ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์เป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเราทุกคน โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ที่กำลังไหลเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว กลับได้พลั้งเผลอทำลายบางอาชีพ บางวัฒนธรรมให้จางหายไป โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดและชุมชนนอกเขตเทศบาล
ชาวบ้านตำบลยางใหญ่ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วของกาลเวลา แต่จะทำอย่างไรไม่ให้มีผู้คนตกหล่นรายทางไปมากกว่านี้ หน่วยพัฒนาอาชีพองค์การบริหารส่วนตำบลยางใหญ่ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนามัคคุเทศก์ชุมชน ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยใช้สื่อออนไลน์เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างโอกาสในพื้นที่ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ว่างงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานผ่านสื่อออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ร่วมกับการนำทรัพยากรหรือทุนทางชุมชนที่มีอยู่มาใช้เป็นรากฐาน ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่อย่างทุเรียนภูเขาไฟ และการประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ชุมชนผ่านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
เบื้องต้นทางโครงการได้มีการรวบรวมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 100 คน ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะได้รับผลกระทบ หากขาดทักษะในการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อสื่อสารและค้าขาย โดยประกอบไปด้วย เด็กนักเรียนทั่วไปในพื้นที่ นักเรียนกศน. ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กลุ่มเกษตรกรชาวสวนที่มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้สูงอายุ
หลังจากที่กลุ่มเป้าหมายได้เข้าร่วมโครงการแล้ว ทางหน่วยพัฒนาฯ จึงได้มีการจัดอบรมแนวทางในการพัฒนาทักษะอาชีพเสริมอย่างมัคคุเทศก์ออนไลน์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ตลอดจนทั้งได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการหมู่บ้าน ในการฝึกอบรมทักษะดังกล่าว ส่งผลให้เกิดกลุ่มเครือข่ายระหว่างกลุ่มเป้าหมายกับผู้นำชุมชนในระดับอำเภอน้ำยืน เกิดแนวคิดร่วมกันที่จะจัดทำสื่อออนไลน์ “กลุ่มมัคคุเทศก์ชุมชนคนน้ำยืน” เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนในการพัฒนาอาชีพบนโลกออนไลน์ต่อไปและกลายเป็นอาชีพที่มั่นคงในอนาคต
นอกจากนั้นแล้ว ทางหน่วยพัฒนาฯ ยังได้จัดการอบรมพื้นฐานในการขายสินค้าเกษตรและการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ความรู้ด้านการใช้สื่อออนไลน์ในการขายสินค้า เทคนิคการสร้างความน่าสนใจให้กับสินค้าและบริการ ตลอดจนไปถึงการวิธีการจัดส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าอย่างปลอดภัย เป็นต้น โดยองค์ความรู้ที่ทางหน่วยพัฒนาฯ ได้มอบให้ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายวัยแรงงานสามารถประกอบอาชีพตามสมัยนิยมได้ สามารถดำรงชีวิตและใช้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างรายได้ให้กับตัวเอง
ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ทางหน่วยพัฒนาฯ ยังได้ให้ข้อเสนอแนะแก่กลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมด้วยว่า ชุมชนควรหันมาปลูกพืชผักออร์แกนิคให้มากขึ้น เนื่องจากกระแสรักสุขภาพกำลังเป็นที่นิยมในตลาด ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางเกษตรได้อย่างเห็นได้ชัด รวมถึงกลุ่มเป้าหมายเองก็ยังได้ผลประโยชน์ทั้งในเชิงพื้นที่และสุขภาพร่างกายอีกด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่ากลุ่มเป้าหมายในโครงการฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่อาจฟันธงได้อย่างชัดเจนในเร็วว่า พวกเขาจะสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพได้อย่างมั่นคงบนเส้นทางที่ทางหน่วยพัฒนาฯ ได้เสนอแนะไว้ให้ โดยในอนาคตทางหน่วยพัฒนาฯ ยังจำเป็นต้องศึกษาและวิเคราะห์ต่อไปเพื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูลสินค้าทางเกษตร แหล่งท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ ที่ภายในพื้นที่ เพื่อนำทุกต้นทุนที่ชุมชนมีมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนามัคคุเทศก์ชุมชน ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยใช้สื่อออนไลน์เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างโอกาสในพื้นที่
องค์การบริหารส่วนตำบลยางใหญ่
- โทร: 085-4150717
- ผู้ประสานงาน: นายปัญญา สะนัย
เป้าประสงค์
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- ลดความเลื่อมล้ำของชุมชนในการพัฒนารายได้ และเศรษฐกิจของพื้นที่ตนเองและพื้นที่ข้างเคียง
- ชุมชนชาวสวนและประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนคุณทรัพย์และด้อยโอกาสในพื้นที่ สามารถกำหนดราคาสินค้าและบริการ และมีช่องทางการขายที่หลากหลาย
- มีเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์และทุนทางสังคม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ
- มีทักษะการติดต่อประสานงาน การทำงานเป็นหมู่คณะ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาดและการจัดจำหน่ายเทคนิควิธีการที่มีศักยภาพ เรียนรู้ตลอดชีวิต
เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส