ชุมชนเป็นฐาน ในบทบาทสื่อกลางร่วมดูแลการศึกษานักเรียนทุนเสมอภาค
ครั้งหนึ่ง ชาวบ้านในชุมชนบ้านดาโต๊ะ บ้านนีปิสกูเละ บ้านกาแระ และบ้านราบอ ในจังหวัดปัตตานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ว่างงานขาดรายได้ ได้พยายามที่จะตั้งกลุ่มอาชีพทำขนมขาย หากด้วยความที่ขาดองค์ความรู้ในด้านการวิเคราะห์ตลาด ไม่รู้กลุ่มเป้าหมายผลิตภัณฑ์ชัดเจน ไม่ชำนาญเรื่องการคำนวณต้นทุนการผลิต ทั้งขาดทักษะด้านการขาย พวกเขาจึงไม่ประสบความสำเร็จ
จนมาถึงวันที่กลุ่มแม่บ้าน ซึ่งยังคงรวมตัวกันต่อมาในชื่อ วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ จนเกิดเครือข่ายการผลิตเครื่องแกงที่เป็นสายพานอาชีพจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การเพาะปลูกพืชวัตถุดิบ การผลิตที่ได้มาตรฐาน และการทำการตลาดที่แข็งแรง ทำให้สามารถกระจายรายได้ใน 4 ชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในครัวเรือนให้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน โครงการฯ ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแก้ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจชุมชนแค่ประการเดียว หากยังวางแผนระยะยาวเกี่ยวกับการดูแลการศึกษาของเด็กๆ ทุนเสมอภาค หรือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือในแง่มุมด้านการศึกษาอื่นๆ อีกด้วย เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านที่มีบุตรหลานในวัยเรียน ที่ผ่านมา บางครอบครัวจึงประสบปัญหาจากการที่ลูกๆ ต้องหยุดเรียนไปช่วยพ่อแม่ทำงาน หรือผู้ปกครองขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลบุตรหลานเรื่องการศึกษา ทำให้เมื่อเด็กๆ ไม่รู้จะปรึกษาใคร พวกเขาก็ค่อยๆ ถอยห่างออกจากการศึกษาไปในที่สุด
แต่ในวันนี้ เมื่อสถานการณ์ต่างๆ ในครอบครัวดีขึ้น อนาคตทางการศึกษาของเด็กๆ ก็กลับมีความแน่นนอนและมีฐานรากที่มั่นคงขึ้นตามไปด้วย
ตั้งทีมดูแลด้านการศึกษา ช่วยสื่อสารกับโรงเรียนของเด็กๆ โดยเฉพาะ
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเพราะการวางแผนงานตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ดี ดังที่ ตูแวคอลีเย๊าะ กาแบ ผู้รับผิดชอบโครงการ วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ กล่าวว่านับแต่ที่ตั้งใจไว้แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายโครงการคือแม่บ้านที่ขาดรายได้ จึงมีการวางแผนดูแลครอบครัวที่มีเด็กวัยเรียนทั้งในกลุ่มทุนเสมอภาคของ กสศ. และเด็กอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ โดยจะเข้าไปให้คำปรึกษาปัญหาในแต่ละครอบครัวเป็นรายคน
ในฐานะวิสาหกิจชุมชน เบื้องต้นเราวางบทบาทหลักไว้ที่การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจครัวเรือน แล้วจึงชักชวนกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมฝึกอบรมกับโครงการ เริ่มจากส่งเสริมให้ปลูกข่าปลูกตะไคร้ที่ใช้เป็นวัตถุดิบเครื่องแกง ซึ่งทั้งช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้โดยวิสาหกิจชุมชนเราจะเป็นผู้รับซื้อ แล้วค่อยๆ ให้เขาเรียนรู้งานด้านการผลิตหรือการตลาด ดูว่าใครถนัดทางไหนเราก็ส่งเสริมเขาทางนั้น
“อีกประการหนึ่งคือหลายครอบครัวที่มีลูกในวัยเรียน เราจะถ่ายทอดแนวคิดเรื่องความสำคัญของการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ให้เขารู้ว่าการเรียนของเด็กๆ จะช่วยเปลี่ยนอนาคตของครอบครัวได้ แล้วเราพบว่าผู้ปกครองส่วนหนึ่งเขาไม่ค่อยมีเวลาหรือความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กๆ เท่าไหร่ วิสาหกิจชุมชนเราจึงจัดตั้ง ‘ตัวแทนด้านการศึกษา’ เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างครอบครัวของเด็กๆ กับโรงเรียน คอยรับปรึกษาแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ทันการณ์ ไม่ให้เด็กๆ ต้องสุ่มเสี่ยงกับการหลุดจากระบบการศึกษา”
วางขั้นตอนการทำงานปี 64 ที่เชื่อมโยงผลลัพธ์กับกลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาค
ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า หลังจากผ่านพ้นปีแรก วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ มองเห็นแล้วว่าแผนงานที่วางไว้สามารถช่วยเหลือเด็กๆ และครอบครัวด้านการศึกษาได้จริง โดยเด็กๆ ส่วนใหญ่ไปโรงเรียนได้สม่ำเสมอขึ้นและไม่มีปัญหาในขั้นตอนการสื่อสารกับทางโรงเรียนเช่นเมื่อก่อน ในปี 2564 ที่มีการเปิดรับกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมอีกราว 100 คนนี้ จึงได้มีการวางแผนทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
โดยขั้นตอนทำงานกับกลุ่มเป้าหมายของวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอจะเริ่มจาก 1.ค้นหากลุ่มเป้าหมายโครงการที่บุตรหลานมีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเพื่อชักชวนเข้าร่วมโครงการ 2.เก็บข้อมูลรายคนทั้งในระดับครัวเรือน และรายบุคคล เพื่อแยกปัญหาของผู้ปกครองและเด็กออกจากกัน 3.นำกลุ่มผู้ปกครองที่สนใจฝึกอาชีพเข้ารับการอบรมเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่เรื่องความนิยมเครื่องแกงของผู้บริโภคในชุมชน เรียนรู้สูตรเครื่องแกงในท้องถิ่น ได้ทดลองทำเครื่องแกง ศึกษาช่องทางการตลาด รวมถึงสนับสนุนให้ทุกบ้านปลูกพืชวัตถุดิบเพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตเครื่องแกง และ 4.จัดตั้งตัวแทนเป็นที่ปรึกษาเรื่องการศึกษาของนักเรียนทุนเสมอภาค เน้นย้ำให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการเรียน และมีหน้าที่ประสานระหว่างเด็กกับโรงเรียนแทนผู้ปกครองในกรณีที่จำเป็น
“จากโครงการในเฟสแรก เราได้เห็นแล้วว่าผลจากการมีอาชีพและรายได้ ไปจนถึงการมีที่ปรึกษาด้านการศึกษา ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจและเห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้น เด็กๆ มีความพร้อมในการเรียนและมีความความเสี่ยงจากการหลุดจากระบบการศึกษาลดลง
“วิสาหกิจชุมชนจึงตั้งใจว่าจะเพิ่มมิติการในด้านการสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นฐานกลุ่มเป้าหมาย เพราะจะทำให้เรารู้ปัญหาทั้งในมุมของผู้ปกครองและมุมของเด็กๆ และนำมาซึ่งการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมที่ตรงจุด อย่างไรก็ดี เป้าหมายสำคัญที่สุดของโครงการเรายังต้องมุ่งสร้างรายได้ให้ครอบครัวของเขาได้ในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่วิกฤต COVID-19 ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะหมดไป เพราะเราเชื่อว่าตราบใดที่ยังสร้างอาชีพขึ้นจากฐานชุมชนได้ ครอบครัวเหล่านี้ก็จะยังมีรายได้ และเด็กๆ ก็จะยังคงได้เรียนหนังสือต่อไป” ตูแวคอลีเย๊าะ กาแบ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าว