อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งการทำประมงที่สำคัญของบริเวณภาคใต้ตอนบน มีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ส่งผลให้ชาวบ้านในอ่าวบ้านดอนประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก ทั้งมีความเชี่ยวชาญในการออกทะเลผ่านการนำเครื่องมือประมงหลากหลายชนิดมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น เรือไดหมึก คราดหอย อวนรุน ลอบ หรือเบ็ด เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นต้นทุนที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนมาช้านาน แต่ที่ผ่านมาชุมชนยังขาดองค์ความรู้ในการแปรรูปสินค้าประมง ทำให้ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้
โครงการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์กลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงถือเกิดขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมให้ชาวประมงในอ่าวบ้านดอนมีองค์ความรู้ด้านการแปรรูปและสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางประมงให้ได้มาตรฐาน มีความโดดเด่นน่าสนใจ เพื่อ นำไปจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ด้อยโอกาสทั้งหมด 50 คน ประกอบด้วยแรงงานนอกระบบ กลุ่มคนว่างงาน ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ และผู้สูงอายุ
หลังจากที่โครงการได้เริ่มต้น หน่วยพัฒนาฯ ก็ได้เข้าไปช่วยให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางประมง ของคนในชุมชนโดยเฉพาะเรื่องของสินค้าอาหารทะเลแปรรูป เนื่องจากเป็นวิธีในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่มีความหลากหลายและเป็นที่นิยมของผู้บริโภค นอกจากนี้ทางโครงการยังได้มีการจัดอบรมเศรษฐศาสตร์ครัวเรือนและบัญชีครัวเรือน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีองค์ความรู้ด้านการออมเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างยั่งยืน
โดยโครงการได้มีการนำแนวคิด Ready for Business มาใช้ในการประชุมงานร่วมกันของกลุ่มเป้าหมายเพื่อร่วมกันหาความฝันในการดำเนินชีวิตของตัวเองตามความเชี่ยวชาญที่ตัวเองมี จากนั้นจึงไปสู่การร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.ด้านความรู้ (Knowledge) กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้กระบวนการร่วมกันในการที่กำหนดเป้าหมายเพื่อจัดทำธุรกิจ เรียนรู้ การสร้างวิสัยทัศน์ และการดำเนินชีวิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
2.ทัศนคติ (Attitude) กลุ่มเป้าหมายมีทัศนคติในเชิงบวกในการที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้ก้าวถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้ เรียนรู้ว่ามีโอกาสในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นกับชีวิต
3.ด้านทักษะ (Skill) เรียนรู้หลักการการวางแผนในการจัดทำธุรกิจ
4.ด้านเครื่องมือ/กระบวนการ ใช้วิธีการสร้างกระบวนการระดมความคิดเห็นทั้งของตนเองและการเรียนรู้ร่วมกัน โดยใช้เอกสารสำคัญในการดำเนินกิจกรรมคือ แนวคิด Ready for Business
จากการนำแนวคิด Ready for Business มาใช้ ส่งผลให้ความคืบหน้าของโครงการในครั้งนี้กลุ่มเป้าหมายสามารถวางแผนในการผลิตสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยใช้หลักแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ในการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทน รวมถึงมีแนวทางในการดำเนินชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง และเริ่มมีการจัดทำบัญชีครัวเรือนเป็นประจำได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทั้งหมด ยังต้องอาศัยเวลาในการผลิออกออกผล เนื่องจากองค์ความรู้ที่โครงการได้มอบให้ไปนั้น กลุ่มเป้าหมายยังจำเป็นต้องลองนำไปปฏิบัติใช้เพื่อสั่งสมประสบการณ์ด้วยตนเอง ก่อนจะแตกหนอออกเป็นยอดใบของทักษะแห่งชีวิตต่อไป ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ กลุ่มเป้าหมายค้นพบเป้าหมายในการดำเนินอาชีพของตนเอง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ของโครงการที่ดึงศักยภาพของผู้เข้าร่วมและตัวชุมชนเองมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สิ่งที่เราต้องการคือการมีรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว มีครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่ลูกอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาไม่ต้องออกไปทำงานในพื้นที่ไกลจากท้องถิ่น มีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการนำความรู้ในการทำตลาดออนไลน์มาใช้ สามารถออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดใจให้ลูกค้าซื้อสินค้า ผ่านการนำเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันมาใช้ในการประกอบอาชีพได้” คือคำบอกเล่าถึงความฝันและเป้าหมายของโครงการดังกล่าว
สิ่งที่เราต้องการคือการมีรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว มีครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่ลูกอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาไม่ต้องออกไปทำงานในพื้นที่ไกลจากท้องถิ่น
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์กลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
- โทร: 087-4699894
- ผู้ประสานงาน: นางมโนลี ศรีเปารยะ เพ็ญพงษ์
เป้าประสงค์
เกิดผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสามารถจำหน่ายหรือแปรรูปจากการอบรมเพื่อไปสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน รวมถึงมีความสามารถในการจัดทำบัญชีครัวเรือน สามารถออมเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส