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การพัฒนาทักษะแรงงานสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรข้าวรุ่นใหม่ในยุคดิจิตอล
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
- โทร: 081-768-9707
- ผู้ประสานงาน: นางสาวพัดชา เศรษฐากา
เป้าประสงค์
- แรงงานและผู้ด้อยโอกาสภาคการเกษตรมีความรู้และทักษะที่สามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ ร้อยละ 80
- สร้างอาชีพให้ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่สนใจในการประกอบอาชีพด้านข้าวครบวงจร
- กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส