การที่เราได้ข้อมูลเชิงลึก มีข้อเท็จจริงที่ดีจะทำให้การช่วยเหลือเด็กเป็นไปตามเป้าหมาย และตรงความต้องการของเด็ก ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะทำให้เรานำมาวิเคราะห์ข้อมูลและเห็นว่าเคสไหนที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบเข้าไปให้การช่วยเหลือ จัดหมวดหมู่ ส่งต่อประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นี่จึงเป็นความสำคัญของข้อมูลที่หากไม่มีก็จะทำให้เราไม่มีเป้าหมายลงไปช่วยเหลือ
ด้วยความร่วมมือร่วมใจของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดน่าน ทำให้ภารกิจติดตามให้ความช่วยเหลือเด็กนอกระบบ และ เด็กปฐมวัยในพื้นที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เด็กๆ จนปัจจุบันหลายคนได้กลับมาเรียนต่อ หลายคนได้ฝึกทักษะอาชีพ ตามที่พวกเขาต้องการหลายคนมีงาน มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ และอนาคตดีขึ้น
ขณะนี้ภารกิจติดตามให้ความช่วยเหลือเด็กนอกระบบ และ เด็กปฐมวัย ในโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดน่าน ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องเป็นปีที่สองด้วยพลังความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ที่ช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
หนึ่งในจุดเด่นของจังหวัดน่านที่ทำให้กลไกการทำงานในพื้นที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นเพราะระบบฐานข้อมูลตั้งต้นที่นำมาสู่การบูรณาการร่วมกันกับข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อความถูกต้องพร้อมแบ่งแยกพื้นที่ช่วยให้การลงไปติดตามค้นหารวดเร็วขึ้น เมื่อเก็บข้อมูลรายละเอียดจากเด็กแล้วก็นำมาสู่การประมวลผล จัดแผนความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
บูรณาการฐานข้อมูลทุกหน่วยการศึกษาในจังหวัด
ปาลิกา คำวรรณ์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดน่าน กับอีกบทบาท ในฐานะ IT Manager ของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจังหวัดน่าน เล่าให้ฟังว่า ข้อมูลมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเข้าไปติดตามช่วยเหลือเด็ก โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีทั้งเด็กนอกระบบและเด็กปฐมวัยร่วมหมื่นคนในพื้นที่การอาศัยข้อมูลเพื่อวางแผนเข้าไปช่วยเหลือจึงมีความสำคัญ
ขั้นตอนการทำงานจะตั้งต้นจากข้อมูลของ กสศ. เป็นข้อมูลสำเนาทะเบียนบ้าน หรือ ทร.14 ของเด็กในพื้นที่จากนั้นก็จะมาดูว่าเด็กคนไหนไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา โดยตรวจทานกับข้อมูลกับทุกหน่วยการศึกษาในจังหวัด ทั้งข้อมูล DMC ของ สพฐ, ข้อมูล กศน., ข้อมูลระบบสารสนเทศทางการศึกษาท้องถิ่น (LEC), ข้อมูลของโรงเรียนเอกชน และ ข้อมูลเด็กอาชีวะ ก็จะทำให้พบว่าเด็กคนไหนไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา
จากจำนวนเด็กนอกระบบ และเด็กปฐมวัย ทั้งหมด 10,300 คน ได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนและข้อมูลล่าสุด ซึ่งบางคนได้กลับมาเรียนแล้ว ทำให้เหลืออยู่ 8,850 ราย ที่จะเข้าไปสำรวจและวางแผนให้ความช่วยเหลือ โดยตั้งเป้าว่าจะให้การช่วยเหลือให้ได้ 2,000 คน
ประมวลข้อมูลที่ได้ จำแนก ประสาน ส่งต่อ
ช่วยเหลือเด็กตามความต้องการ
ปาลิกา อธิบายว่า ขั้นตอนต่อจากนั้นจะมาสู่การจัดข้อมูลแยกเป็นรายอำเภอว่าเด็กคนไหนอยู่ในอำเภอไหนเพื่อให้สะดวกต่อการลงพื้นที่และเก็บข้อมูลโดยส่วนตัวแล้วก็จะลงพื้นที่ไปช่วยเก็บข้อมูลด้วย รวมทั้งมีทีมพี่เลี้ยงเข้าไปร่วมสำรวจในระดับพื้นที่ ควบคู่ไปกับมีกลุ่มไลน์ของผู้สำรวจทั้งหมดเพื่อให้สามารถพูดคุยสอบถามรายละเอียด ปัญหา อุปสรรค ในแต่ละพื้นที่
สำหรับคนที่จะลงพื้นที่ไปหาเด็กและพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลจะมีหลายส่วนช่วงแรกจะเป็นครู กศน. ส.อบต. อสม. แล้วแต่พื้นที่ โดยเน้นเรื่องการรู้จักเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากนี้ ภารกิจของ IT manager ยังต้องคอยติดตาม ดูรายละเอียดหลังจากได้รับข้อมูลมาแล้ว พร้อมจัดแบ่งกลุ่มความต้องการของเด็ก บางคนอยากเรียนต่อ บางคนอยากฝึกอาชีพ บางคนอยากเรียน กศน. บางคนขอรับเงินทุนช่วยเหลือทางผู้จัดการรายกรณี (CM) ก็จะเข้าไปช่วยเหลือตามความต้องการของเด็ก โดยบางครั้งต้องประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล
ช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ละเดือนภาคีเครือข่ายและคณะทำงานจะประชุมสรุปข้อมูลการช่วยเหลือว่าเด็กกลุ่มไหนควรจะประสานกับหน่วยงานไหนให้เข้ามาช่วยดูแล เช่น เด็กพิการก็จะประสานศูนย์การศึกษาพิเศษ เด็กยากจน ก็จะประสาน พมจ. และภาคีเครือข่าย โดยจะให้ข้อมูลกับหน่วยงานนั้นไปวางแผนการช่วยเหลือเช่นมีเด็กบางกลุ่มที่จะไปเรียนต่อ กศน. ก็จะไปประสานไปยัง กศน.ในแต่ละพื้นที่
สำหรับปัญหาที่ผ่านมาพบว่าจากการจัดเก็บข้อมูลเข้าสู่ระบบ บางเคสยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ทำให้เมื่อนำมาพิจารณาวางแผนให้ความช่วยเหลือไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในปีนี้จึงสร้างความเข้าใจให้กับผู้สำรวจในการกรอกให้ข้อมูลรายละเอียดให้เยอะที่สุด เพื่อให้มีรายละเอียดเพียงพอนำมาวางแผนช่วยเหลือ รวมทั้งยังได้บูรณาการความช่วยเหลือ เช่น เยาวชนที่ได้รับการฝึกอาชีพเย็บจักรอุตสาหกรรมได้ก็จะส่งต่อไปยังร้านจำหน่ายตัดเย็บเสื้อผ้ากีฬาในจังหวัดน่าน
ปาลิกา อธิบายว่า อีกปัญหาที่พบคือข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อน ทั้งประเด็นเรื่องของระยะเวลาที่ได้ข้อมูลมาและนำข้อมูลที่ได้ลงไปสำรวจในพื้นที่บางครั้งเด็กบางคนก็กลับไปเรียนต่อ หรือออกนอกพื้นที่ไปแล้วทำให้ติดตามตัวไม่พบ รวมไปถึงเรื่องความผิดพลาดของข้อมูลเช่นข้อมูลเด็กปฐมวัยจาก ศพด. ที่มาจาก DMC เมื่อนำมาตรวจสอบจะพบว่ามีการรวมไฟล์กันไม่ได้แยกมาเป็นรายจังหวัด ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการประสานกับ ศพด. ในพื้นที่ขอไฟล์ข้อมูลมารวมเอง จนการติดตามช่วยเหลือสามารถเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลเชิงลึก ทำให้มีเป้าหมายในการลงไปช่วยเหลือเด็กในพื้นที่
ดังนั้น ข้อมูลจึงเป็นการตั้งต้นให้ความช่วยเหลือที่สำคัญยิ่งในปีนี้ได้ขยายฐานการช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นจาก 5 อำเภอเป็น 7 อำเภอ จากเดิมคือ อำเภอเมือง แม่จริม บ้านหลวง สันติสุข เวียงสา ปีนี้จะเพิ่มอีก 2 อำเภอคือ ภูเพียง และ ท่าวังผา
“การที่เราได้ข้อมูลเชิงลึก มีข้อเท็จจริงที่ดีจะทำให้การช่วยเหลือเด็กเป็นไปตามเป้าหมาย และตรงความต้องการของเด็ก ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะทำให้เรานำมาวิเคราะห์ข้อมูลและเห็นว่าเคสไหนที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบเข้าไปให้การช่วยเหลือ จัดหมวดหมู่ ส่งต่อประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นี่จึงเป็นความสำคัญของข้อมูลที่หากไม่มีก็จะทำให้เราไม่มีเป้าหมายลงไปช่วยเหลือ”
ดังนั้น ในการทำงานจะบอกกับผู้ที่ลงไปสำรวจว่าชุดคำถามมีความสำคัญ ข้อมูลที่ได้จะนำไปสู่การช่วยเหลือเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่เราได้มีโอกาสเข้ามาทำงานตรงนี้ ทำให้ได้ภาคีการทำงาน ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานนอกกรอบของการทำงานในหน้าที่ราชการปกติ ตรงนี้ถือเป็นกำไร เป็นโอกาส ที่ได้ทำเพื่อกลุ่มเป้าหมายซึ่งก็คือเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติที่ทุกภาคส่วนควรจะเข้ามาร่วมมือให้ความช่วยเหลือ
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค