Banner
สํานักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดสตูล
สตูล

สํานักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดสตูล ทำโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรอินทรีย์ให้กับเครือข่าย ‘เขา นา และทะเล’ เพื่อวิถีสีเขียวที่มั่นคง

กระแสรักษ์โลกและรักสุขภาพกำลังมาแรงในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา สังเกตได้ง่าย ๆ หากเดินเข้าไปในตลาด ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าบนโลกออนไลน์ เราจะพบเจอคำว่าออร์แกนิกส์หรืออินทรีย์อยู่ทั่วไป จากความนิยมที่ทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ผู้ผลิตหันมาสนใจตลาดดังกล่าวมากขึ้น อย่างไรก็ดี การจะปลูกพืชผักผลไม้ออร์แกนิกส์นั้น จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรและมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น กลายเป็นเกษตรกรบางรายไม่สามารถวิ่งเข้าสู่ตลาดดังกล่าวได้ 

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดสตูล จึงได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สู้ผู้ประกอบการสีเขียว ให้กับชาวเกษตรกรที่มีความสนใจในตลาดดังกล่าว ผ่านการจัดอบรมหลักสูตรเพื่อฟื้นฟูอาชีพและผลักดันให้ชาวเกษตรในสตูลกลายเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่แข็งแรง 

เบื้องต้นโครงการฯ ได้รวบร่วมกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 150 คนในจังหวัดสตูล ไม่ว่าจะเป็น แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ก่อนจะเปิดอบรมแผนพัฒนาทักษะอาชีพสู่การเป็นผู้ประกอบการสีเขียวให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย การผลิตสินค้าภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนรวม (PGS Organic) กระบวนการในการรวบรวมผลผลิตที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมีในระหว่างการขนส่ง การแปรรูปผลผลิต การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาตลาดเพื่อให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งหมดเป็นหลักสูตรที่คิดอย่างครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นอกจากนั้นแล้ว โครงการยังได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกหลานของกลุ่มเป้าหมาย อะห์บาร์ อุเส็น หนึ่งในทีมงานของหน่วยพัฒนาอาชีพของโครงการบอกเล่าว่า เยาวชนกลุ่มนี้มีต้นทุนที่เป็นนักกิจกรรมอยู่แล้ว อีกทั้งบางคนยังเป็นลูกหลานของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในโครงการฯ จึงทำให้การเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ร่วมกับกลุ่มเป้าหมายและเยาวชนในพื้นที่นั้นง่ายมากขึ้น 

“เรามีเป้าหมายจะเชื่อมเยาวชนกลุ่มนี้เข้ากับกิจกรรมตามแผนการดำเนินงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมวิชาการและกิจกรรมสันทนาการ บางกิจกรรมได้มีการปรับให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้กับชาวบ้านและเกษตรกรในชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องอาชีพ ที่มีความเชื่อมโยงไปถึงวิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชน” อะห์บาร์ อุเส็น อธิบาย

จากกระบวนการอบรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากระบวนกรและพี่เลี้ยงทำหน้าที่เป็นรอยต่อระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ โดยได้พยายามเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ แสดงศักยภาพของตัวเอง เปิดเวทีให้เด็กได้เฉิดฉายพลังของตัวเองออกมา ซึ่งอะห์บาร์ อุเส็น  ระบุว่า วิธีดังกล่าวเหมาะที่จะไปปรับใช้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้พวกเขามีโอกาสที่จะค้นหาศักยภาพของตัวเองและแสดงมันออกมา กล่าวคือ เป็นการเรียนรู้และเดินไปข้างหน้าได้ด้วยความสามารถของตัวเอง ซึ่งถือเป็นขั้นสูงสุดของความต้องการของหน่วยพัฒนาอาชีพในการพัฒนาคนและสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนที่แท้จริง 

“เราหวังว่าอย่างน้อยที่สุดกระบวนการนี้จะเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัยภายในครอบครัว ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อให้ทั้งเยาวชนและผู้ปกครองเข้ามาเชื่อมโยงกันและเข้าใจความคิดของกันและกัน  โดยเด็ก ๆ จะได้มีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความรู้ที่ตนเองมี ส่วนผู้ใหญ่จะมีพื้นที่สำหรับแบ่งปันประสบการณ์ บางทีคนละวัยที่มีมุมมองแตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน แม้วิธีการอาจจะแตกต่างกัน แต่หากเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันก็สามารถหาจุดร่วมเพื่อช่วยกันทำให้บรรลุเป้าหมายได้” อะห์บาร์ อุเส็น ทิ้งท้ายถึงบทเรียนที่ค้นพบในระหว่างทางจากโครงการครั้งนี้

เรามีเป้าหมายจะเชื่อมเยาวชนกลุ่มนี้เข้ากับกิจกรรมตามแผนการดำเนินงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมวิชาการและกิจกรรมสันทนาการ บางกิจกรรมได้มีการปรับให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้กับชาวบ้านและเกษตรกรในชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องอาชีพ ที่มีความเชื่อมโยงไปถึงวิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาศักยภาพเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สู้ผู้ประกอบการสีเขียว

สํานักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดสตูล

  • โทร: 062-6053791
  • ผู้ประสานงาน: นางสาวนิธิมา บินตํามะหงง

เป้าประสงค์

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงาน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. เกษตรกร มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักและเห็นความสําคัญในการทําเกษตรอินทรีย์
  2. การขยายฐานการ ผลิตเกษตรอินทรีย์ เพิ่มพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารและยา ในจังหวัดสตูล
  3. มีสื่อ และหลักสูตร เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ฉบับเกษตรกรเข้าใจและเข้าถึง
  4. เกิดศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ในรูป แบบที่เป็นอัตตลักษณ์ของพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้
  5. มีกระบวนการในรวบรวมผลผลิต การบรรจุภัณฑ์ที่ได้ มาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  6. มีการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สามารถเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภค
  7. มีผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อย่างน้อยภูมินิเวศละ 1 ผลิตภัณฑ์ที่มีอัตตลักษณ์และได้รับมาตรฐาน
  8. เครือข่ายเกษตรกร มีความรู้ความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการสีเขียว
  9. สามารถสร้างงานสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับเกษตรกร ตลอดสายพานการผลิต ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส