“เยาวชนที่เคยก้าวพลาดไป ใจของเขาจะมีแต่ความบอบช้ำ จมอยู่ในความคิดว่าตนเองไม่มีคุณค่า ฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องการที่สุดและเราสามารถให้เขาได้ คือโอกาสในการแก้ไขความผิดพลาด โดยเฉพาะถ้าทำให้ค้นพบศักยภาพในตัวเองได้ วงจรความเสี่ยงต่าง ๆ รอบตัวของเขาจะหยุดเวียนซ้ำ แล้วเปิดไปสู่ชีวิตใหม่ ทัศนคติใหม่ และหาทางไปต่อได้ด้วยกำลังความสามารถของเขาเอง”
ผ.ศ.บุญเยี่ยม ยศเรืองศักดิ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม ผู้รับผิดชอบ ‘โครงการพัฒนาทักษะอาชีพช่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี’ ให้แก่เยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนครพนม กล่าวย้ำความสำคัญของ ‘โอกาส’ อันเป็นสิ่งที่น้อง ๆ รอคอยจะได้รับ
โครงการ ฯ นี้ เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ในพื้นที่ จ.นครพนม ทำงานกับ 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา 2.เด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และ 3.เด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เพื่อช่วยเหลือดูแลให้น้อง ๆ ได้รับโอกาสพัฒนาทักษะอาชีพ เข้าถึงการศึกษาตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งดำเนินงานต่อเนื่องมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี
หลักสูตรที่ใช้ ‘หัวใจ’ นำทาง
ส่วนใหญ่ของน้อง ๆ ในสถานพินิจ ฯ จะสนใจทักษะที่เน้นลงมือทำมากกว่านั่งเรียนทฤษฎีเพียงอย่างเดียว ทางโครงการ ฯ จึงออกแบบให้เป็นหลักสูตรเฉพาะทางต่างจากระบบการศึกษาปกติ โดยมีแนวคิดในเรื่องการใช้ ‘ใจ’ หรือ ‘ความชอบความถนัด’ มาเป็นแรงกระตุ้น
โดยหลักสูตรเฉพาะทาง จะจัดอบรมทักษะพื้นฐาน 5 หลักสูตรที่น้อง ๆ ให้ความสนใจกันมากที่สุด ได้แก่ 1.ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า-ระบบไฟฟ้าในที่พักอาศัย 2.ติดตั้งไฟฟ้าในอาคาร 3.ซ่อมจักรยานยนต์ 4.เชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ และ 5.สร้างสื่อดิจิทัล ทุกหลักสูตรจะแบ่งเป็นประเภทระยะสั้น 30 ชั่วโมง และระยะยาว 120 ชั่วโมง เมื่ออบรมเสร็จสิ้น น้อง ๆ จะได้รับใบประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งนำไปใช้ต่อยอดทำงานได้
“เราปรับกระบวนการให้ลดทฤษฎี มุ่งปฏิบัติ ให้เก็บเกี่ยวความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ จากการทำงานจริง นอกจากนี้ยังเน้นความยึดหยุ่น ปรับปรุงหลักสูตรตลอดเวลา เพื่อให้เหมาะกับการเรียนรู้เฉพาะกลุ่ม เฉพาะคน หรือเฉพาะสถานการณ์ โดยมีวิทยากรที่เราเชิญเข้ามาสอน รวมถึงร่วมในกระบวนการออกแบบการเรียนการสอนด้วย “จากช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการผ่านมา เราพบว่าผลลัพธ์ที่ได้คือประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เพิ่มขึ้น และยังเป็น ‘โมเดล’ การเรียนรู้ ที่เราสามารถนำมาปรับใช้และออกแบบได้หลากหลาย สามารถรองรับกลุ่มผู้เรียนที่มีพื้นฐานแตกต่าง และมีความต้องการแตกต่างกัน”
เปิดเส้นทาง ‘ช่างไฟฟ้าฝีมือดี’
‘ดรีม’ วัย 19 ปี เป็นเยาวชนคนหนึ่งที่เคยผ่านชีวิตในสถานพินิจ ฯ แต่วันนี้ เขาเป็นนักศึกษาสาขาวิชาช่างไฟฟ้า และเป็นช่างไฟฟ้าฝีมือดีคนหนึ่ง ที่สามารถนำทักษะซี่งร่ำเรียนฝึกฝนมาใช้หารายได้ และนำวิชาชีพมาช่วยเหลือคนในชุมชนของเขาได้
“ผมผ่านหลักสูตรจนได้รับใบรับรอง มีพื้นฐานการซ่อมและต่อแผงวงจรไฟฟ้าในอาคาร แต่นั่นยังไม่เท่ากับการได้ค้นพบตัวเองว่าเราชอบหรือสนใจอะไร ทีแรกผมชอบเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าอยู่แล้ว เคยต่อปลั๊กหรือเปลี่ยนหลอดไฟมาบ้าง จึงเลือกหลักสูตรนี้ พอได้เข้ามาเรียนก็ยิ่งทำให้เริ่มมั่นใจว่า ผมอยากทำอาชีพเป็นช่างไฟฟ้าจริง ๆ และจะทำให้ถึงที่สุด
“ตอนนี้ผมได้กลับมาเรียนในวิทยาลัยอาชีวะ และผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคารระดับ 1 แล้ว และยังคงพยายามฝึกฝนฝีมือตัวเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ทั้งตั้งใจว่าจะเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการซ่อมแอร์ และซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย”
ดรีมเล่าว่าหลังกลับมาอยู่บ้านอีกครั้ง เขารู้สึกเหมือนเป็นคนใหม่ มองเห็นโอกาสต่าง ๆ รอบตัวมากกว่าเดิม ทำให้เขาอยากเรียน อยากทำงานเพื่อพัฒนาตัวเองไม่รู้จบ เขากลายเป็นคนที่ช่วยทำงานบ้านทุกอย่าง ออกหางานรับจ้างทุกช่องทาง ทั้งซ่อมไฟ ขับรถเกี่ยวข้าว พยายามหารายได้พิเศษเท่าที่ทำได้
นอกจากนั้น ดรีมยังใช้ทักษะด้านไฟฟ้าที่มีมาช่วยเหลือเพื่อนบ้านและคนในชุมชนโดยไม่คิดมูลค่า ด้วยต้องการส่งสารไปถึงสังคมว่า วันนี้เขาไม่ใช่คนเดิมอีกแล้ว และนี่คือสิ่งที่ดรีมบอกว่า ต้องใช้ทั้งความอดทนพยายามและตั้งใจจริงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถึงวันนี้ ดรีมได้พิสูจน์กับตัวเองและสังคมแล้วว่า ‘เขาทำสำเร็จ’ และไม่เพียงแค่ตนเอง แต่เรื่องราวของดรีม จะช่วยจุดประกายให้เด็กเยาวชนอีกหลายคนที่เคยก้าวพลาดผิด และมีความตั้งใจอยากจะกลับมาเริ่มต้นใหม่ ให้ตระหนักว่า ‘หากมีโอกาสอีกครั้ง พวกเขาจะสามารถทำมันให้ดีกว่าเดิมได้’