จากอัตลักษณ์ของจังหวัดสู่ โอกาสสร้างงาน สร้างรายได้ จากฐานของชุมชน

จากอัตลักษณ์ของจังหวัดสู่ โอกาสสร้างงาน สร้างรายได้ จากฐานของชุมชน

“โกมาซุม” หรือ ดอกเอื้องเงินหลวง ​ดอกไม้ประจำจังหวัดระนอง กำลังจะถูกนำมาใช้เป็นแบบร่างลงบนผืนผ้าปาเต๊ะ สร้างเอกลักษณ์และเป็นจุดขายที่โดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะจากฝีมือชาวบ้านกลุ่มหนึ่งใน จ.ระนอง

นอกจากความสวยงามที่โดดเด่น และมีกลิ่นหอมจางๆ แล้ว “โกมาซุม” ยังเป็นจุดขายที่สำคัญของจังหวัดระนอง โดยมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาชมความงามของดอก “โกมาซุม” ซึ่งจะเบ่งบานในช่วงเดือน ตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี 

จุดเด่นนี้เอง ทำให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ทั้งแรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุ ในพื้นที่ 7 ตำบล ในจ.ระนอง คือ ตำบลทรายแดง ตำบลบางนอน ตำบลบางริ้น ตำบลปากน้ำ ตำบลหงาว ตำบลหาดส้มแป้น และตำบลเขานิเวศน์ รวม 50 คน นำดอกไม้ดังกล่าวมาสร้างสรรค์ ร่างลายขึ้น เพื่อนำไปทำเป็นลายบนผ้าปาเต๊ะ ซึ่งเป็นผ้าท้องถิ่นของภาคใต้​ให้แตกต่างจากผ้าปาเต๊ะจังหวัดอื่น

ภายใต้การดูแลโดยวิทยาลัยชุมชนระนอง ตามโครงการ “จับการแต่งกายแบบ ‘บาบ๋า’ ที่เป็นอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรมของระนอง มาสร้างเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับชุมชน” 

ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 70 โครงการ ทั่วประเทศจาก โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงาน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

สำรวจตลาดนักท่องเที่ยว​ผลิตสินค้าตามความต้องการ

สำหรับที่มาของทางกลุ่มที่ตัดสินใจเลือกผลิตผ้าปาเต๊ะนั้น เป็นเพราะที่ จ.ระนอง ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม และมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาตลอดทั้งปี ทางกลุ่มจึงอยากสร้างอาชีพให้ผู้ด้อยโอกาส ด้วยการจัดทำของที่ระลึกขายนักท่องเที่ยวเพื่อให้พอมีรายได้​เลี้ยงตัวเองได้บ้าง

จึงเริ่มจากออกไปทำการสำรวจความต้องการของตลาด ทั้งสอบถามจากผู้ประกอบการโรงแรม ร้านขายของที่ระลึก และร้านสะดวกซื้อภายในตัวจังหวัด จนนำมาสู่การผลิตของที่ระลึกหลายชนิด ทั้งพวงกุญแจรูปกาหยู หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ กระเป๋าคาดเอว กล่องแว่นตา รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในโรงแรม เช่น รองเท้าใส่ในห้อง ผ้ากันเปื้อน ปลอกหมอนอิง  ที่ทำมาจากผ้าปาเต๊ะ

ก่อนที่จะต่อยอดพัฒนาเตรียมพัฒนาสู่การผลิตผ้าปาเต๊ะที่มีลายเอกลัษณ์เป็นของตัวเองในที่สุด

 

เพิ่มทักษะการตลาด การจัดจำหน่าย ครบวงจร

โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผลิตภัณฑ์จากผ้าอย่างครบวงจร ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ  การเพ้นท์ลงบนผ้า และการตัดเย็บออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย โดยแบ่งงานกันทำ ตามความถนัดของแต่ละกลุ่ม

นอกจากขั้นตอนการผลิตแล้ว ในโครงการยังจัดการอบรมด้านการตลาด ทั้งการวางแผนต้นทุนการผลิต การคิดค่าแรง และการจัดจำหน่ายให้กับเครือข่ายชุมชนแบบครบวงจรอีกด้วย

รวมถึงการอบรมทักษะการขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง facebook และแพลตฟอร์มอย่าง Lazada อีกด้วย ซึ่งตามหลักสูตรโครงการจะกำหนดให้การอบรมในส่วนนี้แบ่งเป็นกลุ่มย่อย เพราะต้องการให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนสูงอายุ หรือผู้ที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน สามารถเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง

 

สร้างงาน สร้างรายได้จากฐานที่ชุมชนมี

“สังเกตได้ชัดเลยว่าเขาสนใจมาก และมีความสุขกับการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผ้าปาเต๊ะ เพราะที่ระนองเองก็ส่งเสริมให้คนท้องถิ่นสวมใส่ชุดที่ทำมาจากผ้าปาเต๊ะอยู่แล้ว และเมืองนี้เป็นเมืองท่องเที่ยว การนำเอกลักษณ์ของจังหวัดมาผลิตเป็นสินค้าที่ระลึก หรือใช้เองในท้องถิ่น จะทำให้พวกเขามีงานสร้างรายได้จากฐานที่ชุมชนมีอยู่”  น.ส.สุข์พิณ์ฌา ไสยวงศ์ วิทยาลัยชุมชนระนองเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมโครงการ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าขณะนี้สินค้าทั้งหมดที่ทำขึ้น ยังไม่ได้วางตลาดขายจริง แต่จากการประเมินต้นทุน กำไรที่ได้รับจะมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละกลุ่มจะนำไปจัดสรรปันส่วนอย่างไร

ความสำเร็จของโครงการนี้ แม้จะยังไม่เห็นชัดเจน แต่ปลายทางที่ตั้งไว้ คือการให้ผู้เข้าร่วมโครงการไปแล้วสามารถนำเอาทักษะเหล่านี้ไปประกอบอาชีพ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน และต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวอย่างมั่นคง

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค