ตั้งเป้าหมายสู่ “เห็ดอินทรีย์” ป้อนตลาดโมเดิร์นเทรด คู่ขนานกับขายออนไลน์

ตั้งเป้าหมายสู่ “เห็ดอินทรีย์” ป้อนตลาดโมเดิร์นเทรด คู่ขนานกับขายออนไลน์

ผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่สร้างความเสียหายในหลายมิติ รวมทั้งชาวนาจังหวัดนครพนม ที่ก่อนหน้านี้เคยใช้เวลาหลังการเก็บเกี่ยวออกไปทำงานรับจ้างทั่วไปหารายได้เล็กๆ น้อยๆ ​ แต่ปัจจุบันกลับไม่มีงานเพราะคนส่วนใหญ่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย

ขณะที่ คนเฒ่าคนแก่หลายคนที่เคยได้เงินจากที่ลูกหลานที่ไปทำงานในมืองและส่งเงินกลับมาให้ใช้นั้น ปัจจุบันลูกหลานจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน หลายคนต้องกลับมาอยู่ที่บ้านเพราะไม่มีงาน  ​ขาดรายได้ ทำให้เกิดความพยายามสร้างรายได้ให้กับคนชุมชนด้วยต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน

นำมาสู่ โครงการ การพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้เพิ่มจากการเพาะเห็ดแบบครบวงจรแก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19​ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  เพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น 

​ศจีรัตน์ ระวิ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ อธิบายว่า ​พื้นที่จังหวัดนครพนมมีอากาศที่ร้อนชื้น เย็นชื้น เหมาะกับการปลูกเห็ด อีกทั้งในพื้นที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนาอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี ฟางข้าวที่เหลือจากการทำนาก็เป็นฟางข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบอย่างดีในการปลูกเห็ด อีกทั้งในชุมชนมีศูนย์การเรียนรู้ปลูกเห็ดอยู่แล้วจึงสามารถนำไปสู่การต่อยอดการเรียนรู้ได้แบบครบวงจร

 

เป้าหมายสู่ “เห็ดอินทรีย์” ป้อนตลาดโมเดิร์นเทรด

กลุ่มเป้าหมายเป็นชาวบ้านในพื้นที่ประมาณ 50 คนอายุ 40-50 ปี ซึ่งจะเรียนรู้ตั้งแต่การเตรียมถัง วัสดุปลูก บรรจุก้อนเห็ดที่จะใช้ถังพลาสติก 10 ลิตร มีฝาปิดซึ่งนำกลับมาใช้ซ้ำได้ช่วยลดต้นทุนได้  ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีเห็ดออกมาล็อตแรกได้นำไปจัดจำหน่ายแล้ว ขั้นต่อไปจะมีการอบรมเรื่องการทำตลาดออนไลน์ และ การแปรรูปเห็ดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และฟางที่เหลือจากการเพาะเห็ดแล้วก็จะสอนให้ชาวบ้านนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักกลับไปใช้ที่นาได้อีกด้วย

“ชาวบ้านบางคนไม่เคยรู้จักการเพาะเห็ดเลยก็มี บางคนเคยฝึกอบรมมาบ้างแต่ไม่ได้ครบวงจรเรียนตั้งแต่ขั้นแรกจนถึงขั้นสุดท้ายแบบนี้  เขาจะได้ใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำที่บางคนไปทำนา บางคนไปกรีดยาง ​โดยเฉพาะช่วงได้รับผลกระทบจากโควิดที่ไม่มีงานรับจ้างให้ทำ ลูกหลานก็ส่งเงินมาให้น้อยลง”​

ปัจจุบันเริ่มต้นจากการเพาะเห็ดนางรมก่อนเพราะเป็นที่ต้องการของตลาด ซี่งรอบต่อๆ ไปเตรียมที่จะเพิ่มเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดปลวก เห็ดโคน ​ซึ่งต้องการให้ชาวบ้านเรียนรู้และทำเป็นทุกขึ้นตอน ซึ่งเมื่อทำเป็นแล้วก็สามารถจัดเวรแบ่งกลุ่มผลัดกันมาดูแลตามความสะดวกของแต่ละคนได้ โดยแต่ละคนจะได้รบการอบรมจัดทำบัญชีครัวเรือน บัญชีกลุ่ม การบริหารจัดการกลุ่ม อบรมเรื่องการจัดเวรรับผิดชอบรายวัน   

การเลือกทำเห็ดอินทรีย์เพราะจะได้ราคาสูงกว่าเห็ดทั่วไปและในพื้นที่มีต้นทุนคือฟางข้าวที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว ขั้นต่อไปคือเตรียมขอขึ้นทะเบียนเป็นเห็ดอินทรีย์ ที่จะทำให้ขยายตลาดไปสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด เพราะนครพนมมีโรงคัดตั้งแต่คุณภาพที่ผ่านอย.เมื่อเข้าโรงคัดแล้วก็สามารถไปวางขายที่ห้าง บิ๊กซี แมคโคร โลตัส หรือโรงพยาบาลที่รับสินค้าเกษตรอินทรีย์

 

อบรมเทคนิค ขายออนไลน์ ขยายตลาดออกนอกชุมชน

“ตลาดตอนนี้ยังต้องการอีกมาก​เพราะเพิ่งเริ่มออกช่วงแรก 30-40 กก. แต่มียอดจองเข้ามาแล้ว 50 กก. ดังนั้นออกมาเท่าไหร่ก็ขายหมด ​มีทั้งร้านค้าชุมชน ร้านค้าคนละครึ่ง ที่เราไปฝากวางได้ และมีชาวบ้านที่มารับไปขึ้นรถพ่วงขายตามหมู่บ้าน และต่อไปจะเริ่มอบรมเรื่องการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่จะช่วยให้ขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น”  

ทั้งหมดเป็นความพยายามที่จะช่วยให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิดพอจะมีรายได้เสริมจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ไม่ต้องออกไหน วันแรกที่เห็ดออกดอกชาวบ้านดีใจมากฝนตกแต่เช้ามืดเขาก็ไปตัดเห็ดออกไปขาย ทั้งที่ฝนตก ดีใจที่ได้เห็นผลผลิตแล้ว หลังจากที่ทุ่มเททำมาตั้งแต่ต้น  

สิ่งที่มากกว่านั้นคือการร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ค้นหาต้นทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ ได้เรียนรู้ร่วมกัน

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค